แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
แม้สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จะตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคแรก และมาตรา 115ก็ตาม แต่พฤติการณ์เป็นที่พึงสันนิษฐานได้ว่า ถ้าเดิมที่โจทก์กับจำเลยได้รู้ว่าการซื้อขายที่ดินพิพาทไม่สมบูรณ์ เพราะไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็คงจะได้ตั้งใจให้สมบูรณ์เป็นสัญญาโอนการครอบครองโดยมีค่าตอบแทน การทำนิติกรรมระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงสมบูรณ์ตามอย่างหลังนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 136 กฎหมายไม่ได้บังคับว่าการโอนการครอบครองที่ดินต้องมีหนังสือมาแสดง กรณีนี้จึงนำพยานบุคคลมาสืบและศาลรับฟังพยานบุคคลแทนพยานเอกสารได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องสำนวนแรกและให้การในสำนวนหลังทำนองเดียวกันรวมใจความว่า บิดามารดาโจทก์ได้ยกที่ดินแปลงหนึ่งให้โจทก์เนื้อที่ 44 ไร่ ตั้งอยู่ที่บ้านดอนทะแยง หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านปรางค์ อำเภอคง จังหวัดนครราชสีมา โจทก์ได้ทำนาในที่ดินแปลงนี้จนเมื่อ พ.ศ. 2511 ได้ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เจ้าพนักงานที่ดินได้ไปทำการรังวัด ซึ่งขณะนั้นโจทก์ทำนาอยู่ 21 ไร่ 3 งาน 20 ตารางวา เจ้าพนักงานที่ดินจึงออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้โจทก์ในเนื้อที่เพียงเท่าที่โจทก์ทำนา ตาม น.ส.3 เล่ม 2 หน้า 85 สารบบเล่มเลขที่ 71ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2513 โจทก์ได้กู้ยืมเงินจำเลยจำนวน 4,000 บาทโดยมอบ น.ส.3 ดังกล่าว ให้จำเลยยึดถือไว้ และส่งมอบที่ดินทั้ง 44 ไร่ให้จำเลยทำกินต่างดอกเบี้ยโดยตกลงกับจำเลยว่า หากโจทก์มีเงิน 4,000 บาทเมื่อใด จะไถ่ที่นาคืน หลังจากนั้นโจทก์ได้ไปทำงานที่ต่างจังหวัดแต่ก็ยังกลับมาหมู่บ้านดอนทะแยงและสอบถามจำเลยทุกปีซึ่งจำเลยก็บอกว่ามีเงินเมื่อใดให้มาไถ่ถอนที่นาคืนไปได้ ครั้นเดือนตุลาคม 2527 โจทก์ไปขอไถ่ที่นาคืน จำเลยอ้างว่าโจทก์ขายให้จำเลยแล้ว หากโจทก์จะเอาคืนก็จะขายให้ในราคา 150,000 บาท ขอให้พิพากษาบังคับจำเลยให้รับชำระเงิน 4,000 บาทจากโจทก์ คืนที่นาและน.ส.3 เล่ม 2 หน้า 85 สารบบเล่มเลขที่ 71 แก่โจทก์ ห้ามมิให้จำเลยและบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินโจทก์อีกต่อไป กับยกฟ้องคดีสำนวนหลัง จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การสำนวนแรกและฟ้องสำนวนหลังทำนองเดียวกันรวมใจความว่า จำเลยไม่เคยให้โจทก์กู้ยืมเงินเมื่อพ.ศ. 2513 โจทก์ได้ขายที่ดินพิพาทตาม น.ส.3 เล่ม 2 หน้า 85สารบบเล่มเลขที่ 71 ตำบลบ้านปรางค์ อำเภอคง จังหวัดนครราชสีมาเนื้อที่ 21 ไร่เศษให้แก่จำเลยในราคา 20,000 บาท แต่ยังไม่ทันจดทะเบียนโอนกันตามกฎหมายโจทก์ก็อพยพครอบครัวไปอยู่ที่อื่นจำเลยได้เข้าครอบครองทำกินในที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของเรื่อยมาเป็นเวลา 15-16 ปีแล้ว และจำเลยได้ก่นสร้างเพิ่มเติมจนมีเนื้อที่ 44 ไร่ โดยโจทก์ไม่เคยเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินพิพาทอีกเลย หากฟังว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ จำเลยก็ครอบครองอย่างเป็นเจ้าของมาเป็นเวลา 15-16 ปี โจทก์เพิ่งมาฟ้องเรียกคืนการครอบครอง จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1375 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้องโจทก์และพิพากษาว่าที่ดิน น.ส.3 เล่ม 2 หน้า 85 สารบบเล่มเลขที่ 71ตำบลบ้านปรางค์ อำเภอคง จังหวัดนครราชสีมาเป็นของจำเลยห้ามโจทก์เกี่ยวข้องกับบังคับให้ไปจดทะเบียนโอนที่ดินแปลงดังกล่าวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่อำเภอคงให้แก่จำเลย หากโจทก์ไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแสดงเจตนาแทนโจทก์ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ กับให้โจทก์ไปจดทะเบียนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ทะเบียนเล่ม 2 หน้า 85 สารบบเล่มเลขที่ 71 หมู่ที่ 3ตำบลบ้านปรางค์ อำเภอคง จังหวัดนครราชสีมาเป็นชื่อของจำเลยหากโจทก์ไม่ไปก็ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของโจทก์โจทก์อุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์อย่างคนอนาถา ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของจำเลยที่ให้โจทก์จดทะเบียนโอนที่ดินตาม น.ส.3 ทะเบียนเล่ม 2 หน้า 85 สารบบเล่มเลขที่ 71 หมู่ที่ 3ตำบลบ้านปรางค์ อำเภอคง จังหวัดนครราชสีมา ให้แก่จำเลยเสียนอกจากที่แก้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโจทก์ฎีกาโดยได้รับอนุญาตให้ฎีกาอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหามีว่าโจทก์ได้มอบที่ดินพิพาทให้จำเลยทำกินต่างดอกเบี้ย หรือได้ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่โจทก์ฎีกาว่าได้กู้เงินจากจำเลยโดยทำหนังสือสัญญากู้กัน และมอบที่ดินพิพาทให้จำเลยเพื่อทำกินต่างดอกเบี้ยนั้น โจทก์มีแต่ตัวโจทก์เท่านั้นเบิกความเป็นพยานรู้เห็นในการทำหนังสือสัญญากู้ยืมสัญญากู้ยืมก็ไม่มีมาแสดงต่อศาล นายเหมือน นรานอกนายเสน่ห์ ใฝ่กระโทก และนายสุข ไตรสูงเนิน เบิกความทำนองเดียวกับโจทก์ก็เป็นพยานที่ได้รับคำบอกเล่ามาจากโจทก์ ส่วนจำเลยนั้นจำเลยอ้างว่าโจทก์ได้ขายที่ดินพิพาทให้จำเลย จำเลยมีตัวจำเลยและนายตู้ แก่นหล่าเป็นพยานเบิกความว่ารู้เห็นในการที่โจทก์ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยแม้จำเลยจะไม่มีหนังสือสัญญาซื้อขายมาแสดงต่อศาล แต่จำเลยก็ได้ครอบครองที่ดินพิพาทมานานประมาณ 15 ปีแล้ว น.ส.3 และแบบสำรวจเนื้อที่ดินเพื่อเสียภาษีบำรุงท้องที่ของที่ดินพิพาทก็อยู่ที่จำเลย ภายหลังจากได้ครอบครองที่ดินพิพาทแล้วจำเลยได้เสียภาษีบำรุงท้องที่ของที่ดินพิพาทตลอดมาเป็นพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยได้ซื้อที่ดินพิพาทมาจากโจทก์ตามที่จำเลยนำสืบจริง ข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่าโจทก์ได้ขายและมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยตามที่จำเลยนำสืบที่โจทก์อ้างว่าได้มอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้จำเลยเพื่อให้ทำกินต่างดอกเบี้ยนั้นไม่มีเหตุผล เพราะหากมอบให้ทำกินต่างดอกเบี้ยจริงแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมอบ น.ส.3 และแบบสำรวจเนื้อที่ดินเพื่อเสียภาษีบำรุงท้องที่ ให้จำเลยไว้เป็นประกันการชำระหนี้อีกที่โจทก์ฎีกาว่าโจทก์ได้มอบ น.ส.3 และแบบสำรวจเนื้อที่ดินเพื่อเสียภาษีบำรุงท้องที่ให้แก่จำเลยเพื่อเป็นหลักประกันในการชำระหนี้เงินกู้นั้น จึงฟังไม่ขึ้น ที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยอ้างว่าได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทจากโจทก์จำเลยไม่มีหนังสือสัญญาซื้อขายมาแสดง แต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์รับฟังพยานบุคคลแทนพยานเอกสารว่าได้มีการซื้อขายที่ดินพิพาทกันจริงซึ่งไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าแม้สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จะตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคแรก และมาตรา 115ก็ตาม แต่ตามมาตรา 136 บัญญัติว่า “การใดเป็นโมฆะกรรมแต่เข้าแบบเป็นนิติกรรมอย่างอื่น โมฆะกรรมนั้นท่านว่าย่อมเป็นอันสมบูรณ์โดยฐานเป็นนิติกรรมอย่างอื่นนั้น หากเป็นที่พึงสันนิษฐานได้ว่า ถ้าเดิมที่คู่กรณีได้รู้ว่าการตามจำนงนั้นไม่สมบูรณ์ก็คงจะได้ตั้งใจให้สมบูรณ์เป็นอย่างหลังนี้” คดีนี้ที่ดินพิพาทที่ซื้อขายกันยังไม่มีหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ มีเพียง น.ส.3 ซึ่งผู้ขายมีเพียงสิทธิครอบครองเท่านั้น การโอนการครอบครองย่อมทำได้โดยการส่งมอบทรัพย์สินที่ครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1378 และพฤติการณ์เป็นที่พึงสันนิษฐานได้ว่า ถ้าเดิมทีโจทก์กับจำเลยได้รู้ว่าการซื้อขายที่ดินพิพาทไม่สมบูรณ์เพราะไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ก็คงจะได้ตั้งใจให้สมบูรณ์เป็นสัญญาโอนการครอบครองโดยมีค่าตอบแทนดังจะเห็นเจตนาได้จากผู้ขายได้มอบที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ซื้อในวันทำสัญญาซื้อขาย กรณีเช่นนี้ไม่มีกฎหมายบังคับว่าต้องมีหนังสือมาแสดงจำเลยจึงนำพยานบุคคลมาสืบและศาลรับฟังพยานบุคคลแทนพยานเอกสารได้ ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 ฎีกาของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน