แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยมีอาชีพรับเหมางานก่อสร้างทั่วไปเป็นปกติโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกที่จำเลยประมูลได้จึงเป็นงานปกติของธุรกิจหรือการค้าของจำเลยจำเลยจ้างโจทก์ทำงานในโครงการดังกล่าวแม้จะกำหนดวันสิ้นสุดสัญญาจ้างไว้แต่ตามสัญญาจ้างระบุว่าในกรณีที่สัญญาสิ้นสุดตามกำหนดแต่โครง>การยังไม่แล้วเสร็จจำเลยอาจพิจารณาต่อสัญญากับลูกจ้างตามความจำเป็นของงานทั้งนี้จะได้ทำการตกลงกับลูกจ้างที่ได้รับการต่อสัญญาเป็นรายๆไปจึงไม่ใช่เป็นการจ้างให้ทำงานในลักษณะที่เป็นครั้งคราวตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานข้อ46
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งเก่าเป็นลูกจ้างจำเลย ทำงานในตำแหน่งช่างเชื่อม ช่างผู้ช่วยช่าง ได้รับค้าจ้างอัตราสุดท้ายวันละ 144 บาท ถึงวันละ 560 บาท ต่อมาวันที่30 กันยายน 2538 และวันที่ 31 ตุลาคม 2538 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งเก้าอ้างเหตุว่างานหมด ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน46,800 บาท 50,400 บาท 4,320 บาท 10,800 บาท 10,800 บาท6,000 บาท 10,800 บาท 36,000 บาท และ 16,800 บาท แก่โจทก์ทั้งเก้าตามลำดับ
จำเลยให้การว่า สัญญาจ้างระหว่างจำเลยกับโจทก์ทั้งเก้าเป็นสัญญาที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนไม่เกิน 2 ปี และจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์แต่ละคนตามกำหนดระยะเวลาในสัญญาแต่ละฉบับ ซึ่งงานที่จำเลยจ้างโจทก์แต่ละคนทำนั้นเป็นงานโครงการมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานที่แน่นอน อีกทั้งยังเป็นงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุดหรือความสำเร็จของงาน และมีกำหนดแล้วเสร็จของงานภายในเวลาไม่เกิน 2 ปีขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ทั้งเก้าเป็นลูกจ้างรายวันมีอายุการทำงาน 13 เดือน 18 เดือน 6 เดือน 6 เดือน11 เดือน 10 เดือน 10 เดือน 18 เดือน และ 5 เดือน ตามลำดับโดยโจทก์ทั้งเก้าได้รับอัตราค่าจ้างวันละ 180 บาท 320 บาท 144 บาท360 บาท 360 บาท 200 บาท 360 บาท 360 บาท และ 560 บาทตามลำดับ จำเลยประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้างโครงการต่าง ๆตามที่ประมูลได้ ประกอบกิจการดังกล่าวมาประมาณ 5 ปีแล้วโครงการแต่ละโครงการจะทำสัญญาจ้างกับลูกจ้างเป็นช่วงระยะเวลาตามโครงการ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับงานหรือโครงการที่ว่าจ้างไม่มีโครงการหรืองานใดมีระยะเวลาเกิน 2 ปี เฉพาะโครงการที่จ้างโจทก์ทั้งเก้าเริ่มโครงการตั้งแต่เดือนมีนาคม 2537และสิ้นสุดโครงการเดือนมกราคม 2539 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งเก้าเพราะครบตามกำหนดระยะเวลาในสัญญาตามเอกสารหมาย จล.1ถึง จล.9 และวินิจฉัยว่าการประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้างโครงการหรืองานต่าง ๆ ของจำเลยเป็นงานปกติของธุรกิจหรือการค้าของจำเลย แม้จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ทั้งเก้าที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนและเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้นก็ตามจำเลยก็ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งเก้าในค่าชดเชยพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ทั้งเก้าจำนวน 43,200 บาท 28,800 บาท4,320 บาท 10,800 บาท 10,800 บาท 6,000 บาท 10,800 บาท32,400 บาท 16,800 บาท ตามลำดับ
จำเลย อุทธรณ์ ต่อ ศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าจำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งเก้า ตามที่ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 วรรคสี่กำหนดไว้นั้น ประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว ข้อ 46 มีข้อความระบุไว้ในวรรคสามและวรรคสี่มีใจความว่านายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนและเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้น แต่ต้องเป็นการจ้างงานในโครงการที่มิใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของนายจ้างหรืองานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุดหรือความสำเร็จของงาน แต่กรณีจำเลย จำเลยยอมรับตามที่ปรากฏอยู่ในอุทธรณ์ข้อ 2.1 ว่า จำเลยรับหมางานก่อสร้างทั่วไปตามที่จะประมูลได้ ซึ่งต้องหมายความว่า การรับเหมางานก่อสร้างทุกชนิดเป็นงานปกติของธุรกิจหรือการค้าของจำเลย โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกเกาะสีชังที่จำเลยประมูลได้ย่อมเห็นได้ชัดแจ้งว่าเป็นงานก่อสร้างเช่นเดียวกัน จึงเป็นงานปกติของธุรกิจหรือการค้าของจำเลย ส่วนที่จำเลยอ้างว่าตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จล.1ถึง จล.9 จำเลยได้ทำสัญญาจ้างโจทก์ทั้งเก้าทำงานที่มีลักษณะครั้งคราวนั้น ตามสัญญาจ้างดังกล่าวจำเลยว่าจ้างโจทก์ทั้งเก้าให้ทำงานโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกเกาะสีชัง ระยะที่ 1ซึ่งแม้ตามสัญญาจ้างจะกำหนดวันสิ้นสุดสัญญาจ้างไว้ แต่ตามสัญญาจ้างข้อ 15 การต่อสัญญาจ้างมีข้อความว่า ในกรณีที่สัญญาสิ้นสุดตามกำหนดแต่โครงการยังไม่แล้วเสร็จ บริษัทฯ อาจพิจารณาต่อสัญญากับลูกจ้างตามความจำเป็นของงาน ทั้งนี้จะได้ทำการตกลงกับลูกจ้างที่ได้รับการต่อสัญญาเป็นราย ๆ ไป เห็นว่า สัญญาจ้างที่จำเลยว่าจ้างโจทก์ทั้งเก้าเป็นการว่าจ้างให้ทำงานในโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกเกาะสีชัง ระยะที่ 1 ทั้งโครงการและเมื่อครบกำหนดเวลาตามสัญญาจ้างหากโครงการยังไม่เสร็จก็มีการต่อสัญญากันได้อีก เช่นนี้ จึงไม่ใช่เป็นการจ้างให้ทำงานในลักษณะที่เป็นครั้งคราวดังที่จำเลยอ้าง ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค้าชดเชยแก่โจทก์ทั้งเก้า ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน