แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยเดินเรือโดยฝ่าฝืนประกาศกรมเจ้าท่า อันเป็นความผิดฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าท่าหรือเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 มาตรา 297 วรรคหนึ่ง กับการที่จำเลยเดินเรือด้วยความประมาทเป็นเหตุให้เรือลำเลียงที่จำเลยลากจูงมาโดนกับเรือบรรทุกสินค้า และผู้ตายถึงแก่ความตาย อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 291 เป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกันและเป็นผลโดยตรงที่ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตายจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมจึงไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 291 พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 มาตรา 297
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 มาตรา 297 (ที่ถูก มาตรา 297 วรรคหนึ่ง) การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 ปี
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ข้อหาตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 มาตรา 297 (ที่ถูก มาตรา 297 วรรคหนึ่ง) ให้ปรับ 500 บาท อีกกระทงหนึ่ง ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 250 บาท รวมกับโทษในข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย เป็นจำคุก 4 ปี และปรับ 250 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ฎีกาของจำเลยที่ว่า จำเลยเดินเรือในร่องน้ำสันดอนแม่น้ำเจ้าพระยาทางเข้าท่าเรือกรุงเทพร่องที่ 1 โดยได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานนำร่องของกรมเจ้าท่าและใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่พฤติการณ์ เนื่องจากร่องน้ำสันดอนแม่น้ำเจ้าพระยาทางเข้าท่าเรือกรุงเทพร่องที่ 2 ที่กำหนดไว้สำหรับเรือจำเลยตื้นเขิน รวมทั้งเหตุเรือโดนกันมิได้เกิดจากความประมาทของจำเลย เห็นว่า เป็นฎีกาที่มีการอนุญาตให้ฎีกาและฎีกานั้นไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฎีกาของจำเลยในส่วนนี้จึงไม่เป็นสาระอันควรแก่การพิจารณา ศาลฎีกาไม่รับไว้พิจารณาพิพากษาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 219 วรรคสอง และพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23 วรรคหนึ่ง
อนึ่ง การที่จำเลยเดินเรือโดยฝ่าฝืนประกาศกรมเจ้าท่าอันเป็นความผิดฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าท่าหรือเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 มาตรา 297 วรรคหนึ่ง กับการที่จำเลยเดินเรือด้วยความประมาทเป็นเหตุให้เรือลำเลียงที่จำเลยลากจูงมาโดนกับเรือบรรทุกสินค้าและผู้ตายถึงแก่ความตาย อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 เป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกันและเป็นผลโดยตรงที่ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมจึงไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี และปรับ 15,000 บาท ลดโทษให้หนึ่งในสามแล้ว คงจำคุก 1 ปี 4 เดือน และปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี นับแต่วันที่อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง และให้คุมความประพฤติของจำเลยไว้มีกำหนด 1 ปี โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 3 ครั้ง กับให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรมีกำหนด 20 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1