คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1070/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บ. ลูกจ้างจำเลยประสบอุบัติเหตุถึงแก่ความตาย โจทก์เป็นภริยาของ บ. ยื่นเรื่องราวขอรับเงินทดแทนจากสำนักงานแรงงานจังหวัดสำนักงานแรงงานจังหวัดปฏิเสธการจ่ายเงินทดแทนโจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนคณะกรรมการฯ ยกอุทธรณ์ของโจทก์และโจทก์ทราบผลการวินิจฉัยเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2529 ดังนี้ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องอัตราและวิธีเรียกเก็บเงินสมทบการจ่ายเงินทดแทนฯ ข้อ 25 กำหนดว่าถ้าผู้อุทธรณ์ไม่พอใจคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนให้ฟ้องต่อศาลภายใน 30 วันนับแต่วันทราบคำวินิจฉัยอุทธรณ์ เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยและต่อมาได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลแรงงานกลางหมายเรียกกรมแรงงานเข้ามาเป็นจำเลยร่วมเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2529 ซึ่งมีผลเท่ากับโจทก์ฟ้องกรมแรงงานในวันที่ 18 กันยายน นั้นเอง ถือได้ว่าโจทก์มิได้ใช้สิทธิฟ้องคดีภายในกำหนดระยะเวลาตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ฯ ดังกล่าว โจทก์จึงไม่อาจนำคดีมาฟ้องจำเลยร่วมต่อศาลได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นายบุญร่วมสามีโจทก์เป็นลูกจ้างบริษัทจำเลยเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2528 สามีโจทก์ขี่รถจักรยานยนต์ชนรถบรรทุกเสียชีวิตระหว่างปฏิบัติหน้าที่ให้จำเลย โจทก์ยื่นคำร้องเรียกเงินทดแทนต่อแรงงานจังหวัดเชียงราย แต่แรงงานจังหวัดเชียงรายปฏิเสธการจ่าย โจทก์ยื่นอุทธรณ์ต่ออธิบดีกรมแรงงานอธิบดีกรมแรงงานให้ยกอุทธรณ์โจทก์ โจทก์รับหนังสือของอธิบดีกรมแรงงานเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2529 ขอให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนการเสียชีวิตของสามีโจทก์ในอัตราร้อยละหกสิบของค่าจ้างรายเดือนมีกำหนด 5 ปี เป็นเงิน 380,304 บาทแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ชอบที่จะฟ้องกรมแรงงานเป็นจำเลยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง อัตราและวิธีเรียกเก็บเงิน ฯลฯ ข้อ24, 25 จำเลยเป็นนายจ้างและได้จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนตามประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวแล้ว ไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินทดแทนให้โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ขอให้เรียกกรมแรงงานเข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลแรงงานกลางอนุญาต
จำเลยร่วมให้การว่า คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนของจำเลยร่วมได้พิจารณาข้อเท็จจริงแล้ว ไม่มีพยานหลักฐานว่านายบุญร่วมสามีโจทก์เกิดอุบัติเหตุในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ให้นายจ้างฟ้องโจทก์ขาดอายุความเนื่องจากโจทก์ยื่นฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 30 วันนับแต่วันทราบคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องอัตราและวิธีเรียกเก็บเงินสมทบการจ่ายเงินทดแทนฯ ข้อ 25 ขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลย ศาลแรงงานกลางอนุญาต
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยร่วมจ่ายค่าทดแทนแก่โจทก์ในอัตราร้อยละหกสิบของอัตราค่าจ้างเดือนละ 10,564 บาท มีกำหนด5 ปี เป็นเงิน 380,304 บาท
จำเลยร่วมอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์เป็นภริยาของนายบุญร่วม ธรรมชัย นายบุญร่วมเป็นลูกจ้างจำเลย จำเลยมีหน้าที่จ่ายเงินสมทบกองทุนเงินทดแทน เมื่อวันที่1 มกราคม 2528 นายบุญร่วมประสบอุบัติเหตุถึงแก่ความตาย โจทก์ได้ยื่นเรื่องราวขอรับเงินทดแทนจากสำนักงานแรงงานจังหวัดเชียงราย แต่สำนักงานแรงงานจังหวัดเชียงรายปฎิเสธการจ่ายโจทก์จึงยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนวินิจฉัยว่า นายบุญร่วม มิได้ประสบอันตรายจนถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง จำเลยร่วมได้แจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ดังกล่าวให้โจทก์ทราบและโจทก์ได้ทราบผลการวินิจฉัยยกอุทธรณ์ของจำเลยร่วมเมื่อวันที่ 21กรกฎาคม 2529 โจทก์จึงฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2529และยื่นคำร้องขอให้ศาลแรงงานกลางหมายเรียกกรมแรงงานเข้ามาเป็นจำเลยร่วมเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2529
จำเลยร่วมอุทธรณ์ว่า โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลหมายเรียกกรมแรงงานเข้ามาเป็นจำเลยร่วมเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2529เป็นเวลาเกินกว่า 30 วัน คดีโจทก์จึงขาดอายุความแล้วนั้นพิเคราะห์แล้ว ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องอัตราและวิธีเรียกเก็บเงินสมทบการจ่ายเงินทดแทนของสำนักงานกองทุนเงินทดแทนและการอุทธรณ์ ฯ สำหรับหมวดการจ่ายเงินทดแทนของสำนักงานกองทุนเงินทดแทนในข้อ 15 ให้ลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิยื่นคำร้องเรียกเงินทดแทนจากสำนักงานกองทุนเงินทดแทนข้อ 16 เมื่อได้รับแจ้งตามข้อ 15 ให้สำนักงานกองทุนเงินทดแทนดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริง เมื่อเห็นว่าลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินทดแทน ให้สำนักงานกองทุนเงินทดแทนแจ้งให้ผู้ยื่นคำร้องหรือผู้เกี่ยวข้องทราบ ในกรณีที่เห็นว่าฝ่ายลูกจ้างนั้นไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทน ให้สำนักงานกองทุนเงินทดแทนแจ้งไปเช่นเดียวกัน ส่วนในหมวดการอุทธรณ์ กำหนดไว้ตามข้อ 24 ว่า ลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิซึ่งไม่พอใจคำวินิจฉัยของสำนักงานกองทุนเงินทดแทนตามข้อ 16 ให้อุทธรณ์คำวินิจฉัยต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ทราบคำวินิจฉัย และข้อ 25 กำหนดว่า ‘ให้คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนพิจารณาอุทธรณ์ตามข้อ 23 หรือ 24 โดยไม่ชักช้าและเมื่อได้วินิจฉัยอุทธรณ์แล้วให้แจ้งให้ผู้อุทธรณ์ทราบเป็นหนังสือ…ถ้าผู้อุทธรณ์ไม่พอใจคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้ยื่นฟ้องต่อศาลได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ทราบคำวินิจฉัยอุทธรณ์นั้น’เห็นว่า คดีนี้โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลแรงงานกลางหมายเรียกกรมแรงงานเข้ามาเป็นจำเลยร่วมเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2529ซึ่งมีผลเท่ากับโจทก์ได้ฟ้องกรมแรงงานเป็นจำเลยเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2529 นั้นเอง เมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามที่ศาลแรงงานกลางรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์ได้ทราบคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2529และโจทก์มิได้นำคดีไปฟ้องกรมแรงงานจำเลยร่วมภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่งดังกล่าวแล้ว จึงถือได้ว่าโจทก์มิได้ใช้สิทธิฟ้องคดีภายในกำหนดระยะเวลาตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ฯ ดังกล่าวข้างต้น โจทก์จึงไม่อาจนำคดีมาฟ้องจำเลยร่วมต่อศาลได้
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์.

Share