คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4306/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้คัดค้านขยายระยะเวลาบังคับคดีเนื่องจากเจ้าหน้าที่ศาล ได้ทำรายงานเสนอต่อศาลชั้นต้นขอให้ขยายระยะเวลาการบังคับคดี เนื่องจากระยะเวลาการบังคับคดีใกล้จะครบกำหนดแล้ว รายงานดังกล่าวถือว่าเป็นเพียงรายงานเบื้องต้นของเจ้าหน้าที่ศาลที่เสนอต่อศาลว่า คดีนี้ใกล้จะครบระยะเวลาการบังคับคดีเท่านั้น ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจพิจารณาข้อเท็จจริงต่างๆ ภายในสำนวนและข้อเท็จจริงต่างๆ ที่จะปรากฏให้เห็นว่ามีเหตุผลใดที่จะต้องขยายระยะเวลาการบังคับคดีออกไป หากมีข้อเท็จจริงที่มีพฤติการณ์พิเศษ ศาลชั้นต้นก็สามารถอนุญาตให้ผู้คัดค้านขยายระยะเวลาบังคับคดีออกไปได้ ไม่จำเป็นต้องถือข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามรายงานของเจ้าหน้าที่ศาลเท่านั้น
ผู้คัดค้านในฐานะหัวหน้าสำนักงานศาลยุติธรรมตามกฎหมายให้ถือว่าเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในส่วนที่เกี่ยวกับหนี้ตามสัญญาประกัน ซึ่งมีการแก้ไขให้อำนาจผู้คัดค้านเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในกรณีนี้เมื่อปี 2547 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 119 แต่ตามกฎหมายเดิมและกฎหมายปัจจุบันก็ยังให้อำนาจพนักงานอัยการในการบังคับคดีแก่นายประกันที่ผิดสัญญาประกันตาม พ.ร.บ.พนักงานอัยการ พ.ศ.2498มาตรา 11 (8) ในคดีนี้ผู้ร้องทั้งสองผิดสัญญาประกันตั้งแต่ปี 2541 ไม่ปรากฏว่ามีการบังคับคดีแก่ผู้ร้องทั้งสองก่อนหน้านี้ เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงให้เห็นว่า เกิดจากการที่ผู้คัดค้านไม่เร่งรีบบังคับคดีหรือปล่อยปละละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่แต่อย่างใด แต่เหตุที่ไม่มีการบังคับคดีเนื่องจากผู้คัดค้านเพิ่งมีอำนาจตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ ทั้งยังมีคดีทำนองเดียวกันที่ใกล้จะครบระยะเวลาการบังคับอีกจำนวนหลายร้อยคดี หากปล่อยให้เลยกำหนดระยะเวลาการบังคับคดีก็จะเกิดความเสียหายต่อประโยชน์ราชการส่วนรวมได้ ดังนั้น พฤติการณ์ต่างๆ ดังกล่าวข้างต้นย่อมถือมีพฤติการณ์พิเศษที่ศาลชั้นต้นสามารถที่จะอนุญาตให้ขยายระยะเวลาการบังคับคดีได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท มาตรา 13 ทวิ, 89 จำคุก 5 ปี ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี 6 เดือน จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องขอปล่อยจำเลยชั่วคราวระหว่างฎีกา โดยมีที่ดินมีโฉนดและสมุดเงินฝากของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เป็นหลักประกัน ศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาต เมื่อครบกำหนดระยะเวลายื่นฎีกาจำเลยไม่ได้ยื่นฎีกาภายในกำหนดและผู้ร้องทั้งสองไม่นำตัวจำเลยมาส่งตามสัญญาประกัน วันที่ 3 มิถุนายน 2541 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งออกหมายจับจำเลยและปรับผู้ร้องทั้งสองซึ่งเป็นผู้ประกันตามสัญญาประกันเป็นเงิน 600,000 บาท ในระหว่างการบังคับคดีตามสัญญาประกันโดยยังไม่ได้ออกคำบังคับและหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี ต่อมาวันที่ 28 พฤษภาคม 2551 นิติกรประจำศาลชั้นต้นยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาการบังคับคดีตามสัญญาประกันออกไปถึงวันที่ 3 มิถุนายน 2553 ศาลชั้นต้นอนุญาต ผู้คัดค้านมีหนังสือลงวันที่ 19 มีนาคม 2552 แจ้งให้ผู้ร้องทั้งสองชำระค่าปรับภายใน 7 วัน ต่อมาวันที่ 8 เมษายน 2552 ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องขอคืนหลักประกันโดยอ้างว่าไม่มีการบังคับคดีแก่ผู้ร้องทั้งสองภายใน 10 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งปรับผู้ร้องทั้งสอง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งขยายระยะเวลาการบังคับคดีออกไปแล้ว จึงไม่อนุญาตให้คืนหลักประกันแก่ผู้ร้องทั้งสอง
ผู้ร้องทั้งสองอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีคำสั่งให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจสั่งการคืนหลักประกันตามที่เห็นสมควรต่อไป
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านว่า การขยายระยะเวลาการบังคับคดีตามสัญญาประกันของศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้คัดค้านขยายระยะเวลาการบังคับคดี เนื่องจากเจ้าหน้าที่ศาลได้ทำรายงานเสนอต่อศาลชั้นต้นขอให้ขยายระยะเวลาการบังคับคดีเนื่องจากระยะเวลาการบังคับคดีใกล้จะครบกำหนดแล้ว รายงานดังกล่าวถือว่าเป็นเพียงรายงานเบื้องต้นของเจ้าหน้าที่ศาลที่เสนอต่อศาลว่า คดีนี้ใกล้จะครบระยะเวลาการบังคับคดีเท่านั้น ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจพิจารณาข้อเท็จจริงต่างๆ ภายในสำนวนและข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่จะปรากฏให้เห็นว่ามีเหตุผลใดที่จะต้องขยายระยะเวลาการบังคับคดีออกไป หากมีข้อเท็จจริงที่มีพฤติการณ์พิเศษ ศาลชั้นต้นก็สามารถอนุญาตให้ผู้คัดค้านขยายระยะเวลาการบังคับคดีออกไปได้ เมื่อข้อเท็จจริงคดีนี้ได้ความว่าผู้คัดค้านในฐานะหัวหน้าสำนักงานศาลยุติธรรมตามกฎหมายให้ถือว่าเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในส่วนที่เกี่ยวกับหนี้ตามสัญญาประกัน ซึ่งมีการแก้ไขให้อำนาจผู้คัดค้านเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในกรณีนี้เมื่อปี 2547 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 119 แต่ตามกฎหมายเดิมและกฎหมายปัจจุบันก็ยังให้อำนาจพนักงานอัยการในการบังคับคดีแก่นายประกันที่ผิดสัญญาประกัน ตามพระราชบัญญัติพนักงานอัยการ พ.ศ.2498 มาตรา 11 บัญญัติว่า “พนักงานอัยการมีอำนาจและหน้าที่ดังนี้…. (8) ในกรณีที่มีการผิดสัญญาประกันจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มีอำนาจและหน้าที่ดำเนินคดีในการบังคับให้เป็นไปตามสัญญานั้น และในการนี้มิให้เรียกค่าฤชาธรรมเนียมจากพนักงานอัยการ…” คดีนี้ผู้ร้องทั้งสองผิดสัญญาประกันตั้งแต่ปี 2541 ไม่ปรากฏว่ามีการบังคับคดีแก่ผู้ร้องทั้งสองก่อนหน้านี้ ภายหลังปรากฏว่าเมื่อใกล้จะครบกำหนดระยะเวลาการบังคับเหลือเพียงอีก 7 วัน เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงให้เห็นว่า เกิดจากการที่ผู้คัดค้านไม่เร่งรีบการบังคับคดีหรือปล่อยปละละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่แต่อย่างใด แต่เหตุที่ไม่มีการบังคับคดีเนื่องจากผู้คัดค้านเพิ่งมีอำนาจตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ ทั้งยังมีข้อเท็จจริงตามรายงานของเจ้าหน้าที่ศาลว่า มีคดีทำนองเดียวกันที่ใกล้จะครบระยะเวลาการบังคับคดีอีกจำนวนหลายร้อยคดี หากปล่อยให้ล่วงเลยกำหนดระยะเวลาการบังคับคดีก็จะเกิดความเสียหายต่อประโยชน์ราชการส่วนรวมได้ ดังนั้น ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏดังกล่าวข้างต้นย่อมถือว่ามีพฤติการณ์พิเศษที่ศาลชั้นต้นมีอำนาจที่จะอนุญาตให้ขยายระยะเวลาการบังคับคดีได้ โดยไม่จำเป็นที่ศาลชั้นต้นจะต้องระบุเหตุผลไว้ในคำสั่งอนุญาตให้ขยาย ดังนั้น คำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาการบังคับแก่ผู้คัดค้านจึงชอบด้วยกฎหมาย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของผู้คัดค้านฟังขึ้น ส่วนฎีกาของผู้คัดค้านข้ออื่นไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่จำต้องวินิจฉัย
พิพากษากลับว่า ให้ยกคำร้องขอคืนหลักประกันของผู้ร้องทั้งสอง

Share