คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1107/2497

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กิจการใดที่ตัวแทนกระทำไปโดยความประมาทเลินเล่อนั้นเป็นเรื่องผิดสัญญา
การฟ้องตัวแทนที่กระทำการประมาทเลินเล่อ ทำให้ตัวการเสียหายเป็นเรื่องผิดสัญญาไม่ต้องฟ้องภายใน 1 ปี
เมื่อคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์วินิจฉัยแต่ปัญหาข้อกฎหมายยังมิได้ชี้ขาดข้อเท็จจริงในประเด็น ศาลฎีกามีอำนาจยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ แล้วให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่

ย่อยาว

คดีนี้ ได้ความว่าจำเลยเป็นลูกจ้างบริษัทสหไทยวัฒนาจำกัด จำเลยในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายสินค้าออก มีหน้าที่เกี่ยวกับการจัดทำและติดต่อตรวจตราในการส่งสินค้าออก เฉพาะอย่างยิ่งสินค้าไม้ต่าง ๆ สำหรับส่งไปจำหน่ายต่างประเทศ จำเลยในตำแหน่งดังกล่าวได้จัดให้นายเอี่ยมเข้าทำสัญญาขายไม้ก้านเหลืองแปรรูปให้แก่โจทก์ แล้วจำเลยได้ขึ้นไปตีตราไม้ซุงที่นายเอี่ยมอ้างว่าเป็นไม้ก้านเหลืองและเป็นของตน ครั้นแล้วจำเลยกลับมารายงานและขออนุมัติให้บริษัทโจทก์จ่ายเงินล่วงหน้าให้นายเอี่ยม บริษัทโจทก์ได้จ่ายเงินไปตามสัญญา 37,000 บาท ต่อมาปรากฏว่าไม้ซุงที่จำเลยตีตรานั้นหาใช่ไม้ก้านเหลืองไม่ เป็นไม้ชนิดอื่นมีคุณภาพเลวกว่าและไม่ได้แปรรูปส่งให้โจทก์ ตัวนายเอี่ยมก็หลบหนีไป จำเลยเป็นลูกจ้างและตัวแทนโจทก์ตีตราไม้ซุงโดยประมาทเลินเล่อ ไม่ใช้วิชาชีพ ตามที่จำเลยมีหน้าที่ในกิจการค้าไม้ ทำให้โจทก์เสียหายสูญเงินดังกล่าว ขอให้จำเลยใช้พร้อมดอกเบี้ย

จำเลยต่อสู้ว่า จำเลยเป็นลูกจ้างโจทก์ไม่ใช่ตัวแทน จำเลยไม่ได้ประมาทเลินเล่อไม่ต้องรับผิด และตัดฟ้องว่าโจทก์ฟ้องเกิน 1 ปีขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง

ศาลชั้นต้นฟังว่า ความเสียหายเกิดขึ้นเพราะความประมาทเลินเล่อของจำเลย ผู้เป็นตัวแทน ข้อตัดฟ้องของจำเลยเป็นเรื่องความเสียหายเกิดจากละเมิดหาใช่เรื่องผิดสัญญาอย่างนี้ไม่ จึงฟังไม่ขึ้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงิน 37,000 บาท กับดอกเบี้ย

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่าคดีนี้เป็นเรื่องขอให้จำเลยรับผิดในมูลละเมิด หาใช่ฐานผิดสัญญาไม่ เมื่อฟ้องโจทก์เกิน 1 ปี จึงขาดอายุความพิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์ฎีกา

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างโจทก์ขึ้นไปตีตราไม้ตลอดจนรายงานต่อโจทก์ขออนุมัติจ่ายเงินนั้น เป็นการทำแทนโจทก์อันเข้าอยู่ในลักษณะสัญญาตัวแทนตัวการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 797 การกระทำของจำเลยนี้ถือได้ว่ากระทำไปทั้งในฐานะลูกจ้างและตัวแทนโจทก์ ดังนั้นความรับผิดของจำเลยต่อโจทก์ในคดีนี้ ถ้าหากมีก็จัดอยู่ในลักษณะสัญญาตัวแทนตัวการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 812 ไม่ใช่ละเมิด ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ แต่คดีนี้ศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัยชี้ขาดข้อเท็จจริงว่าการกระทำของจำเลยเป็นการประมาทเลินเล่ออันจะต้องรับผิดตามฟ้องเพียงไรหรือไม่

พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่

Share