คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7703/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต ก่อนเริ่มถามคำให้การให้พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีให้รัฐจัดหาทนายความให้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134/1 เมื่อพนักงานสอบสวนไม่ได้จัดหาทนายความให้จำเลยที่ 2 อันเป็นการไม่ปฏิบัติตาม มาตรา 134/1 ถ้อยคำใดๆ ที่จำเลยที่ 2 ให้ไว้ในชั้นสอบสวน ย่อมจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของจำเลยที่ 2 ไม่ได้ ตามมาตรา 134/4 วรรคท้าย ดังนี้ จึงไม่อาจฟังคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 ที่ให้การว่าขณะจำเลยที่ 1 ตรวจนับเมทแอมเฟตามีนในห้องพัก จำเลยที่ 2 อยู่ด้วย มารับฟังเป็นพยานหลักฐานโจทก์เพื่อลงโทษจำเลยที่ 2 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม, 102 ให้ประหารชีวิต จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนและทางนำสืบของจำเลยทั้งสองเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (1) คงให้จำคุกจำเลยทั้งสองตลอดชีวิต ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 จำคุกตลอดชีวิต ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุก 33 ปี 4 เดือน ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ศาลชั้นต้นได้รับหนังสือจากเรือนจำคลองไผ่แจ้งว่าจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย โจทก์รับว่าเป็นจริง เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตายสิทธินำคดีมาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (1) จึงให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ออกเสียจากสารบบความ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้แม้จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและในชั้นสอบสวนรับว่าขณะจำเลยที่ 1 ตรวจนับเมทแอมเฟตามีนในห้องพักจำเลยที่ 2 อยู่ด้วย โจทก์ได้ฎีกาให้นำคำรับของจำเลยที่ 2 ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนดังกล่าวมารับฟังเป็นเหตุผลหนึ่งเพื่อลงโทษจำเลยที่ 2 ตามฟ้อง แต่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 84 วรรคท้าย บัญญัติว่า ถ้อยคำใด ๆ ที่ผู้ถูกจับให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้จับ…………..ในชั้นจับกุม……ถ้าถ้อยคำนั้นเป็นคำรับสารภาพของผู้ถูกจับว่าตนได้กระทำความผิดห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐาน ฯลฯ เช่นนี้ย่อมไม่อาจนำคำรับสารภาพของจำเลยที่ 2 ในชั้นจับกุมมารับฟังเป็นพยานหลักฐานโจทก์เพื่อลงโทษจำเลยที่ 2 ได้ ส่วนคำให้การในชั้นสอบสวนนั้น โจทก์อ้างส่งเฉพาะคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ตามบันทึกคำให้การเป็นพยาน ซึ่งก่อนเริ่มถามคำให้การพันตำรวจโทเศกสรรค์ พนักงานสอบสวนได้สอบถามจำเลยที่ 1 แล้วว่ามีทนายความหรือไม่และต้องการทนายความหรือไม่ จำเลยที่ 1 ตอบว่าไม่มีทนายความและไม่ต้องการ จากนั้นพนักงานสอบสวนได้ถามคำให้การจำเลยที่ 1 โดยไม่ได้จัดหาทนายความให้ เมื่อคดีนี้เป็นคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต ฉะนั้น ก่อนเริ่มถามคำให้การถ้าผู้ต้องหาไม่มีทนายความ รัฐต้องจัดหาทนายความให้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134/1 เมื่อพนักงานสอบสวนไม่ได้จัดหาทนายความให้ เช่นนี้ถ้อยคำใด ๆ ที่ผู้ต้องหาให้ไว้ในชั้นสอบสวนย่อมจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้นั้นไม่ได้ ตามมาตรา 134/4 วรรคท้าย เมื่อโจทก์มิได้อ้างส่งบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 ต่อศาล ทำให้เชื่อว่าก่อนเริ่มถามคำให้การจำเลยที่ 2 พนักงานสอบสวนมิได้จัดหาทนายความให้ อันเป็นการไม่ปฏิบัติตาม มาตรา 134/1 ถ้อยคำใด ๆ ที่จำเลยที่ 2 ให้ไว้ในชั้นสอบสวนย่อมจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของจำเลยที่ 2 ไม่ได้ ตามมาตรา 134/4 วรรคท้าย ดังนี้ จึงไม่อาจนำคำให้การในชั้นสอบสวนจำเลยที่ 2 ที่ให้การว่าขณะจำเลยที่ 1 ตรวจนับเมทแอมเฟตามีนในห้องพักจำเลยที่ 2 อยู่ด้วยมารับฟังเป็นพยานหลักฐานโจทก์เพื่อลงโทษจำเลยที่ 2 ได้ การที่จำเลยที่ 2 ไปด้วยกันกับจำเลยที่ 1 ตั้งแต่กรุงเทพมหานครไปเชียงใหม่และกลับมากรุงเทพมหานครในระหว่างนั้นพักอาศัยอยู่ด้วยกัน โดยมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาว แต่ทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏพฤติการณ์ใดว่าจำเลยที่ 2 มีส่วนเกี่ยวข้องรู้เห็นกับการที่จำเลยที่ 1 ครอบครองเมทแอมเฟตามีนของกลางอย่างไรบ้าง เมื่อจำเลยที่ 2 มิได้เป็นภริยาของจำเลยที่ 1 และมีที่อยู่คนละแห่งกัน ทั้งขณะสายลับแจ้งเรื่องจำเลยที่ 1 ลักลอบนำเมทแอมเฟตามีนจากภาคเหนือเข้าสู่กรุงเทพมหานคร สายลับก็มิได้กล่าวถึงจำเลยที่ 2 ประกอบกับเมทแอมเฟตามีนของกลางซุกซ่อนอยู่ใต้พวงมาลัยรถยนต์ มิได้วางไว้ในที่จำเลยที่ 2 ซึ่งนั่งรถยนต์มาคู่กับจำเลยที่ 1 จะพบเห็นได้โดยง่าย พยานหลักฐานของโจทก์จึงเกิดความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 2 ได้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้แก่จำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องของจำเลยที่ 2 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share