คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 981/2524

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คนต่างด้าวอาจมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้ หากได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี การที่จำเลยซึ่งเป็นคนต่างด้าวทำสัญญาจองซื้อที่ดินและบ้านพิพาทโดยยังมิได้รับอนุญาต ไม่ทำให้สัญญานี้เป็นโมฆะ ส่วนจำเลยจะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือไม่ จำเลยจะต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 มาตรา 86 วรรคสอง ต่อไป
จำเลยเป็นผู้จองซื้อที่ดินและบ้านพิพาท ผู้ร้องเป็นภริยาไม่ชอบด้วยกฎหมายของจำเลย ดังนั้นการที่ผู้ร้องเข้าอยู่ในที่ดินและบ้านพิพาท จึงเป็นการเข้าอยู่ในฐานะบริวารของจำเลย

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์จำเลย โดยจำเลยยอมออกจากบ้านพิพาท แต่ผู้ร้องไม่ยอมออก โจทก์จึงยื่นคำร้องขอให้บังคับคดี ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องมิใช่บริวารของจำเลย ขอให้ยกคำร้องโจทก์ ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ที่ผู้ร้องฎีกาอีกว่า จำเลยเป็นบุคคลต่างด้าวไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้นั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามกฎหมายคนต่างด้าวอาจมีกรรมสิทธิ์ที่ดินได้ หากได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี การที่จำเลยทำสัญญาจองซื้อที่ดินและบ้านพิพาทโดยยังมิได้รับอนุญาต ก็หาทำให้สัญญาจองซื้อที่ดินและบ้านพิพาทเป็นโมฆะไม่ ส่วนการที่จำเลยจะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือไม่ จำเลยจะต้องปฏิบัติตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 มาตรา 86 วรรคสอง ต่อไปอีก

ที่ผู้ร้องฎีกาต่อไปอีกว่า ผู้ร้องมิใช่บริวารจำเลยนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยเป็นผู้จองซื้อที่ดินและบ้านพิพาท และผู้ร้องก็เบิกความรับว่า เป็นภริยาจำเลยแต่มิได้จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย ดังนั้นการที่ผู้ร้องเข้าอยู่ในที่ดินและบ้านพิพาทจึงเป็นการเข้าอยู่ในฐานะบริวารของจำเลย”

พิพากษายืน

Share