แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
สัญญาซื้อขายที่ดินมิได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 เดิม การที่โจทก์ชำระเงินให้จำเลยในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2518 แล้วโจทก์จำเลยตกลงกันว่าส่วนที่เหลือจะชำระในวันโอน โดยมิได้กำหนดเวลาวันโอนไว้นั้น ถือได้ว่าเป็นข้อตกลงที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา ซึ่งโจทก์อาจบังคับใช้สิทธิเรียกร้องได้นับแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2518 เป็นต้นไปอันเป็นวันเริ่มนับอายุความตามมาตรา 169 เดิม มิใช่เริ่มนับแต่วันที่ผิดนัดจนกว่าจะมีการบอกกล่าวก่อน เมื่อนับถึงวันฟ้องเกิน 10 ปีแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2517 จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมที่ดิน ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเฉพาะส่วนของจำเลยที่ได้แยกกันครอบครองเป็นส่วนสัดแก่โจทก์ในราคา 7,800บาท โดยยินยอมให้โจทก์เข้าครอบครองและได้รับเงินจากโจทก์ในวันทำสัญญา 4,000 บาท ส่วนที่เหลือโจทก์จะชำระในวันที่ 1กุมภาพันธ์ 2518 ต่อมาจำเลยได้รับเงินค่าซื้อที่ดินจากโจทก์ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2528 จำนวน 3,000 บาท อีก 800 บาท โจทก์จะชำระให้เมื่อทำการโอนโจทก์ได้ติดต่อทวงถามและมอบให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยโอนที่ดินให้โจทก์ จำเลยเพิกเฉย ขอให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินให้โจทก์ หากจำเลยไม่ยอมไปจดทะเบียนให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินที่จำเลยตกลงขายให้โจทก์เฉพาะส่วนโดยมิได้ระบุจำนวนเนื้อที่และสัญญาระบุว่าเมื่อโจทก์ชำระเงินหมดแล้ว จำเลยจึงจะทำการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้ หากโจทก์ไม่ชำระเงินตามสัญญาโจทก์ยอมให้จำเลยริบเงินมัดจำและสัญญาเป็นอันยกเลิกไปโดยมิต้องบอกกล่าว เมื่อถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2518 โจทก์มิได้ชำระเงินที่เหลือจำนวน 3,800 บาท แก่จำเลย จำเลยทวงถามให้โจทก์ปฏิบัติตามสัญญาแล้ว โจทก์เพิกเฉย สัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวจึงเป็นอันยกเลิกไป โจทก์ไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้อง ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะโจทก์อ้างว่าชำระเงินตามสัญญาแล้ว แต่โจทก์ไม่ได้เรียกร้องหรือฟ้องให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้ภายใน10 ปี นับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2518 และฟ้องโจทก์เคลือบคลุมโดยบรรยายวันครบกำหนดชำระเงินและวันที่ชำระเงินสับสน ทำให้จำเลยไม่เข้าใจคำฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์สามารถนำเงินค่าซื้อที่ดินจำนวน 800 บาท ไปชำระให้จำเลยและบังคับให้จำเลยโอนที่ดินได้ตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2518 ซึ่งเป็นวันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 12 มิถุนายน 2533 เกิน10 ปี จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164ประเด็นข้ออื่นไม่จำต้องวินิจฉัย พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ในเรื่องซื้อขายที่ดินมิได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 เดิม การที่โจทก์ชำระเงินให้จำเลย 3,000 บาท ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2518 แล้วโจทก์จำเลยตกลงกันว่าส่วนที่เหลืออีก 800 บาท จะชำระในวันโอนโดยมิได้กำหนดเวลาวันโอนไว้นั้น ถือได้ว่าเป็นข้อตกลงที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาซึ่งโจทก์อาจบังคับใช้สิทธิเรียกร้องได้นับแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2518 เป็นต้นไป อันเป็นวันเริ่มนับอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 169 เดิม ซึ่งนับถึงวันฟ้องวันที่ 12 มิถุนายน 2533 เกิน 10 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความ มิใช่เริ่มนับแต่วันที่ผิดนัดจนกว่าจะมีการบอกกล่าวก่อนตามฎีกาของโจทก์ ทั้งปรากฏตามฟ้องว่า โจทก์เพิ่งมีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2533 หลังครบกำหนด10 ปีแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน