แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ผู้ทำละเมิดเป็นพนักงานหรือคนงานของจำเลยที่ 1 ได้ ทำ ละเมิดในขณะปฏิบัติการงานของจำเลยที่ 1 ตาม หน้าที่ที่รับ มอบหมาย พนักงานหรือคนงานดังกล่าวถือ ได้ ว่าเป็นผู้แทนอื่น ๆ ของจำเลยที่ 1เมื่อก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ก็ต้อง รับผิดใช้ ค่าสินไหมทดแทนตาม ที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 76 แม้พนักงานหรือคนงานผู้ทำละเมิดเป็นผู้อยู่ในบังคับบัญชาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 แต่ จำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพนักงานหรือคนงานดังกล่าวต่าง ก็เป็นพนักงานหรือคนงานของจำเลยที่ 1 และต่างปฏิบัติหน้าที่ให้จำเลยที่ 1 ด้วย กัน จึงอยู่ในฐานะ นายงานกับคนงานเมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีส่วนผิดในการออกคำสั่งเกี่ยวกับการปฏิบัติงานจนเกิดความเสียหายขึ้น จำเลยที่ 2 และที่ 3จึงไม่ต้องร่วม รับผิดด้วย.
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสามฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของตึกแถวพิพาท จำเลยที่ 1เป็นนิติบุคคลประเภทรัฐวิสาหกิจ เป็นนิติบุคคลมีจำเลยที่ 2 และที่ 3เป็นลูกจ้าง จำเลยทั้งสามมีหน้าที่ดูแลรักษาครอบครองอาคารทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ให้อยู่ในสภาพที่ดีและปลอดภัย มิให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน จำเลยทั้งสามไม่ใช้ความระมัดระวังเพียงพอประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เป็นเหตุให้เพลิงไหม้อาคารของจำเลยที่ 1 แล้วลุกลามไหม้อาคาร เครื่องใช้ ห้องนอน เสื้อผ้าเครื่องประดับ และเงินสดของโจทก์ทั้งสามเสียหายรวม 397,600 บาทขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การทำนองเดียวกันว่า โจทก์ทั้งสามมิได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อาคารที่เกิดเพลิงไหม้ เหตุที่เกิดมิใช่ความประมาทของจำเลยที่ 2, ที่ 3 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ และขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้ทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดด้วย พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงเบื้องต้นคงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2526 เวลาประมาณ 12.30นาฬิกา ได้เกิดเพลิงไหม้อาคารเก็บอะไหล่ เครื่องมือ เครื่องใช้ไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวง เขตบางกะปิ ซึ่งเป็นหน่วยงานของจำเลยที่ 1และเพลิงได้ลุกลามไหม้ตึกแถวหลังอาคาร ซึ่งเป็นของโจทก์ทั้งสามและบุคคลอื่นอีกหลายราย เป็นเหตุให้ทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสามเสียหาย มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า จำเลยทั้งสามจะต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ทั้งสามเพียงใดหรือไม่ โจทก์ทั้งสามฎีกาว่า แม้พนักงานสอบสวนจะมิได้แจ้งข้อหาดำเนินคดีแก่บุคคลใดในเหตุทำให้เกิดเพลิงไหม้ก็ตาม แต่จากพฤติการณ์แวดล้อมและเหตุผลต่าง ๆ ประกอบกันจะเห็นได้ชัดแจ้งว่า บุคคลผู้ทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสาม คือพนักงานของจำเลยที่ 1 เพราะอาคารที่เกิดเพลิงไหม้เป็นอาคารที่ใช้เฉพาะพนักงานของจำเลยที่ 1 เท่านั้น บุคคลภายนอกไม่มีส่วนเกี่ยวข้องที่จะต้องติดต่อธุรกิจการงานแต่อย่างใด ในปัญหาข้อนี้โจทก์ไม่มีพยานมานำสืบให้เห็นว่า เหตุที่เกิดเพลิงไหม้เกิดจากการกระทำของบุคคลใดโดยแน่ชัด แต่ได้ความจากร้อยตำรวจโทนิพนธ์ลาภิการ์นนท์ พยานโจทก์ ซึ่งประจำอยู่ที่แผนกตรวจสถานที่เกิดเหตุกองพิสูจน์หลักฐาน กรมตำรวจว่า จากการตรวจสถานที่เกิดเหตุซึ่งถูกเพลิงไหม้มีความเห็นว่ามีบุคคลเข้าไปในที่เกิดเหตุแล้ววางหรือทิ้งวัตถุที่มีไฟติดอยู่ตกลงไปถูกวัตถุที่ติดไฟได้ง่าย จึงเกิดการลุกไหม้ขึ้น พันตำรวจโทวีระ วีรวัฒน์ หัวหน้าพนักงานสอบสวนในท้องที่เกิดเหตุก็เบิกความเป็นพยานโจทก์ยืนยันข้อเท็จจริงในทำนองเดียวกัน ส่วนจำเลยมีนายบุญมี หมัดนิกร มาเบิกความเป็นพยานว่าพยานเป็นคนงานแก้ไฟเสียเขตจำหน่ายบางกะปิ วันเกิดเหตุพยานกับพวกออกไปปฏิบัติงานนอกที่ทำการ เมื่อกลับมาถึงที่ทำการประมาณเที่ยงวันเห็นเพลิงไหม้หลังคาห้องเก็บของ จึงไปแจ้งให้หัวหน้าเวรทราบ นายนรินทร์ โพธิ์แดง พยานจำเลยอีกปากหนึ่งเบิกความว่า พยานเป็นพนักงานขับรถยนต์ของจำเลยที่ 1 วันเกิดเหตุได้มาปฏิบัติหน้าที่เวรแก้ไฟเสีย ได้ทราบเรื่องเพลิงไหม้อาคารที่เกิดเหตุทางเครื่องขยายเสียงจึงไปดู เห็นอาคารส่วนที่เพลิงไหม้เริ่มจากส่วนที่ใกล้กับตึกแถว เข้าใจว่าเหตุเกิดเพราะมีวัตถุติดไฟทิ้งมาจากตึกที่อยู่ติดกับอาคารดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นว่าพยานโจทก์คือร้อยตำรวจโทนิพนธ์เป็นนายตำรวจประจำอยู่แผนกตรวจสถานที่เกิดเหตุ กองพิสูจน์หลักฐาน กรมตำรวจ ย่อมจะมีความรู้ความชำนาญในการตรวจพิสูจน์สถานที่เกิดเหตุเป็นพิเศษยิ่งกว่าบุคคลธรรมดาส่วนพันตำรวจโทวีระ ก็ได้ความว่า ได้อาศัยผลของการสอบสวนพยานบุคคลในที่เกิดเหตุหลายปากประกอบกับผลการตรวจพิสูจน์ของร้อยตำรวจโทนิพนธ์แล้วจึงสรุปความเห็นลงไป ดังปรากฏตามสำนวนการสอบสวนเอกสารหมาย จ.9 พยานโจทก์ทั้งสองต่างเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการไปตามหน้าที่โดยอาศัยเหตุผลและพยานหลักฐานต่าง ๆ ดังกล่าวแล้ว ส่วนพยานจำเลยซึ่งนำสืบทำนองว่าเพลิงไหม้จากด้านนอกตัวอาคารเนื่องจากมีผู้ลอบวางเพลิงนั้นก็เบิกความขัดแย้งกันโดยนายบุญมีตอบทนายโจทก์ที่ 1 ว่า จุดที่เห็นเพลิงไหม้บนหลังอาคารอยู่ตรงกลางของหลังคา ส่วนนายนรินทร์ว่าเพลิงเริ่มไหม้จากอาคารส่วนที่อยู่ใกล้ตึกแถวหลังอาคาร ทั้งตามคำให้การชั้นสอบสวนของนายบุญมีก็ได้ความว่า ขณะที่พยานเดินไปดูเห็นเพลิงกำลังไหม้ขื่อหลังคาระหว่างห้องเก็บของห้องที่สามและที่สี่ถัดจากห้องนอนเวรพักแสดงว่าขณะที่พยานเห็นเหตุการณ์นั้นเพลิงกำลังไหม้ส่วนที่อยู่ใต้หลังคาคือขื่อหลังคาซึ่งเป็นส่วนที่อยู่ภายในตัวอาคารมิใช่ไหม้จากภายนอกอาคารอันเป็นการเจือสมพยานหลักฐานของโจทก์อยู่ พยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักให้รับฟังยิ่งกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าเหตุเกิดเพลิงไหม้เนื่องจากมีบุคคลเข้าไปในสถานที่เกิดเหตุในตัวอาคารแล้ววางหรือทิ้งวัตถุที่มีไฟติดอยู่ลงไปถูกวัตถุที่ติดไฟได้ง่าย จึงเกิดลุกไหม้ขึ้นในอาคารแล้วลุกลามไหม้ตึกแถวของโจทก์และผู้อื่น คดีได้ความจากจำเลยที่ 3 ต่อไปว่า วันเกิดเหตุเป็นวันหยุดงาน แต่ยังมีหน่วยงานแก้ไฟเสียซึ่งจำเลยที่ 3 เป็นหัวหน้าเวรผู้ควบคุมรับผิดชอบมาปฏิบัติงานอยู่เพียงหน่วยเดียว และเพื่อความสะดวกของผู้ที่มาแจ้งเรื่องไฟเสีย จำเลยที่ 1 จึงให้ปฏิบัติงานกันอยู่ที่อาคารหมายเลข 18ตามภาพถ่ายแผนผังบริเวณที่ทำการของการไฟฟ้านครหลวง เขตบางกะปิหมาย ล.1 ส่วนอาคารอื่นรวมทั้งอาคารหมายเลข 10 ที่เกิดเพลิงไหม้จะถูกใส่กุญแจปิดไว้ และยังได้ความจากนายนรินทร์พยานจำเลยอีกว่าอาคารที่เกิดเพลิงไหม้มียามรักษาการณ์มาประจำอยู่ที่ประตูทางเข้าและมียามรักษาการณ์ที่ประตูทางเข้าคลังพัสดุด้วย ยามที่ประจำอยู่ที่คลังพัสดุจะต้องเดินตรวจไปตลอดถึงด้านหลังอาคารทุกครึ่งชั่วโมง ดังนั้นจะเห็นได้ว่า บุคคลภายนอกที่เข้ามาแจ้งเรื่องไฟฟ้าขัดข้องจะต้องไปแจ้งที่อาคารหมายเลข 18 เพียงแห่งเดียวไม่มีเหตุที่จะไปเกี่ยวข้องกับอาคารหมายเลข 10 ที่เกิดเพลิงไหม้แต่อย่างใด ทั้งบริเวณที่เกิดเหตุก็อยู่ในบริเวณที่ทำการไฟฟ้านครหลวง เขตบางกะปิ ของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีเวรยามคอยตรวจตราอยู่ตลอดเวลามิใช่สถานที่ที่บุคคลภายนอกจะเข้าไปเดินไปมาได้ตามใจชอบ โดยเฉพาะได้ความจากคำให้การชั้นสอบสวนของนายบุญมีตอนหนึ่งว่า ห้องที่เกิดเพลิงไหม้เป็นห้องเก็บของ ซึ่งพนักงานการไฟฟ้านครหลวงมาเปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดทำงาน ซึ่งเก็บไว้ในห้องดังกล่าวออกไปทำงาน วันหยุดก็อาจมาใช้ห้องที่เกิดเหตุได้โดยมีการทำลูกกุญแจแจกกันในหมู่ผู้ใช้ห้องดังกล่าว พิจารณาพยานหลักฐานและเหตุผลต่าง ๆ ดังกล่าวประกอบกันแล้ว เชื่อว่าเหตุที่เกิดเพลิงไหม้คดีนี้เกิดจากพนักงานหรือคนงานคนใดคนหนึ่งของจำเลยที่ 1 เข้าไปใช้ห้องเก็บของในอาคารที่เกิดเหตุในระหว่างปฏิบัติงานตามหน้าที่ แล้วทิ้งวัตถุติดไฟไว้โดยความประมาทเลินเล่อจึงเกิดไหม้ลุกลามออกไปจนไหม้ตึกแถวของโจทก์ มีปัญหาวินิจฉัยต่อไปว่าจำเลยทั้งสามต้องรับผิดเพียงใดหรือไม่ สำหรับจำเลยที่ 2และที่ 3 นั้น จากคำให้การชั้นสอบสวนของนายประสิทธิ์รัตนสุทธิกุล พนักงานของจำเลยที่ 1 ตำแหน่งหัวหน้ากองธุรการทรัพย์สิน ฝ่ายบริการทั่วไป ตามสำนวนการสอบสวนเอกสารหมาย จ.9ประกอบกับคำเบิกความของจำเลยที่ 3 ฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นหัวหน้าเขตจำหน่ายบางกะปิ และมีหน้าที่ควบคุมดูแลอาคารที่เกิดเพลิงไหม้อยู่ด้วย ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นหัวหน้าเวรแก้ไฟเสียซึ่งมาปฏิบัติงานในวันเกิดเหตุ เห็นว่าแม้จำเลยที่ 2 จะมีหน้าที่ควบคุมดูแลอาคารที่เกิดเพลิงไหม้ก็ตามแต่ได้ความจากคำให้การชั้นสอบสวนของนายประสิทธิ์ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดให้มียามรักษาการณ์บริเวณการไฟฟ้านครหลวงเขตบางกะปิอยู่ 3 จุดคือประตูใหญ่ด้านหน้า อาคารที่ว่าการ และคลังพัสดุ ไม่ได้ความจากพยานของฝ่ายใดเลยว่า จำเลยที่ 2 มีหน้าที่ต้องจัดเวรยามดูแลอาคารที่เกิดเพลิงไหม้อีกชั้นหนึ่ง โดยเฉพาะวันเกิดเหตุก็เป็นวันหยุดงาน ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่าตนไม่มีหน้าที่ต้องมาอยู่เวรยามหรือตรวจตราเจ้าหน้าที่ และโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงยังฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2ประมาทเลินเล่อในหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ ส่วนจำเลยที่ 3 นั้นแม้จะได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าเวรแก้ไฟเสียในวันเกิดเหตุก็ได้ความว่ามีหน้าที่เพียงจัดเวรพนักงานออกไปตรวจแก้ไฟฟ้าขัดข้องนอกที่ทำการ ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 มีหน้าที่ต้องควบคุมดูแลการใช้อาคารที่เกิดเพลิงไหม้ด้วย ทั้งการใช้อาคารดังกล่าวก็เป็นเรื่องที่พนักงานของจำเลยที่ 1 ใช้กันเป็นประจำทั้งในวันเปิดทำการและวันหยุดดังที่ได้ความมาข้างต้น จึงถือได้ว่าการใช้อาคารที่เกิดเพลิงไหม้ในลักษณะดังกล่าวเป็นการใช้เพื่อปฏิบัติงานตามที่ได้รับมอบหมายกันตามปกติเป็นประจำ จึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 ประมาทเลินเล่อในส่วนที่เกี่ยวกับหน้าที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบของตน เช่นกัน จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงมิได้ทำละเมิดต่อโจทก์ และแม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าผู้ทำละเมิดต่อโจทก์คือพนักงานหรือคนงานของจำเลยที่ 1 กระทำโดยประมาทเลินเล่อในขณะปฏิบัติหน้าที่การงานของจำเลยที่ 1 ดังวินิจฉัยมาแล้ว และแม้พนักงานหรือคนงานเหล่านี้อยู่ในบังคับบัญชาของจำเลยที่ 2และที่ 3 แต่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และพนักงานหรือคนงานดังกล่าวต่างเป็นพนักงานหรือคนงานของจำเลยที่ 1 และต่างปฏิบัติงานในหน้าที่ให้จำเลยที่ 1 ด้วยกัน จึงอยู่ในฐานะนายงานกับคนงาน เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีส่วนผิดในการออกคำสั่งเกี่ยวกับการปฏิบัติงานจนเกิดความเสียหายขึ้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดด้วย ส่วนจำเลยที่ 1 นั้น แม้จะไม่ได้ความว่าผู้ทำละเมิดเป็นใคร แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้ทำละเมิดเป็นพนักงานหรือคนงานของจำเลยที่ 1 ได้ทำละเมิดในขณะปฏิบัติการงานของจำเลยที่ 1 ตามหน้าที่ที่รับมอบหมาย พนักงานหรือคนงานดังกล่าวถือได้ว่าเป็นผู้แทนอื่น ๆ ของจำเลยที่ 1 เมื่อก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ก็ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 76 จำเลยที่ 1จะปฏิเสธความรับผิดหาได้ไม่…”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ทั้งสามเป็นเงิน 206,650 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2526จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ทั้งสาม โดยกำหนดค่าทนายความรวม 10,000 บาทค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลยที่ 2 และที่ 3ในชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.