คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5983/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยตกลงจ่ายเงินเดือนให้โจทก์เดือนละ 2 ครั้ง ในวันที่ 16และวันที่ 30 หรือ 31 ของเดือนซึ่งเป็นวันสิ้นเดือน จำเลยเลิกจ้างโจทก์ ในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2531 ซึ่งเป็นวันสิ้นเดือนโดยมิได้บอกกล่าวล่วงหน้า จึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจนถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้าคือวันที่ 16 มีนาคม 2531 โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงินจำนวนหนึ่งแก่โจทก์ แม้จำเลยจะมิได้ให้การปฏิเสธในเรื่องจำนวนเงินที่โจทก์ขอก็ตาม แต่เมื่อโจทก์มีสิทธิตามกฎหมายที่จะได้รับเป็นจำนวนน้อยกว่าที่ขอมา ศาลแรงงานก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาให้เพียงเท่าที่โจทก์มีสิทธิได้ จำเลยนำสืบพยานเอกสารโดยไม่ส่งสำเนาให้โจทก์ก่อนวันสืบพยานสามวัน แต่ศาลแรงงานกลางเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมเพื่อให้ได้ความแจ้งชัดในข้อเท็จจริงแห่งคดี จึงรับฟังเอกสารดังกล่าวโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 45 วรรคแรก ซึ่งเป็นบทบัญญัติให้ใช้ในการพิจารณาคดีแรงงานโดยเฉพาะ จึงหาขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90 วรรคแรกไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องให้จำเลยผู้เป็นนายจ้าง จ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมและสินจ้างแทนการบอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้า จำเลยให้การว่าโจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับทำงานอย่างร้ายแรงและละทิ้งหน้าที่บางคราว ไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 1,168 บาท คำขออื่นให้ยก โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “โจทก์อุทธรณ์ข้อแรกว่าจำเลยตกลงจ่ายค่าจ้างเป็นรายเดือน เป็นเงินเดือนละ 2,190 บาทมิได้ตกลงกันเป็นรายวัน การที่จำเลยจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ทุกวันที่ 16 และวันสิ้นเดือนเป็นเพียงเพื่อความสะดวกทางบัญชีทั้งจำเลยมิได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไว้แต่อย่างใด ต้องถือว่าจำเลยยอมรับตามคำฟ้องของโจทก์แล้ว ที่ศาลแรงงานกลางกำหนดให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 1,168 บาท จึงไม่ชอบศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582บัญญัติว่า “ถ้าคู่สัญญาไม่ได้กำหนดลงไว้ในสัญญาว่าจะจ้างกันนานเท่าไร ท่านว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้าในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่งเพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็อาจทำได้ แต่ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่าสามเดือน
อนึ่งในเมื่อบอกกล่าวดังว่านี้ นายจ้างจะจ่ายสินจ้างแก่ลูกจ้างเสียให้ครบจำนวนที่จะต้องจ่ายจนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกำหนดที่บอกกล่าวนั้นทีเดียว แล้วปล่อยให้ลูกจ้างจากงานเสียในทันทีก็อาจทำได้” ในเรื่องระยะเวลาการจ่ายค่าจ้างของจำเลยนี้โจทก์บรรยายฟ้องโดยขอแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยตกลงจ่ายเงินเดือนให้โจทก์ทุก ๆวันที่ 30 ของเดือน ๆ ใดมี 31 วัน ก็ให้จ่ายในวันที่ 31 ของเดือนแต่การจ่ายเงินจำเลยจะจ่ายให้เป็น 2 ครั้ง โดยจ่ายให้ในวันที่16 และวันที่ 30 หรือวันที่ 31 ของเดือนซึ่งเป็นวันสิ้นเดือนจากคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวจึงต้องฟ้องว่า จำเลยจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์เดือนละ 2 ครั้ง คือวันที่ 16 และวันสิ้นเดือนของทุกเดือน เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2531ซึ่งเป็นวันสิ้นเดือน โดยมิได้บอกกล่าวล่วงหน้าซึ่งเป็นการเลิกจ้างที่ขัดต่อกฎหมายดังกล่าว จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจนถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้าคือถึงวันที่ 16 มีนาคม 2531 และแม้จำเลยจะมิได้ให้การปฏิเสธในเรื่องจำนวนเงินที่โจทก์จะได้รับก็ตาม แต่เมื่อโจทก์มีสิทธิตามกฎหมายที่จะได้รับเป็นจำนวนเพียงนั้น ศาลแรงงานกลางย่อมยกขึ้นวินิจฉัยได้ที่ศาลแรงงานกลางให้จำเลยจ่ายสินจ้างตามนัยดังกล่าวชอบแล้ว
โจทก์อุทธรณ์ข้อต่อไปว่า ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 45 วรรคแรก เป็นเรื่องที่คู่ความได้ยื่นบัญชีระบุพยานเอกสารไว้แล้วแต่มิได้นำสืบหรือเป็นพยานเอกสารที่มิได้ระบุอ้างไว้ แต่ศาลแรงงานกลางเรียกมาอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาตามความเป็นธรรม แต่เมื่อจำเลยได้อ้างพยานเอกสารและนำสืบก็ต้องส่งสำเนาให้แก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90 ที่จำเลยนำสืบพยานเอกสารตามเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.11 โดยไม่ส่งสำเนาให้โจทก์ก่อนวันสืบพยานสามวัน และศาลแรงงานกลางรับฟังมานั้นจึงเป็นการรับฟังที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ปัญหาข้อนี้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า เอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.11 เป็นเอกสารที่แท้จริง แม้ว่าจำเลยจะไม่ส่งสำเนาให้โจทก์ก่อนวันสืบพยานสามวัน แต่เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมในอันที่จะให้ได้ความแจ้งชัดในข้อเท็จจริงแห่งคดี จึงให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานของศาลได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 45 วรรคแรก คำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่ศาลแรงงานกลางใช้ดุลพินิจเรียกพยานเอกสารล.1 ถึง ล.11 มาสืบเองเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมเพื่อให้ได้ความแจ้งชัดในข้อเท็จจริงแห่งคดี อันเป็นการใช้อำนาจตามบทกฎหมายที่ศาลแรงงานกลางยกขึ้นอ้าง ศาลแรงงานกลางจึงมีอำนาจรับฟังพยานเอกสาร หมาย ล.1 ถึง ล.11 นี้ได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 45 วรรคแรก ซึ่งเป็นบทบัญญัติให้ใช้ในการพิจารณาคดีแรงงานไว้โดยเฉพาะ จึงหาขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 90 วรรคแรก ดังข้ออุทธรณ์ของโจทก์ไม่ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาในปัญหาทั้งสองข้อนี้ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”
พิพากษายืน

Share