แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดกับ ณ. และจำเลยที่ 1 ที่ 2 ชำระหนี้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งจึงเป็นลูกหนี้ร่วม โจทก์จะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้คนใดคนหนึ่งสิ้นเชิงหรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก แต่ลูกหนี้ร่วมยังคงต้องผูกพันอยู่ทั่วทุกคนจนกว่าหนี้นั้นจะได้ชำระเสร็จสิ้นเชิงแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 291 การที่โจทก์นำมูลหนี้ดังกล่าวมาฟ้องจำเลยทั้งสามและ ณ. ให้เป็นบุคคลล้มละลายซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 3 และ ณ. เด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายแล้ว โจทก์ได้นำมูลหนี้ตามคำพิพากษาไปขอรับชำระหนี้แม้โจทก์จะยอมรับชำระหนี้จากทายาทของ ณ. เพียงบางส่วนโดยไม่ติดใจขอรับชำระหนี้ส่วนที่เหลือ และขอถอนคำขอรับชำระหนี้ในส่วนนี้ไป ก็หาทำให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมกับ ณ. หลุดพ้นไม่ต้องชำระหนี้ในส่วนที่เหลือไม่ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์ได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 เต็มตามขอ โจทก์จึงยังมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 ในส่วนที่เหลือกรณีมิใช่หนี้สินของบุคคลล้มละลายได้ชำระเต็มจำนวนแล้ว และมิใช่กรณีลูกหนี้ไม่ควรถูกพิพากษาให้ล้มละลาย อันจะเป็นเหตุให้ยกเลิกการล้มละลายของจำเลยที่ 3 ได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 135(2) และ (3)
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามขอให้ล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 3 เด็ดขาดเมื่อวันที่14 กันยายน 2533 และพิพากษาให้จำเลยที่ 3 เป็นบุคคลล้มละลายเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม2534
จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องว่า มูลหนี้ของจำเลยที่ 3 ในคดีนี้เป็นมูลหนี้เดียวกับคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ ล.124/2533 ของศาลแพ่งธนบุรี ระหว่าง ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) โจทก์ นายณรงค์ วิรัตน์โยสินทร์ หรือนายณรงค์ชัยสุริยะณรงค์ชัย จำเลย ซึ่งคดีดังกล่าวทายาทของนายณรงค์ได้ชำระหนี้ให้แก่บรรดาเจ้าหนี้ที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้รวมทั้งโจทก์ในคดีนี้จนครบถ้วนและถอนคำขอรับชำระหนี้ ศาลแพ่งธนบุรีมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายของนายณรงค์แล้ว จึงไม่มีหนี้ที่จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้และโจทก์อีก จำเลยที่ 3 ไม่สมควรเป็นบุคคลล้มละลายอีกต่อไปจำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ขอให้มีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายของจำเลยที่ 3 แล้ว แต่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งให้ยกคำร้อง จำเลยที่ 3 จึงยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้มีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายของจำเลยที่ 3
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า โจทก์ได้รับชำระหนี้จากทายาทของนายณรงค์ในคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ ล.124/2533 ของศาลแพ่งธนบุรี เพียงบางส่วนจำนวน10,933,418.28 บาท โดยถือว่าเป็นการชำระหนี้เสร็จสิ้นเฉพาะส่วนของนายณรงค์เท่านั้นสำหรับหนี้ส่วนที่เหลือโจทก์ยังประสงค์จะบังคับเอาจากจำเลยทั้งสามในคดีนี้เนื่องจากนายณรงค์กับจำเลยทั้งสามในคดีนี้เป็นลูกหนี้ร่วมกันตามคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 379/2522 และ 1145/2529 ของศาลชั้นต้น การที่โจทก์ได้รับชำระหนี้จากทายาทของนายณรงค์นั้นมีผลเพียงทำให้สิทธิในการได้รับชำระหนี้ในคดีนี้ลดลงไปตามส่วนเท่านั้น โจทก์ยังคงมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 คดีนี้อีกจำนวน25,624,457.67 บาท คำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่ให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 3ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 3 เป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่379/2522 และ 1145/2529 ของศาลชั้นต้น ซึ่งมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และนายณรงค์ วิรัตน์โยสินทร์ ในฐานะลูกหนี้ร่วม แต่จำเลยทั้งสามและนายณรงค์ไม่ชำระหนี้ โจทก์จึงนำมูลหนี้ตามคำพิพากษาทั้งสองคดีดังกล่าวฟ้องจำเลยทั้งสามและนายณรงค์เป็นคดีล้มละลาย 2 คดี คดีแรกคือคดีนี้ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 3 เด็ดขาด ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเนื่องจากจำเลยดังกล่าวถูกศาลชั้นต้นสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดไว้ตามคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ ล.10/2532 และต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 3 เป็นบุคคลล้มละลาย และคดีที่ 2 คือคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ ล.124/2533 ซึ่งศาลแพ่งธนบุรีมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของนายณรงค์เด็ดขาดและพิพากษาให้นายณรงค์เป็นบุคคลล้มละลาย สำหรับคดีนี้โจทก์ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 จำนวน 36,557,875.95 บาท ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์ได้รับชำระหนี้เต็มตามขอแต่โจทก์ยังไม่ได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 ส่วนคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ ล.124/2533 โจทก์ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของนายณรงค์จำนวน 36,444,725.95 บาท ศาลแพ่งธนบุรีมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ได้รับชำระหนี้เต็มตามขอ ต่อมานายณรงค์ถึงแก่กรรม ทายาทของนายณรงค์ได้เสนอเงื่อนไขชำระหนี้เฉพาะส่วนของนายณรงค์ให้แก่โจทก์เป็นเงิน 10,933,418.28 บาท โดยให้โจทก์ถอนคำขอรับชำระหนี้ในคดีดังกล่าว โจทก์ตกลงรับเงื่อนไขทายาทของนายณรงค์และได้รับชำระหนี้จากทายาทของนายณรงค์ตามจำนวนที่เสนอ โจทก์จึงถอนคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ ล.124/2533 ต่อมาศาลแพ่งธนบุรีมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายของนายณรงค์ คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ว่า มีเหตุที่จะยกเลิกการล้มละลายของจำเลยที่ 3 หรือไม่ เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดกับนายณรงค์และจำเลยที่ 1 ที่ 2 ในการชำระหนี้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 379/2522 และ 1145/2529 ของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 3 กับนายณรงค์และจำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงเป็นลูกหนี้ร่วม โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้จะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้คนใดคนหนึ่งสิ้นเชิงหรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก แต่ลูกหนี้ร่วมยังคงต้องผูกพันอยู่ทั่วทุกคนจนกว่าหนี้นั้นจะได้ชำระเสร็จสิ้นเชิงแล้ว ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 291 บัญญัติไว้ เมื่อโจทก์นำมูลหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวมาฟ้องจำเลยทั้งสามและนายณรงค์ให้เป็นบุคคลล้มละลายต่อศาลชั้นต้นเป็นคดีนี้และต่อศาลแพ่งธนบุรีเป็นคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ ล.124/2533 ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 3 เด็ดขาด และพิพากษาให้จำเลยที่ 3 เป็นบุคคลล้มละลายและศาลแพ่งธนบุรีมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของนายณรงค์เด็ดขาดและพิพากษาให้นายณรงค์เป็นบุคคลล้มละลาย แม้โจทก์จะนำมูลหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งทั้งสองคดีข้างต้นไปขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายทั้งสองคดี โดยขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของนายณรงค์จำนวน 36,444,727.59 บาท และขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 จำนวน 36,557,875.95 บาท การที่โจทก์ยอมรับชำระหนี้จากทายาทของนายณรงค์เพียงบางส่วนจำนวน 10,933,418.28 บาท โดยไม่ติดใจขอรับชำระหนี้ส่วนที่เหลือจากกองทรัพย์สินของนายณรงค์และขอถอนคำขอรับชำระหนี้ในส่วนนี้ไปก็เป็นสิทธิของโจทก์ที่กระทำได้ หาทำให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมกับนายณรงค์หลุดพ้นจากความรับผิดไม่ต้องชำระหนี้ในส่วนที่เหลือไม่ เพราะตราบใดที่โจทก์ยังไม่ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดโดยสิ้นเชิง จำเลยที่ 3 ในฐานะลูกหนี้ร่วมยังคงต้องรับผิดต่อโจทก์อยู่จนกว่าหนี้นั้นจะได้ชำระจนสิ้นเชิงแล้วตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น เมื่อโจทก์ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 ในคดีนี้ไว้จำนวน 36,557,875.95 บาท และศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์ได้รับชำระหนี้เต็มตามขอ โจทก์จึงยังมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 อีก 25,624,457.67 บาท กรณีมิใช่หนี้สินของบุคคลล้มละลายได้ชำระเต็มจำนวนแล้ว และมิใช่กรณีลูกหนี้ไม่ควรถูกพิพากษาให้ล้มละลาย อันจะเป็นเหตุให้ศาลมีอำนาจสั่งยกเลิกการล้มละลายของจำเลยที่ 3 ได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 135(2) และ (3) คำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยที่ 3 อ้างมานั้น ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษาให้ยกคำร้องขอยกเลิกการล้มละลายของจำเลยที่ 3 ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ”