แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลย ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2537 และจำเลยได้จ่ายค่าชดเชยและเงินบำเหน็จจำนวน 424,083 บาท แก่โจทก์ โจทก์ได้ทำหนังสือตามบันทึกเอกสารหมาย จ.7 ให้แก่จำเลย ความว่า “ตามที่ ชสท.(จำเลย)ได้เลิกจ้างข้าพเจ้าตามคำสั่งที่ 46/2537 วันที่ 25 พฤศจิกายน2537 ข้าพเจ้าได้รับเงินบำเหน็จตามระเบียบ ชสท.ว่าด้วยการพนักงาน ชสท. พ.ศ. 2535 และเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานเป็นเงิน424,083 บาท ถูกต้องแล้ว และจะไม่ฟ้องร้องดำเนินคดีแต่ประการใดทั้งสิ้น” ข้อความในเอกสารที่โจทก์ลงลายมือชื่อให้ไว้แก่จำเลยดังกล่าวได้ระบุประเภทของเงินไว้เฉพาะเงินบำเหน็จและค่าชดเชยเท่านั้น มิได้ระบุถึงค่าเสียหายเนื่องจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมและเงินโบนัสด้วยแต่อย่างใด ข้อความตอนท้ายที่ว่าจะไม่ฟ้องร้องดำเนินคดีแต่ประการใด ซึ่งจำเลยถือว่าเป็นการที่โจทก์สละสิทธิหรือปลดหนี้ให้แก่จำเลยนั้น ข้อความดังกล่าวหาได้ระบุไว้โดยแจ้งชัดว่าโจทก์ทั้งสองได้ปลดหนี้ในเงินอื่น ๆ รวมทั้งค่าเสียหายเนื่องจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมและเงินโบนัสด้วยไม่ บันทึกตามเอกสารหมาย จ.7 ดังกล่าวโจทก์เพียงแต่รับรองว่าจะไม่ฟ้องร้องจำเลยเฉพาะที่เกี่ยวกับเงินบำเหน็จและค่าชดเชยเท่านั้น กรณีไม่อาจถือได้ว่าโจทก์สละสิทธิเรียกร้องในค่าเสียหายเนื่องจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมและเงินโบนัสด้วย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายเนื่องจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมและเงินโบนัสจากจำเลยได้ ปัญหาที่ว่าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมหรือไม่ หากเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหายเพียงใด และโจทก์มีสิทธิได้รับเงินโบนัสหรือไม่จำนวนเท่าใดนั้นเป็นข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางยังมิได้วินิจฉัยศาลฎีกาเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยในปัญหาดังกล่าวต่อไป
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อเดือนเมษายน 2511 จำเลยจ้างโจทก์เป็นพนักงานประจำ ตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายการพิมพ์อัตราเงินเดือน 18,140 บาท ต่อมาวันที่ 25 พฤศจิกายน 2537 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จและเงินชดเชยให้โจทก์จำนวน 424,083 บาท และให้โจทก์ลงชื่อในบันทึกการรับเงินไว้โดยโจทก์ไม่สมัครใจ หากโจทก์ไม่ยอมลงชื่อในบันทึกดังกล่าวจำเลยจะไม่ยอมจ่ายเงินบำเหน็จและเงินชดเชยให้โจทก์และจะเปลี่ยนคำสั่งจากเลิกจ้างเป็นไล่ออกจากงาน การกระทำของจำเลยเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม โจทก์ได้รับเสียหายขอคิดค่าเสียหายเป็นเงิน 471,640 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ15 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างจนถึงวันฟ้องรวมเป็นเงินทั้งสิ้น501,118 บาท และจำเลยต้องจ่ายเงินโบนัสในปี 2536 และ 2537ปีละ 1 เดือน เป็นเงิน 36,280 บาท แก่โจทก์ด้วย ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหาย 501,118 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ จ่ายเงินโบนัสจำนวน36,280 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะจ่ายเงินเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์บกพร่องและปฏิบัติงานส่อไปในทางประพฤติมิชอบ ไม่นำพาต่อการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับแบบแผนวิธีปฏิบัติ หย่อนสมรรถภาพในการทำงานกระด้างกระเดื่องต่อผู้บังคับบัญชา ปฏิบัติตนเป็นปฏิปักษ์ต่อการบริหารของจำเลย การปฏิบัติงานไม่เป็นที่ไว้วางใจของจำเลยส่อไปในทางทุจริตขาดความเชื่อถือ และโจทก์สร้างความแตกแยกแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา จำเลยได้ตั้งอนุกรรมการขึ้นตรวจสอบการปฏิบัติงานของโจทก์โดยไม่ได้กลั้นแกล้งโจทก์ คณะอนุกรรมการดังกล่าวเสนอให้มีคำสั่งไล่ออกจากงาน แต่จำเลยให้ความปรานี จึงมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์เพื่อให้ได้รับเงินบำเหน็จและเงินชดเชยจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยมีเหตุอันสมควรมิใช่การเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายให้โจทก์ ส่วนเงินโบนัสจำเลยจะใช้ดุลพินิจจ่ายให้แก่ลูกจ้างที่ปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริตขยันขันแข็งและจ่ายให้ต่อเมื่อลูกจ้างคนนั้นยังเป็นลูกจ้างในขณะรับเงินโบนัสเท่านั้นโจทก์จึงไม่มีสิทธิรับเงินโบนัสและไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยถึงร้อยละสิบห้าต่อปีของเงินใด ๆ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะในขณะเลิกจ้างโจทก์ได้ทำหลักฐานใจความสำคัญว่าจะไม่ฟ้องร้องดำเนินคดีแต่ประการใด เป็นการสละสิทธิฟ้องร้องของโจทก์โดยสมบูรณ์แล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า (1) โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ (2) การเลิกจ้างเป็นธรรมหรือไม่ หากไม่เป็นธรรมต้องใช้ค่าเสียหายเพียงใด (3) จำเลยต้องรับผิดเงินโบนัสหรือไม่ จำนวนเท่าใดแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยต่อมาวันที่ 25 พฤศจิกายน 2537 จำเลยเลิกจ้างโดยจ่ายเงินบำเหน็จและเงินชดเชยให้เป็นเงิน 424,083 บาท โจทก์ทำบันทึกรับเงินดังกล่าวไว้ตามเอกสารหมาย จ.7 ซึ่งมีใจความสำคัญว่า โจทก์ได้รับเงินบำเหน็จและค่าชดเชยตามกฎหมายจากจำเลยครบถ้วนแล้วและจะไม่ฟ้องร้องดำเนินคดีแต่ประการใดทั้งสิ้น บันทึกดังกล่าวเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความที่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างยอมสละสิทธิเรียกร้องเงินที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับจากจำเลยนายจ้างทุกประเภทและมีผลเป็นการระงับข้อพิพาทให้มูลจ้างแรงงานระหว่างโจทก์จำเลยซึ่งมีอยู่หรือจะมีขึ้นโจทก์คงได้สิทธิตามที่แสดงไว้ในบันทึกหรือสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวเท่านั้น หามีสิทธิเรียกร้องอื่นใดจากจำเลยอีกต่อไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 850, 851 และ 852 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์อุทธรณ์ว่า บันทึกตามเอกสารหมาย จ.7 มิใช่สัญญาประนีประนอมยอมความ สิทธิในการฟ้องเรียกค่าเสียหายเนื่องจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม เป็นสิทธิเรียกร้องที่ไม่อาจตกลงประนีประนอมยอมความหรือสละเสียได้ ข้อตกลงตามบันทึกตามเอกสารหมาย จ.7 ขัดต่อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนจึงเป็นโมฆะ และทั้งเป็นการอ้างสิทธิในการฟ้องคดีของโจทก์ซึ่งไม่มีผลบังคับพิเคราะห์แล้วจำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2537 และจำเลยได้จ่ายค่าชดเชยและเงินบำเหน็จจำนวน 424,083 บาท แก่โจทก์ โจทก์ได้ทำหนังสือตามบันทึกเอกสารหมาย จ.7 ให้แก่จำเลย ความว่า”ตามที่ ชสท. (จำเลย) ได้เลิกจ้างข้าพเจ้าตามคำสั่งที่ 46/2537วันที่ 25 พฤศจิกายน 2537 ข้าพเจ้าได้รับเงินบำเหน็จตามระเบียบชสท.ว่าด้วยการพนักงาน ชสท. พ.ศ. 2535 และเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน เป็นเงิน 424,083 บาท ถูกต้องแล้ว และจะไม่ฟ้องร้องดำเนินคดีแต่ประการใดทั้งสิ้น” เห็นว่า ข้อความในเอกสารที่โจทก์ลงลายมือชื่อให้ไว้แก่จำเลยดังกล่าวได้ระบุประเภทของเงินไว้เฉพาะเงินบำเหน็จและค่าชดเชยเท่านั้น มิได้ระบุถึงค่าเสียหายเนื่องจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมและเงินโบนัสด้วยแต่อย่างใดข้อความตอนท้ายที่ว่าจะไม่ฟ้องร้องดำเนินคดีแต่ประการใด ซึ่งจำเลยถือว่าเป็นการที่โจทก์สละสิทธิหรือปลดหนี้ให้แก่จำเลยนั้นศาลฎีกาเห็นว่าข้อความดังกล่าวหาได้ระบุไว้โดยแจ้งชัดว่าโจทก์ทั้งสองได้ปลดหนี้ในเงินอื่น ๆ รวมทั้งค่าเสียหายเนื่องจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมและเงินโบนัสด้วยไม่ บันทึกตามเอกสารหมายจ.7 ดังกล่าวโจทก์เพียงแต่รับรองว่าจะไม่ฟ้องร้องจำเลยเฉพาะที่เกี่ยวกับเงินบำเหน็จและค่าชดเชยเท่านั้น กรณีไม่อาจถือได้ว่าโจทก์สละสิทธิเรียกร้องในค่าเสียหายเนื่องจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมและเงินโบนัสด้วย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องมีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายเนื่องจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมและเงินโบนัสจากจำเลยได้ เมื่อวินิจฉัยดังกล่าวแล้วก็ไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของโจทก์อีกต่อไป แต่ปัญหาที่ว่าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมหรือไม่ หากเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหายเพียงใดและโจทก์มีสิทธิได้รับเงินโบนัสหรือไม่ จำนวนเท่าใดนั้นเป็นข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางยังมิได้วินิจฉัย เห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยในปัญหาดังกล่าวต่อไป
พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยตามประเด็นพิพาทข้อ 2 และข้อ 3 ที่กำหนดไว้ แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี