คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 981/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ไม่มีระเบียบห้ามคณะกรรมการของสหกรณ์ลงมติให้กรรมการผู้รับมอบอำนาจลงลายมือชื่อในเอกสารเบิกเงินไว้ล่วงหน้า ก็ถือได้เพียงว่าจำเลยมิได้กระทำละเมิดด้วยการจงใจกระทำโดยผิดกฎหมายเท่านั้น แต่การที่จะวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ยังต้องวินิจฉัยต่อไปด้วยว่า จำเลยได้กระทำโดยประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายหรือไม่และความเสียหายเป็นผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลยหรือไม่ ซึ่งบุคคลดังกล่าวมีหน้าที่ที่จะต้องกระทำหรือปฏิบัติอย่างไรบ้าง คำว่าหน้าที่ในที่นี้หาจำเป็นต้องเป็นหน้าที่ที่มีกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับกำหนดไว้โดยแจ้งชัดไม่
จำเลยที่ 3 ถึงที่ 15 เป็นกรรมการดำเนินการของสหกรณ์โจทก์ต้องปฏิบัติหน้าที่ภายในกรอบเช่นวิญญูชนผู้อยู่ในฐานะเช่นจำเลยพึงปฏิบัติ โดยต้องกระทำการด้วยความระมัดระวังในอันที่จะไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ การที่จำเลยที่ 3 ถึงที่15 ได้ร่วมกันมีมติให้กรรมการผู้รับมอบอำนาจ 2 ใน 3 ลงลายมือชื่อในใบเบิกเงินที่ยังไม่กรอกข้อความไว้ล่วงหน้า จนเป็นเหตุให้มีผู้นำใบเบิกเงินดังกล่าวไปใช้ถอนเงินของโจทก์จากธนาคาร แล้วเอาไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวถือได้ว่าจำเลยปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อ แต่ส่วนที่ว่าจำเลยที่ 3 ถึงที่ 15 จะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ตามฟ้องหรือไม่นั้น โจทก์จะต้องนำสืบให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลยคือเป็นความเสียหายซึ่งจำเลยได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นว่าย่อมจะเกิดขึ้นได้จากการกระทำโดยประมาทเลินเล่อของตน เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ถึงที่ 15 ไม่อาจคาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นว่าจะเกิดความเสียหายเช่นที่โจทก์ได้รับในคดีนี้ขึ้นได้เลย ความเสียหายของโจทก์จึงหาใช่ความเสียหายที่เป็นผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 15 ไม่ จำเลยที่ 3 ถึงที่ 15 จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามฟ้องแก่โจทก์
(ข้อความในวรรคสองวินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาครั้งที่ 1/2531)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทสหกรณ์จำกัด มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเกษตร ในปี พ.ศ. ๒๕๒๐ จำเลยที่ ๑ ดำรงตำแหน่งสหกรณ์อำเภอบัวใหญ่ มีหน้าที่ควบคุมดูแลการดำเนินงานของสหกรณ์ในเขตรับผิดชอบรวมทั้งสหกรณ์โจทก์ จำเลยที่ ๒ เป็นเจ้าหน้าที่การเงินของโจทก์ จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๑๕ เป็นคณะกรรมการดำเนินการของโจทก์ โดยมีจำเลยที่ ๓ เป็นประธานกรรมการ จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๑๕ มีหน้าที่รับผิดชอบร่วมกันในการดำเนินการแทนโจทก์ โจทก์เปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ไว้กับธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาบัวใหญ่ เมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๒๐ จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๑๕ ได้ร่วมประชุมและลงมติให้จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ลงลายมือชื่อในใบถอนเงินจากธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาบัวใหญ่ ไว้ล่วงหน้าอันอาจทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๒๒ ด้วยความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ ๒ ซึ่งมีหน้าที่เก็บรักษาสมุดเงินฝากและใบขอถอนเงินดังกล่าว เป็นเหตุให้นายสุพร สมพงษ์ พนักงานสินเชื่อของโจทก์นำเอกสารดังกล่าวไปถอนเงินจากธนาคารจำนวน ๔๐๐,๐๐๐ บาท แล้วหลบหนีไป ซึ่งจำเลยทั้ง ๑๕ คนจะต้องรับผิดชอบต่อโจทก์ จึงฟ้องขอให้บังคับจำเลยร่วมหรือแทนกันใช้เงินจำนวน ๔๐๐,๐๐๐ บาท และอัตราดอกเบี้ยร้อยละ ๗ ครึ่งต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับจากวันที่เงินจำนวนดังกล่าวถูกถอนไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า ไม่มีระเบียบข้อบังคับของสหกรณ์ ฯ บัญญัติให้จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๑๕ ร่วมรับผิดต่อโจทก์ มติของที่ประชุมคณะกรรมการสหกรณ์ ฯ ไม่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ ไม่ต้องร่วมรับผิด
จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๑๕ ให้การว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นมิใช่ความผิดของจำเลยที่ ๒ เพราะนายสุพร สมพงษ์ มิได้เอาสมุดคู่ฝากเงินไปจากจำเลยที่ ๒ แต่เป็นความประมาทเลินเล่อของนายสำราญ ใสสะรัง ผู้ช่วยผู้จัดการสหกรณ์ โจทก์ที่นำสมุดคู่ฝากเงินไปถอนเงินในวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๒๒ แล้วไม่นำสมุดมาคืนให้จำเลย จำเลยได้ทวงถามแล้ว นายสำราญบอกว่าจะนำมาคืนในวันรุ่งขึ้น ครั้นถึงวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๒๒ ปรากฏว่านายสุพรได้นำสมุดคู่ฝากเงินดังกล่าวไปถอนเงินจำนวน ๔๐๐,๐๐๐ บาท แล้วหลบหนีไป ส่วนจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๑๕ ก็ไม่ได้เห็นชอบด้วยในมติที่ให้กรรมการผู้มีอำนาจลงชื่อในใบขอถอนเงินลงชื่อในใบถอนเงินล่วงหน้า จำเลยทุกคนจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องขอให้เรียกนายสุพร สมพงษ์ และธนาคารกรุงไทย จำกัด เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลมีคำสั่งอนุญาตและให้เรียกบุคคลทั้งสองว่าจำเลยร่วมที่ ๑ และจำเลยร่วมที่ ๒ ตามลำดับ
จำเลยร่วมที่ ๑ และที่ ๒ ให้การปฏิเสธความรับผิด
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๑๕ ร่วมกันชดใช้เงินจำนวน ๔๐๐,๐๐๐ บาทพร้อมดอกเบี้ยให้โจทก์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๑๕ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีคงมีปัญหาในชั้นนี้เฉพาะที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๑๕ สำหรับจำเลยที่ ๒ นั้นถือได้ว่าได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ด้วยการประมาทเลินเล่อไม่ระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่และความเสียหายที่โจทก์ได้รับจากการที่นายสุพรจำเลยร่วมที่ ๑ นำสมุดคู่ฝากที่นายสำราญไปลืมไว้ที่ธนาคารเบิกเงินของโจทก์จากธนาคารก็ถือว่าเป็นความเสียหายที่เป็นผลโดยตรงจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ ๒ เพราะหากจำเลยที่ ๒ ได้ระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ดังได้กล่าวมาแล้วในตอนต้น ความเสียหายของโจทก์ย่อมจะไม่เกิดขึ้น ที่ศาลล่างทั้งสองให้จำเลยที่ ๒ รับผิดต่อโจทก์นั้นชอบแล้ว
สำหรับจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๑๕ ฎีกาโต้แย้งว่าจากคำเบิกความของพยานโจทก์เห็นได้อย่างชัดแจ้งว่ามติของคณะกรรมการที่ให้กรรมการผู้รับมอบอำนาจ ๒ ใน ๓ นาย ลงลายมือชื่อในใบขอถอนเงินไว้ล่วงหน้าไม่เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของสหกรณ์โจทก์ เมื่อไม่เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อโดยผิดกฎหมายอันจะถือได้ว่าเป็นการละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๒๐ ทั้งจำเลยที่ ๓ ก็ไม่ได้รับรองรายงานการประชุมดังกล่าว จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๑๕ จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า สำหรับจำเลยที่ ๓ ซึ่งมีตำแหน่งเป็นประธานในที่ประชุมได้เข้าประชุมและลงชื่อเห็นด้วยกับมติดังกล่าว ดังนี้แม้ไม่อาจเข้าร่วมประชุมในคราวถัดมาและมิได้ลงชื่อรับรองรายงานการประชุมใหญ่ครั้งก่อนก็หาเป็นข้อสำคัญไม่ เพราะปรากฏว่าจำเลยที่ ๓ ได้ร่วมกับจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๑๕ มีมติดังโจทก์ฟ้อง สำหรับมติดังกล่าวนั้น จริงอยู่นางสาวละเอียด ชัยชนะดารดา ซึ่งดำรงตำแหน่งสหกรณ์อำเภอบัวใหญ่พยานโจทก์เบิกความรับว่าไม่มีระเบียบห้ามคณะกรรมการลงมติให้กรรมการผู้รับมอบอำนาจลงลายมือชื่อในเอกสารเบิกเงินไว้ล่วงหน้า แต่การที่ไม่มีระเบียบห้ามไว้เช่นนี้ ถือได้เพียงว่าจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๑๕ มิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ด้วยการจงใจกระทำโดยผิดกฎหมายเท่านั้น แต่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๒๐ การที่จะวินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๑๕ กระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ยังต้องพิจารณาวินิจฉัยต่อไปด้วยว่า จำเลยดังกล่าวได้กระทำโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายหรือไม่ และความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลยหรือไม่ ซึ่งการวินิจฉัยว่าบุคคลใดได้กระทำละเมิดต่อบุคคลอื่นโดยประมาทเลินเล่อหรือไม่นั้น จะต้องดูว่าบุคคลดังกล่าวมีหน้าที่ที่จะต้องกระทำหรือปฏิบัติอย่างไรบ้าง คำว่าหน้าที่ในที่นี้หาจำเป็นต้องเป็นหน้าที่ที่มีกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับกำหนดไว้โดยแจ้งชัดไม่ สำหรับกรณีของจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๑๕ ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยทุกคนเป็นกรรมการดำเนินการของสหกรณ์โจทก์จึงจำต้องปฏิบัติหน้าที่ภายในกรอบเช่นวิญญูชนผู้อยู่ในฐานะเช่นจำเลยพึงปฏิบัติ โดยต้องกระทำการทุกอย่างด้วยความระมัดระวังในอันที่จะไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ขึ้น การที่จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๑๕ ได้ร่วมกันมีมติให้กรรมการผู้รับมอบอำนาจ ๒ ใน ๓ ลงลายมือชื่อในใบเบิกเงินเปล่า ๆ ที่ยังไม่กรอกข้อความไว้ล่วงหน้า จนเป็นเหตุให้ผู้มีนำใบเบิกเงินดังกล่าวไปใช้ถอนเงินของโจทก์จากธนาคาร แล้วเอาไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวเสียเป็นจำนวนถึง ๔๐๐,๐๐๐ บาท ถือได้ว่า จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๑๕ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อ ปัญหาที่ต้องพิจารณาต่อไปมีว่า จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๑๕ ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ตามฟ้องหรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่จะให้จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๑๕ รับผิดต่อโจทก์นั้น โจทก์จะต้องนำสืบให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลย นั่นคือเป็นความเสียหายซึ่งจำเลยได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นว่าย่อมจะเกิดขึ้นได้จากการกระทำโดยการประมาทเลินเล่อของตน คดีนี้คงได้ความจากคำนางสาวละเอียดพยานโจทก์ว่าตามข้อตกลงระหว่างธนาคารกรุงไทย สาขาบัวใหญ่กับสหกรณ์โจทก์ การเบิกเงินทุกครั้งจะต้องมีลายมือชื่อของกรรมการผู้รับมอบอำนาจ ๒ นายลงลายมือในเอกสารเบิกเงินและจะต้องมีหนังสืออนุมัติการขอถอนเงินฝากของสหกรณ์อำเภอแนบไปกับใบเบิกพร้อมทั้งนำสมุดคู่ฝากไปด้วย จึงจะเบิกเงินได้แสดงให้เห็นว่าการที่จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๑๕ มีมติให้กรรมการผู้รับมอบอำนาจ ๒ ใน ๓ นาย ลงลายมือชื่อในแบบพิมพ์ของถอนหรือฝากไว้ล่วงหน้านั้น จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๑๕ ไม่อาจคาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นว่าจะเกิดความเสียหายเช่นที่โจทก์ได้รับในคดีนี้ขึ้นได้ เพราะแม้กรรมการผู้รับมอบอำนาจลงลายมือชื่อในแบบพิมพ์ขอถอนหรือฝากเงินไว้แล้ว การจะถอนเงินได้ ยังจะต้องมีขั้นตอนที่เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบต้องปฏิบัติอีกชั้นหนึ่ง กล่าวคือต้องมีหนังสืออนุมัติการขอถอนเงินจากสหกรณ์อำเภอกับจำเลยที่ ๒ ต้องมอบสมุดคู่ฝากให้ไปด้วย เฉพาะคดีนี้ยังปรากฏชัดด้วยว่าเหตุที่นายสุพรนำแบบพิมพ์ขอถอนหรือฝากเงินที่กรรมการผู้รับมอบอำนาจลงชื่อไว้ไปขอถอนเงินของโจทก์ไปได้ เป็นเพราะนายสำราญนำสมุดคู่ฝากของโจทก์ไปลืมไว้ที่ธนาคาร กรณีจึงเห็นได้ชัดเจนว่าความเสียหายที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องที่จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๑๕ ไม่อาจคาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นว่าจะเกิดขึ้นได้เลย ความเสียหายของโจทก์จึงหาใช่ความเสียหายที่เป็นผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๑๕ ไม่ จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๑๕ ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามฟ้องแก่โจทก์
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๑๕ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share