แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ฟ้องโจทก์บรรยายว่า จำเลยมีเครื่องชั่งที่ผิดอัตราไว้เพื่อใช้เอาเปรียบในการค้า โดยชั่งสินค้าจำหน่ายแก่ผู้ซื้อ กับได้ ใช้เครื่องชั่งที่ผิดอัตรานั้นทำการชั่งสินค้าจำหน่ายแก่ลูกค้าผู้ซื้อเพื่อเอาเปรียบในการค้า ฟ้องของโจทก์จึงชัดแจ้งแล้วว่าจำเลยมีเจตนากระทำผิดต่อ พ.ร.บ. มาตราชั่ง ตวง วัดฯ และ ป.อ.มาตรา 270 ตามที่โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลย ส่วน บุคคลที่เสียหายจะเป็นใครนั้น หาใช่สาระสำคัญที่โจทก์จำต้องกล่าวมาในฟ้องด้วยไม่เพราะเป็นรายละเอียดที่โจทก์อาจนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องของโจทก์ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158(5) แล้ว จำเลยรับจ้าง ศ. ซึ่งเป็นญาติขายอาหารสำเร็จรูปประเภทขนมปังกรอบในที่เกิดเหตุ โดยจำเลยเป็นผู้ครอบครองเครื่องชั่งที่ผิดอัตราเท่านั้น หาใช่เจ้าของกิจการพาณิชย์ ตามฟ้องไม่ และจำเลยมีภาระต้องเลี้ยงดูภริยา และให้ความอุปการะบุตรที่ยังอยู่ระหว่างการศึกษาเล่าเรียนอีก 3 คน ทั้งระหว่างถูกคุมความประพฤติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยก็ได้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติตามกำหนดนัดอีกด้วย เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อนจึงสมควรให้โอกาสจำเลยประพฤติตนเป็นคนดีต่อไป โดยรอการลงโทษจำคุกให้และคุมความประพฤติจำเลยไว้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีเครื่องชั่งสปริง ซึ่งมีเข็มชี้อัตราน้ำหนักตามหน้าปัดและมีพิกัดกำลัง 15 กิโลกรัม จำนวน 1 เครื่องอันเป็นเครื่องชั่งชนิดที่ 6 ไว้ในความครอบครอง ซึ่งเครื่องชั่งดังกล่าวเป็นเครื่องชั่งที่ผิดอัตราไม่ถูกต้องตามความประสงค์ทุกประการของพระราชบัญญัติมาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ. 2466 กล่าวคือเมื่อใช้ชั่งน้ำหนักขั้น 1 กิโลกรัม ถึง 3 กิโลกรัม น้ำหนักขาดขั้นละ 190 กรัม ชั่งน้ำหนักขั้น 4 กิโลกรัม ถึง 15 กิโลกรัมน้ำหนักขาดขั้นละ 260 กรัม ทั้งนี้จำเลยมีเครื่องชั่งดังกล่าวไว้เพื่อใช้ในกิจการต่อเนื่องกับผู้อื่นและในพาณิชยกิจของจำเลยและมีไว้เพื่อใช้ซึ่งเครื่องชั่งที่ผิดอัตราเพื่อเอาเปรียบในการค้าโดยมีไว้เพื่อใช้ชั่งสินค้าขนมปังจำหน่ายขายแก่ลูกค้าผู้ซื้อกับได้ใช้เครื่องชั่งที่ผิดอัตราดังกล่าวทำการชั่งสินค้าขนมปังจำหน่ายขายแก่ลูกค้าผู้ซื้อ ซึ่งอยู่ในกิจการค้าอันต่อเนื่องกับผู้อื่นและในพาณิชยกิจของจำเลยเพื่อเอาเปรียบในการค้า โดยลูกค้าผู้ซื้อได้รับสินค้าดังกล่าวไปไม่ครบอัตราน้ำหนักที่ซื้อ โดยขาดไป190 กรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเครื่องชั่งดังกล่าวเป็นเครื่องชั่งที่ผิดอัตราและเป็นการเอาเปรียบในการค้า ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติมาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ. 2466 มาตรา 31, 38พระราชบัญญัติมาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ. 2466 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2477มาตรา 3 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 270, 32, 33, 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4ริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง การที่จำเลยมีไว้เพื่อใช้ซึ่งเครื่องชั่งที่ผิดอัตราและใช้เครื่องชั่งดังกล่าวเพื่อเอาเปรียบในการค้า เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 270 ฐานใช้เครื่องชั่งที่ผิดอัตราเพื่อเอาเปรียบในการค้า ซึ่งเป็นบทหนัก จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่ง ให้จำคุก 2 เดือน ปรับ 3,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี แต่กำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมประพฤติจำเลย โดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือนต่อครั้งเป็นเวลา 1 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทน ริบของกลาง
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ไม่รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่รอการลงโทษและไม่ปรับจำเลยนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยมีผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษา ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลย2 ประการว่า สมควรรอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยหรือไม่ และฟ้องของโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาในฎีกาประการที่ 2 ก่อน พิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยฎีกาว่า ฟ้องของโจทก์มิได้บรรยายว่าจำเลยมีเครื่องชั่งไว้ในครอบครองโดยมีเจตนาอย่างไรและมิได้บรรยายถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องกับจำเลยในการที่จำเลยเอาเปรียบในทางการค้าโดยไม่ได้ระบุว่าบุคคลที่เสียหายเป็นใครนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องแล้วว่าจำเลยมีเครื่องชั่งที่ผิดอัตราไว้เพื่อใช้เอาเปรียบในการค้า โดยชั่งสินค้าจำหน่ายแก่ผู้ซื้อกับได้ใช้เครื่องชั่งที่ผิดอัตรานั้นทำการชั่งสินค้าจำหน่ายแก่ลูกค้าผู้ซื้อเพื่อเอาเปรียบในการค้า ฟ้องของโจทก์จึงชัดแจ้งแล้วว่าจำเลยมีเจตนากระทำผิดต่อบทกฎหมายที่โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยส่วนบุคคลที่เสียหายจะเป็นใครนั้น หาใช่สาระสำคัญที่โจทก์จำต้องกล่าวมาในฟ้องด้วยไม่ เพราะเป็นรายละเอียดที่โจทก์อาจนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องของโจทก์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158(5) แล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ส่วนปัญหาว่าสมควรรอการลงโทษจำคุกให้จำเลยหรือไม่นั้นศาลฎีกาเห็นว่า ได้ความจากรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยของพนักงานคุมประพฤติ สำนักงานคุมประพฤติจังหวัดนครราชสีมาว่าจำเลยได้มารับจ้างนางศิริวรรณ มาลา ซึ่งเป็นญาติขายอาหารสำเร็จรูปประเภทขนมปังกรอบในที่เกิดเหตุ โดยจำเลยเป็นผู้ครอบครองเครื่องชั่งที่ผิดอัตราเท่านั้น หาใช่เจ้าของกิจการพาณิชย์ตามฟ้องไม่ และจำเลยมีภาระต้องเลี้ยงดูภริยา และให้ความอุปการะบุตรที่ยังอยู่ระหว่างการศึกษาเล่าเรียนอีก 3 คน ทั้งระหว่างถูกคุมความประพฤติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยก็ได้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติตามกำหนดนัดอีกด้วย ดังนี้ เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นสมควรให้โอกาสจำเลยประพฤติตนเป็นคนดีต่อไปโดยรอการลงโทษจำคุกให้และคุมความประพฤติของจำเลยไว้…”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.