แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 จะต้องเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ซึ่งอยู่ในหน้าที่ของเจ้าพนักงานนั้นเองโดยมิชอบด้วยเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือโดยทุจริต ถ้าไม่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้นั้นโดยตรงแล้ว ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตราดังกล่าว ขณะเกิดเหตุอำนาจหน้าที่ในการแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดชลบุรี เป็นอำนาจหน้าที่ของเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2541 มาตรา 30 จำเลยทั้งหกมีอำนาจตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมอบหมายตามมาตรา 13 ของพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งมิได้กำหนดให้จำเลยทั้งหกในฐานะคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ในการแต่งตั้งโยกย้ายพนักงานของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง การที่จำเลยทั้งหกมีการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดชลบุรีแล้วมีมติว่า ให้ส่งตัวโจทก์คืนสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งและให้แต่งตั้งหัวหน้างานสืบสวนสอบสวนคนใหม่แทนโจทก์ จำเลยทั้งหกกระทำไปโดยไม่มีอำนาจหน้าที่ ทั้งไม่ปรากฏว่าหลังจากจำเลยที่ 1 ทำหนังสือขอส่งตัวโจทก์คืนไปยังเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง เลขาธิการมีคำสั่งเกี่ยวกับหนังสือดังกล่าวอย่างไร การที่โจทก์ได้รับคำสั่งให้ไปช่วยราชการที่ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ก็เป็นเวลาตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2548 ก่อนที่จะมีมติดังกล่าว ส่วนที่โจทก์ได้รับคำสั่งให้ช่วยราชการต่อเนื่องกันมาจนถึงวันที่ 16 กรกฎาคม 2550 ตามคำสั่งของเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยไม่ปรากฏว่าการมีคำสั่งดังกล่าวสืบเนื่องมาจากการลงมติของจำเลยทั้งหกที่ให้ส่งตัวโจทก์คืน การกระทำของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 จึงหาใช่เป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ หรือเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตาม ป.อ. มาตรา 157 แต่อย่างใด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งหกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 136, 137, 157, 326, 328
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูลเฉพาะข้อหาร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ให้ประทับฟ้องในข้อหาดังกล่าว ส่วนข้อหาอื่นให้ยกฟ้อง
จำเลยทั้งหกให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งหกมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จำคุกคนละ 1 ปี ปรับคนละ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้คนละ 2 ปี หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
โจทก์และจำเลยทั้งหกอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องและยกอุทธรณ์โจทก์
โจทก์ฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (1) จึงให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ออกจากสารบบความ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงตามที่คู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งรับฟังเป็นยุติว่า ตามวันเวลาที่เกิดเหตุตามฟ้อง สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดชลบุรี มีจำเลยที่ 1 เป็นประธานกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดชลบุรี จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เป็นกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดชลบุรี จำเลยที่ 6 เป็นผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดชลบุรี โจทก์เป็นหัวหน้างานสืบสวนสอบสวนสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2548 จำเลยทั้งหกเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดชลบุรี ครั้งที่ 23/2548 เมื่อถึงระเบียบวาระที่ 4 ที่ประชุมได้พิจารณาเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของโจทก์ แล้วที่ประชุมมีมติให้ส่งตัวโจทก์คืนสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2548 ตามรายงานการประชุม ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ส่งรายงานการประชุมดังกล่าวพร้อมหนังสือขอส่งตัวโจทก์คืนถึงเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง และให้พิจารณาบุคคลที่เหมาะสมและเห็นสมควรมาดำรงตำแหน่งแทนโจทก์ ตามหนังสือลงวันที่ 22 สิงหาคม 2548 แต่ไม่มีการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลใดมาดำรงตำแหน่งแทนโจทก์ วันที่ 13 กรกฎาคม 2549 จำเลยที่ 1 มีหนังสือถึงเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้งขอให้พิจารณาแต่งตั้งร้อยตำรวจเอกสมบัติ ดำรงตำแหน่งหัวหน้างานสืบสวนสอบสวนสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดชลบุรี แต่ไม่ปรากฏว่าสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งมีคำสั่งตามหนังสือฉบับดังกล่าวของจำเลยที่ 1 สำหรับโจทก์รับราชการที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดชลบุรีตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2547 เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2548 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งมีคำสั่งที่ 235/2548 ให้โจทก์ไปช่วยปฏิบัติงานด้านกิจการสืบสวนและสอบสวนและวินิจฉัยที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2548 ถึงวันที่ 15 กันยายน 2548 หลังจากครบกำหนดแล้ว สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งมีคำสั่งให้โจทก์ปฏิบัติงานต่อไปตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2548 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2548 ตามคำสั่งที่ 279/2548 ลงวันที่ 20 กันยายน 2548 และตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2548 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2548 ตามคำสั่งที่ 292/2548 ลงวันที่ 30 กันยายน 2548 เมื่อครบกำหนดตามคำสั่งดังกล่าวแล้วสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งมีคำสั่งที่ 317/2548 ลงวันที่ 31 ตุลาคม 2548 ให้โจทก์ช่วยปฏิบัติงานประจำสำนักงานสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย 2 ด้านกิจการสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัยเป็นการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2548 ต่อมาวันที่ 6 กรกฎาคม 2550 โจทก์ทำบันทึกถึงผู้อำนวยการสำนักงานสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย 2 ขอให้ส่งตัวโจทก์กลับไปปฏิบัติงานที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดชลบุรี จากนั้นสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งมีคำสั่งที่ 263/2550 ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2550 สั่งให้โจทก์กลับไปปฏิบัติหน้าที่ที่สังกัดเดิม มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า จำเลยทั้งหกไม่มีอำนาจหน้าที่ในการโยกย้ายโจทก์ก็ตาม แต่จำเลยทั้งหกมีอำนาจหน้าที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบและกฎหมาย และมีอำนาจหน้าที่ต้องรายงานหรือเสนอข้อความจริงต่อเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง แต่ข้อเท็จจริงปรากฏจากการนำสืบของโจทก์ว่าจำเลยทั้งหกนำเรื่องที่ไม่เป็นความจริงกล่าวหาโจทก์ในที่ประชุม แล้วนำความไม่จริงดังกล่าวรายงานต่อเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อกลั่นแกล้งย้ายโจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ดังกล่าวจึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เห็นว่า ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จะต้องเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ซึ่งอยู่ในหน้าที่ของเจ้าพนักงานนั้นเองโดยมิชอบด้วยเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือโดยทุจริต ถ้าไม่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้นั้นโดยตรงแล้ว ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตราดังกล่าว ข้อเท็จจริงได้ความจากทางนำสืบของโจทก์และจำเลยทั้งหกตรงกันว่า ขณะเกิดเหตุอำนาจหน้าที่ในการแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดชลบุรี เป็นอำนาจหน้าที่ของเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2541 มาตรา 30 จำเลยทั้งหกมีอำนาจตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมอบหมายตามมาตรา 13 ของพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งมิได้กำหนดให้จำเลยทั้งหกในฐานะคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ในการแต่งตั้งโยกย้ายพนักงานของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง การที่จำเลยทั้งหกมีการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดชลบุรีเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2548 แล้วมีมติว่า ให้ส่งตัวโจทก์คืนสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งและให้แต่งตั้งหัวหน้างานสืบสวนสอบสวนคนใหม่แทนโจทก์ จำเลยทั้งหกกระทำไปโดยไม่มีอำนาจหน้าที่ ทั้งไม่ปรากฏว่าหลังจากจำเลยที่ 1 ทำหนังสือขอส่งตัวโจทก์คืนไปยังเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง เลขาธิการมีคำสั่งเกี่ยวกับหนังสือดังกล่าวอย่างไร การที่โจทก์ได้รับคำสั่งให้ไปช่วยราชการที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ก็เป็นเวลาตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2548 ก่อนที่จะมีมติดังกล่าว ส่วนที่โจทก์ได้รับคำสั่งให้ช่วยราชการต่อเนื่องกันมาจนถึงวันที่ 16 กรกฎาคม 2550 ตามคำสั่งของเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยไม่ปรากฏว่าการมีคำสั่งดังกล่าวสืบเนื่องมาจากการลงมติของจำเลยทั้งหกที่ให้ส่งตัวโจทก์คืน การกระทำของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 จึงหาใช่เป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ หรือเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 แต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน