แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ก่อนเกิดเหตุจำเลยกับผู้ตายพักอาศัยอยู่ร่วมกันและไม่มีเหตุโกรธเคืองกันมาก่อนจึงไม่มีเหตุผลที่จำเลยจะต้องฆ่าผู้ตายทั้งขณะเกิดเหตุเป็นช่วงชุลมุน จำเลยคว้ามีดทำครัวซึ่งอยู่ใกล้มือแทงไปทันทีเพียงครั้งเดียวโดยไม่มีโอกาสจะเลือกแทงว่าเป็นส่วนไหนของร่างกาย บังเอิญไปถูกอวัยวะสำคัญของร่างกายจึงทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย และจำเลยก็มิได้แทงผู้ตายซ้ำอีก ทั้งที่มีโอกาสจะทำได้ แสดงให้เห็นว่าจำเลยไม่มีเจตนาฆ่าผู้ตายเพียงแต่มีเจตนาทำร้ายเท่านั้น เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายจำเลยจึงต้องมีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 วรรคแรก
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 มิได้ขอให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 290 เมื่อข้อเท็จจริงพิจารณาได้ความว่าจำเลยทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายโดยไม่มีเจตนาฆ่า ศาลก็มีอำนาจลงโทษจำเลยฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192วรรคสุดท้าย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยใช้มีดปลายแหลมใบมีดรวมทั้งด้ามยาวประมาณ 1 ฟุต แทงนายสมจิตร บึงไกร ผู้ตาย ที่บริเวณหน้าอกด้านซ้ายโดยเจตนาฆ่า เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายและจำเลยใช้มีดปลายแหลมดังกล่าวแทงทำร้ายนางราตรี บุญเพ็งที่บริเวณหน้าอกด้านขวา เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 297 และ 91
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288,297 (ที่ถูก 297(8)) เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานฆ่าผู้อื่น ซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 20 ปี จำเลยให้การรับสารภาพชั้นจับกุม มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 หนึ่งในสี่ คงจำคุก 15 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง ผู้ตายและผู้เสียหายถูกคนร้ายใช้มีดปลายแหลมแทงถูกผู้ตายที่บริเวณหน้าอกซ้ายด้านล่างถึงแก่ความตาย ถูกผู้เสียหายบริเวณทรวงอกด้านขวาเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส บาดแผลปรากฏตามรายงานการตรวจศพเอกสารหมาย จ.15 และผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์เอกสารหมาย จ.16มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า จำเลยเป็นคนร้ายที่ใช้มีดปลายแหลมแทงผู้ตายและผู้เสียหายหรือไม่ โจทก์มีนายคำศักดิ์ ศรีโพนทอง นายอรรถพลจันทโคตร และนายมุทธิศักดิ์ บางไกร เป็นประจักษ์พยานเบิกความทำนองเดียวกันว่าขณะพยานกับพวกนั่งดื่มสุรากันภายในห้องพัก ต่อมาเมื่อจำเลยกลับมาถึงที่พักได้นำใบแจ้งหนี้ค่าไฟฟ้าไปยื่นให้นายคำศักดิ์ไปชำระ นายคำศักดิ์จึงให้จำเลยไปจ่ายค่าน้ำประปาจึงเกิดทะเลาะโต้เถียงกัน จำเลยได้ไปหยิบขวดน้ำอัดลมเปล่าในห้องครัวจะตีนายคำศักดิ์แต่นายทองปานเข้าไปห้ามถูกตีบริเวณไหล่นายทองปาน ผู้ตายและผู้เสียหายได้ช่วยกันห้ามจำเลยและดันจำเลยไปทางครัว จึงเกิดชุลมุนกัน จำเลยได้หยิบมีดทำครัวซึ่งยาวประมาณ 1 ฟุต แทงผู้ตาย เมื่อผู้ตายถอยออกมา จำเลยได้แทงอีกหนึ่งครั้งแต่ถูกผู้เสียหาย เห็นว่า ขณะเกิดเหตุพยานกับพวกกำลังดื่มสุรากันย่อมต้องเปิดไฟสว่างบริเวณที่เกิดเหตุตามภาพถ่ายหมาย จ.4 ก็ไม่กว้างนัก เชื่อว่าบริเวณที่เกิดเหตุมีแสงสว่างมากพอที่จะทำให้พยานโจทก์เห็นเหตุการณ์ชัด ทั้งพยานโจทก์เบิกความมีรายละเอียดเป็นขั้นเป็นตอนสอดคล้องเชื่อมโยงกันอย่างมีเหตุมีผล และไม่ปรากฏว่าพยานโจทก์ดังกล่าวเคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน จึงไม่มีเหตุระแวงว่าจะเบิกความให้ร้ายจำเลยเชื่อว่าพยานเบิกความไปตามความจริงที่ได้รู้ได้เห็น นอกจากนี้ผู้เสียหายซึ่งเป็นภริยาจำเลยก็เบิกความรับว่าถูกจำเลยแทง แม้จะไม่มีรายละเอียดเหตุการณ์ตั้งแต่แรกมาก็ตาม แต่ก็เป็นการสนับสนุนคำพยานโจทก์ให้มีน้ำหนักน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น ทั้งตามพฤติการณ์แห่งคดีหลังเกิดเหตุจำเลยและผู้เสียหายได้หลบหนีไปอยู่ที่อื่น ทั้ง ๆ ที่ผู้เสียหายถูกคนร้ายใช้มีดปลายแหลมแทงได้รับอันตรายสาหัสเช่นนี้ จำเลยและผู้เสียหายก็มิได้แจ้งความดำเนินคดีกับคนร้ายแต่ประการใด ทั้งตัวจำเลยกลับเปลี่ยนชื่อใหม่ให้เป็นพิรุธอีกเช่นนี้ทำให้มีเหตุสงสัยน่าเชื่อว่าจำเลยอาจเป็นคนร้ายที่ใช้มีดปลายแหลมแทงผู้ตายและผู้เสียหายก็เป็นได้ นอกจากนี้ร้อยตำรวจเอกธันยวีร์ วงศ์รัตน์ ผู้จับกุมจำเลยเบิกความว่าในชั้นจับกุมได้แจ้งข้อหาจำเลยว่า ฆ่าผู้ตายโดยเจตนาและทำร้ายผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสจำเลยให้การรับสารภาพตามเอกสารหมาย จ.10 ร้อยตำรวจเอกธันยวีร์ เป็นเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติการไปตามหน้าที่ไม่รู้จักจำเลยมาก่อนจึงไม่มีเหตุระแวงว่าจะเบิกความให้ร้ายหรือหลอกลวงจำเลย ที่จำเลยนำสืบว่าถูกหลอกลวงให้ลงชื่อนั้น ก็เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่มีหลักฐานใดมาสนับสนุน จึงไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ที่จำเลยฎีกาว่ากลุ่มพวกผู้ตายมีอาการเมาสุราและมีเรื่องทะเลาะวิวาทกับจำเลย กลุ่มผู้ตายน่าจะเป็นคนแทงผู้ตายนั้น เห็นว่า บริเวณห้องที่เกิดเหตุกว้างเพียง 4 x 5 เมตร จำเลยกับพวกผู้ตายทะเลาะโต้เถียงกันจำเลยนำสืบว่าผู้ตาย นายคำศักดิ์และนายทองปานเข้ามาทำร้ายจำเลยแสดงว่าจำเลยย่อมต้องหันหน้าเข้าหาผู้ตาย นายคำศักดิ์และนายทองปาน แต่จากคำเบิกความของพันตำรวจเอกสมบูรณ์ ตันตระกูล ผู้ตรวจพิสูจน์ศพผู้ตาย ประกอบภาพถ่ายบาดแผลของผู้ตายหมาย จ.17 ได้ความว่าผู้ตายถูกแทงบริเวณหน้าอกด้านซ้ายล่าง ดังนั้น คนที่แทงผู้ตายย่อมต้องอยู่ด้านหน้าผู้ตาย นอกจากนี้พยานโจทก์ต่างเบิกความยืนยันว่าผู้ตายเข้าไปห้ามและดันจำเลยไปทางด้านครัว ฉะนั้น ผู้ตายจึงใกล้ชิดและหันหน้าเข้าหาตัวจำเลยมากที่สุด จึงเป็นไปไม่ได้ที่นายคำศักดิ์และนายทองปานซึ่งอยู่ด้านข้างผู้ตายจะเป็นผู้แทงผู้ตายฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น และที่จำเลยฎีกาว่า หากจำเลยเป็นคนร้ายที่แทงผู้ตายแล้วก็ไม่น่าจะแทงผู้เสียหายซึ่งเป็นภริยาด้วยนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ขณะเกิดเหตุเป็นช่วงชุลมุน จำเลยอาจไม่คาดคิดว่าผู้เสียหายจะเข้ามาช่วยห้ามปราม อาจคิดว่าเป็นพวกของผู้ตายที่จะเข้ามาช่วยรุมทำร้ายจำเลยก็เป็นได้ จึงได้ใช้มีดแทงสวนไปทันที โดยมิได้ตั้งใจ พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยเป็นคนร้ายที่ใช้มีดปลายแหลมแทงผู้ตายและผู้เสียหาย พยานหลักฐานจำเลยไม่สามารถหักล้างพยานโจทก์ได้ ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า การกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดฐานใด ศาลฎีกาเห็นว่า ก่อนเกิดเหตุจำเลยกับผู้ตายพักอาศัยอยู่ร่วมกันและไม่มีเหตุโกรธเคืองกันมาก่อนและเหตุที่เกิดขึ้นครั้งนี้ผู้ตายก็มิได้มีส่วนร่วมก่อเหตุด้วยจึงไม่มีเหตุผลใดที่จำเลยจะต้องฆ่าผู้ตาย ทั้งขณะเกิดเหตุเป็นช่วงชุลมุน จำเลยคว้ามีดทำครัวซึ่งอยู่ใกล้มือแทงไปทันทีเพียงครั้งเดียวโดยไม่มีโอกาสจะเลือกแทงว่าเป็นส่วนไหนของร่างกาย บังเอิญไปถูกอวัยวะสำคัญของร่างกายจึงทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย และจำเลยก็มิได้แทงผู้ตายซ้ำอีก ทั้งที่มีโอกาสจะทำได้ พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าจำเลยไม่มีเจตนาฆ่าผู้ตาย เพียงแต่มีเจตนาทำร้ายเท่านั้น เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายจำเลยจึงต้องมีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 290 วรรคแรก
อนึ่ง แม้โจทก์จะมิได้มีคำขอให้ลงโทษจำเลยตามบทบัญญัติดังกล่าว แต่เป็นข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความ ศาลก็มีอำนาจลงโทษจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสุดท้าย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยฐานฆ่าคนตายโดยเจตนานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290วรรคแรก, 297(8) เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 วรรคแรก ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 ปี คำให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 4 ปี