แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีที่บริษัทจำเลยที่ 1 ทำไว้กับธนาคารโจทก์มิได้กำหนดระยะเวลาชำระหนี้เอาไว้ การที่ผู้จัดการสาขาของโจทก์เรียกให้ ว. ผู้จัดการบริษัทจำเลยที่ 1ไปเจรจาเพื่อตกลงกันในเรื่องการผ่อนชำระหนี้ มิฉะนั้นจะถูกธนาคารโจทก์สำนักงานใหญ่ยื่นฟ้อง ว. จึงได้โอนเงินจากบัญชีเงินฝากของ ว.ชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีทั้งหมดของจำเลยที่ 1 ตามที่ได้ตกลงกันเพื่อลดหนี้ลงและปลดจำนองทรัพย์สินเฉพาะส่วนของ ว. พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นกรณีที่โจทก์เรียกร้องให้บริษัทจำเลยที่ 1 ชำระหนี้หลังจากที่หักทอนบัญชีกันแล้วอันแสดงว่าคู่กรณีไม่ประสงค์ให้มีการเดินสะพัดทางบัญชีกันอีกต่อไปแล้วสัญญาบัญชีเดินสะพัดจึงเป็นอันสิ้นสุดลงในวันที่มีการชำระหนี้ตามที่ตกลงกันและโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้จนถึงวันดังกล่าวหลังจากนั้นโจทก์จะคิดดอกเบี้ยทบต้นอีกไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกค้าของโจทก์ โดยเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน เลขที่ 001 ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์รวม 10 ฉบับ สัญญาทุกฉบับทำต่อเนื่องกันและไม่ลบล้างฉบับเดิม กำหนดชำระดอกเบี้ยทุกวันสุดท้ายของเดือนหากผิดนัดยอมให้คิดดอกเบี้ยทบต้นได้ตามประเพณีของธนาคาร กำหนดชำระหนี้เมื่อโจทก์เรียกร้อง จำเลยที่ 2 ที่ 3 ได้ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1ฉบับลงวันที่ 14 กรกฎาคม 2515 โดยยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1อย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินเพื่อเป็นประกันหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี จำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินไว้แก่โจทก์เพื่อเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินเพื่อเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ในการทำสัญญาจำนองทุกฉบับมีข้อตกลงว่าหากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ยอมให้โจทก์บังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นของผู้จำนองได้ จำเลยที่ 1 ได้เดินสะพัดทางบัญชีกับโจทก์โดยสั่งจ่ายเช็คเบิกเงินและนำเงินเข้าฝากในบัญชีหลายครั้งจนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2529 เมื่อหักทอนบัญชีแล้วจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์เป็นเงินทั้งสิ้น 32,862,950.44 บาท โจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้หลายครั้งแต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉย โจทก์ได้มอบให้ทนายความมีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองจำเลยทั้งสามได้รับหนังสือบอกกล่าวแล้วเพิกเฉยไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์จำเลยทั้งสามต้องชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเงิน36,149,245.34 บาท แก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้จำเลยที่ 2ที่ 3 ชำระแทน หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์จำนองของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้แทน หากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้จนครบ
จำเลยทั้งสามให้การว่า สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและบัญชีฝากเงินกระแสรายวัน เลขที่ 001 ไม่ใช่สัญญาบัญชีเดินสะพัด โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้น หากเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดหนี้ตามสัญญารวม 8 ฉบับตลอดจนดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นก็ขาดอายุความแล้วเพราะสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีทุกฉบับแยกจากกันและไม่ได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ แต่ให้สิทธิโจทก์ที่จะเรียกร้องให้ชำระหนี้เมื่อใดก็ได้โจทก์จึงอาจเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ได้ตั้งแต่เริ่มเบิกเงินไป จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดนัดมาโดยตลอดและโจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามสัญญาหลายครั้งอันมีผลเป็นการแจ้งให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้สัญญาบัญชีเดินสะพัดจึงสิ้นสุดลง โจทก์ฟ้องคดีเมื่อล่วงพ้น 10 ปี นับแต่วันที่สัญญาแต่ละฉบับสิ้นสุดลงคดีโจทก์จึงขาดอายุความ การที่โจทก์ทวงถามให้จำเลยที่ 1ชำระหนี้และจำเลยที่ 1 นำเงินฝากเข้าบัญชีครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่20 สิงหาคม 2522 หลังจากนั้นไม่เคยเบิกเงินหรือนำเงินฝากเข้าบัญชีอีกเลยถือได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดต่อกันในวันดังกล่าว จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์เพียง13,461,970.24 บาท หลังจากนั้นโจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้อีกต่อไปและดอกเบี้ยนับแต่วันค้างชำระถึงวันฟ้องเกินกว่า 5 ปีแล้วจึงขาดอายุความสัญญาจำนองมีผลบังคับได้เฉพาะเงินต้นและดอกเบี้ยที่ไม่เกิน 5 ปีเท่านั้น ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน36,149,245.34 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย หากไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ชำระแทนตามสัญญาจำนองและสัญญาค้ำประกัน ภายในวงเงินหากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้โจทก์ภายในวงเงินที่จำเลยแต่ละคนต้องรับผิด หากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ให้โจทก์จนครบ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน17,400,362.18 บาท พร้อมดอกเบี้ย หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ชำระแทนในวงเงิน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าแม้ว่าสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีที่จำเลยที่ 1 ทำไว้กับโจทก์รวม 10 ฉบับ ตามเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.13 มิได้กำหนดระยะเวลาชำระหนี้ไว้ สัญญาดังกล่าวจึงใช้บังคับได้จนกว่าจะมีการบอกเลิกสัญญาก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของนายเรวัต ศิรินุกูล ซึ่งเคยเป็นผู้จัดการธนาคารโจทก์สาขาท่าเรือ พยานโจทก์และนายวิสันต์ พงษ์วิทยาภานุอดีตผู้จัดการบริษัทจำเลยที่ 1 พยานจำเลยที่ 1 เจือสมกันฟังได้ว่าหลังจากวันที่ 20 สิงหาคม 2522 เป็นต้นมา จำเลยที่ 1 ไม่ได้นำเงินเข้าบัญชีและเบิกเงินออกจากบัญชีเลย นายเรวัตจึงเรียกให้นายวิสันต์ไปเจรจาเพื่อตกลงกันในเรื่องการผ่อนชำระหนี้มิฉะนั้นจะถูกธนาคารโจทก์สำนักงานใหญ่ยื่นฟ้อง นายเรวัตกับนายวิสันต์ จึงตกลงกัน ให้นายวิสันต์โอนเงินจากบัญชีเงินฝากของนายวิสันต์จำนวน 6,364,154.35 บาท ชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีทั้งหมดของจำเลยที่ 1 เพื่อลดหนี้ลงและปลดจำนองทรัพย์สินเฉพาะส่วนทรัพย์สินของนายวิสันต์ ต่อมาเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2525 จึงได้มีการชำระหนี้บางส่วนให้ตามที่ตกลงกันไว้ พฤติการณ์ของโจทก์และจำเลยที่ 1 ดังกล่าวนั้นเป็นกรณีที่โจทก์เรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้หลังจากที่หักทอนบัญชีกันแล้วอันแสดงว่าคู่กรณีไม่ประสงค์ให้มีการเดินสะพัดบัญชีกันอีกต่อไป สัญญาบัญชีเดินสะพัดจึงเป็นอันสิ้นสุดในวันที่ 2 พฤศจิกายน2525 โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้จนถึงวันดังกล่าวหลังจากนั้นโจทก์จะคิดดอกเบี้ยทบต้นอีกไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน