คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15/2497

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ทำสัญญาประนีประนอมต่อพนักงานอำเภอให้เขาไถ่ที่ที่จำเลยยึดไว้ทำต่างดอกเบี้ยแต่ไม่ระบุให้ชำระเงินที่ไหนแม้จะยังไม่ได้ชำระเงินกันตามสัญญาก็ไม่เป็นเหตุให้สัญญานั้นเลิกไปจำเลยยังมีความผูกพันที่จะต้องให้ไถ่ที่นั้นอยู่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อ 5 ปีมานี้ นายเฉื่อยบิดาโจทก์ได้กู้เงินจำเลย 350 บาทมอบนาพิพาทไม่มีโฉนดให้จำเลยทำกินต่างดอกเบี้ยมาในเดือน 5 ปี 2494 บิดาโจทก์ป่วย ได้มอบอำนาจให้โจทก์ไปขอไถ่ที่ดังกล่าวจากจำเลย จำเลยไม่ยอม โจทก์ไปร้องขอให้กรมการอำเภอองครักษ์เปรียบเทียบ อำเภอเปรียบเทียบให้จำเลยคืนนาให้โจทก์ และให้โจทก์เสียค่าไถ่ถอนเป็นเงิน 600 บาท โจทก์และจำเลยต่างตกลงตามคำเปรียบเทียบของกรมการอำเภอ โดยมีกำหนดว่า โจทก์จะชำระเงินให้ภายในเดือนมกราคม 2495 และจำเลยยอมมอบที่ดินให้โจทก์เมื่อครบกำหนดตามข้อตกลงแล้ว โจทก์ได้นำเงินไปชำระให้จำเลยไม่ยอมรับโจทก์ไปร้องต่อกรมการอำเภอองครักษ์ให้เรียกจำเลยมาบังคับตามยอมจำเลยก็ไม่ยอม ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยรับเงิน 600 บาทและมอบที่ดินคืนให้โจทก์

จำเลยให้การว่า ความจริงบิดาโจทก์ได้ทำหนังสือสัญญาขายฝากที่พิพาทให้จำเลยไว้เป็นเงิน 350 บาท มีกำหนดไถ่คืน 1 ปี เมื่อครบกำหนดแล้วบิดาโจทก์ไม่ไถ่ถอน จนบัดนี้เป็นเวลา 7 ปี จำเลยครอบครองมาย่อมได้กรรมสิทธิ์ตามกฎหมายแล้ว และที่พิพาทไม่ใช่ของโจทก์เป็นของบิดาโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง แม้บิดาโจทก์วายชนม์ไปแล้วโจทก์ก็ยังไม่ได้รับกรรมสิทธิ์แต่ประการใด ทั้งนางเลี่ยมมารดาโจทก์ก็ยังมีชีวิตอยู่ โจทก์จะเอาที่ดินซึ่งไม่ใช่ของตนมาฟ้องไม่ได้ อนึ่งตามที่กรมการอำเภอได้เปรียบเทียบนั้น เมื่อถึงกำหนดแล้วโจทก์ก็ไม่นำเงินมาชำระต้องถือว่าโจทก์ผิดนัด ต่อมาโจทก์ก็จะขอไถ่จากจำเลยเป็นเงิน1,000 บาท จำเลยไม่ยอมตกลงด้วยจะเอา 3,000 บาท โจทก์ไม่ยอมได้นำคดีมาฟ้อง จำเลยจึงไม่ยอมรับเงินและไม่ยอมคืนที่ให้โจทก์เพราะโจทก์ผิดนัดเหลวไหล ขอให้ศาลยกฟ้อง

ศาลจังหวัดนครนายกพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของที่พิพาทซึ่งถูกรบกวนสิทธิ จึงไม่มีอำนาจฟ้อง และว่าโจทก์เป็นผู้ผิดนัดดังจำเลยต่อสู้ พิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียมกับค่าทนาย 100 บาทแทนจำเลย

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยรับเงิน 600 บาทจากโจทก์ และคืนนาพิพาทให้โจทก์ กับให้จำเลยเสียค่าฤชาธรรมเนียมทั้ง 2 ศาลและค่าทนายอีก 150 บาทแทนโจทก์

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาคดีนี้แล้ว ทางพิจารณาได้ความตามคำพยานโจทก์ว่า นายเฉื่อยบิดาโจทก์เป็นผู้นำนาพิพาทไปขายฝากแก่จำเลยเมื่อ 5-6 ปีมานี้ พอบิดาตายโจทก์ไปขอไถ่จากจำเลย ในที่สุดได้ทำสัญญากันที่อำเภอองครักษ์ ยอมให้ไถ่เป็นเงิน 600 บาท แต่ไม่ได้ระบุสถานที่ชำระเงิน เป็นแต่อำเภอสั่งให้ไปวางเงินกันที่บ้านผู้ใหญ่บ้าน ครั้นวันที่ 3 ขึ้น 4 ค่ำ 2495 โจทก์นำเงินไปชำระที่บ้านผู้ใหญ่บ้านประสาน ผู้ใหญ่บ้านประสานได้บอกให้จำเลยไปรับเงินแล้ว จำเลยก็ไม่ไป ต่อมาเดือนกุมภาพันธ์ โจทก์มาอำเภอพบจำเลยปลัดพยุงเรียกเข้าไปบอกว่า จำเลยไม่ยอมให้ไถ่ที่พิพาทตามราคาที่เปรียบเทียบ ถ้าจะไถ่ต้องไถ่ 3,000 บาท โจทก์ขอให้ 1,000 บาทก็ไม่ตกลงกัน โจทก์จึงมาฟ้อง

ฎีกาของจำเลยข้อ 1 ก. คัดค้านว่า เดิมนายเฉื่อยบิดาโจทก์ได้ทำสัญญากู้เงินจำเลย และมอบที่ดินรายพิพาทให้จำเลยทำต่างดอกเบี้ย และในวันพิจารณาโจทก์กลับนำสืบในทำนองโจทก์ได้ขายที่ดินรายพิพาทให้จำเลยทำนองขายฝาก ซึ่งเป็นการขัดกับฟ้องจึงไม่ควรรับไว้พิจารณานั้น ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้โจทก์ไม่ได้ฟ้องให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาที่จำเลยกล่าว แต่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งกรมการอำเภอเป็นผู้ทำสัญญาลงวันที่ 3 เมษายน 2494

ข้อที่จำเลยฎีกาคัดค้านว่า โจทก์มิใช่คู่สัญญากับจำเลย ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อโจทก์เข้าเป็นคู่สัญญากับจำเลยตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวข้างต้นแล้ว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยให้ปฏิบัติตามสัญญานั้นได้

ส่วนข้อที่จำเลยฎีกาว่า สัญญาประนีประนอมยอมความมิได้ระบุสถานที่ให้ชัดแจ้งว่า ให้โจทก์ชำระเงินให้จำเลย ณ สถานที่ใด โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องชำระเงินให้จำเลยที่ว่าการอำเภอองครักษ์นั้นศาลฎีกาเห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่า นายประวิช ปลัดอำเภอองครักษ์ผู้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความนี้ได้บอกให้คู่สัญญาไปชำระเงินกันที่บ้านผู้ใหญ่บ้านก็ได้ โจทก์ได้นำเงินไปชำระที่บ้านผู้ใหญ่บ้านประสาน และผู้ใหญ่ประสานได้บอกให้จำเลยไปรับเงินแล้ว จำเลยไม่ไปพฤติการณ์เป็นเช่นนี้ไม่มีเหตุอันจะทำให้สัญญาประนีประนอมเลิกไปจำเลยยังคงมีความผูกพันตามสัญญาอยู่ ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น

จึงพิพากษายืน ให้ยกฎีกาจำเลยเสีย และให้จำเลยเสียค่าทนายความชั้นฎีกาแทนโจทก์เป็นเงิน 50 บาท

Share