คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 319/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ลูกจ้างมีเรื่องด่าและทำร้ายภริยาของตนในสถานที่ทำการของนายจ้าง การที่ลูกจ้างไม่ยอมเชื่อฟังและแสดงกิริยาไม่เคารพผู้บังคับบัญชาก็เนื่องจากการทะเลาะกับภริยาอันเป็นเรื่องส่วนตัวยังไม่ถึงกับเป็นการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง และไม่เป็นการขัดคำสั่งของนายจ้างเป็นกรณีร้ายแรงที่นายจ้างจะเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ส่วนการที่ผู้บังคับบัญชาห้ามปรามลูกจ้างนั้น ก็ไม่เป็นคำสั่งที่มีกิจจะลักษณะแต่อย่างใด คงมีความประสงค์เพียงให้ลูกจ้างกับภริยาเลิกทะเลาะวิวาทกันเท่านั้น การที่ลูกจ้างไม่เชื่อฟังจึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นการจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันจะเป็นเหตุให้เลิกจ้างได้โดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้า

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้พิพากษาบังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงาน ถ้าไม่สามารถรับโจทก์กลับเข้าทำงานได้ ให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าจ้างระหว่างที่โจทก์ถูกออกจากงานและค่าเสียหาย พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์จำเลยให้การว่า โจทก์กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามข้อบังคับของจำเลย จำเลยมีสิทธิไล่โจทก์ออกจากงานโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าจำเลยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าเสียหายค่าจ้างระหว่างที่โจทก์ถูกสั่งให้ออกจากงาน ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ มิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมโจทก์ไม่มีสิทธิขอให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงาน โจทก์เข้าไปก่อเหตุทำร้ายภริยาของตนในที่ทำงานด้วยเรื่องส่วนตัวระหว่างสามีภริยา การฝ่าฝืนคำสั่งของผู้บังคับบัญชาดังกล่าวไม่ใช่กรณีที่ร้ายแรง คำสั่งนั้นไม่ใช่คำสั่งที่เกี่ยวกับการทำงาน กรณีไม่เข้าข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 จำเลยต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ด้วย พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ยดอกเบี้ยแก่โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางว่า โจทก์ด่า และทำร้ายนางนันทิยาภริยาโจทก์ในห้องทำงานของนางนันทิยาอันเป็นสถานที่ทำการของจำเลย และเมื่อผู้บังคับบัญชาเข้าห้ามปรามจำเลยไม่ยอมเชื่อฟังกลับแสดงกิริยาไม่เคารพผู้บังคับบัญชา การกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์โดยมิได้บอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยอุทธรณ์ว่าการกระทำของโจทก์เป็นการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง เป็นการจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายเป็นกรณีร้ายแรง และเป็นการกระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้างด้วย ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อที่จำเลยอุทธรณ์ว่าการกระทำของโจทก์เป็นการกระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้างนั้น จำเลยมิได้ยกขึ้นต่อสู้ในคำให้การว่าเป็นเหตุที่จำเลยมีอำนาจเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ไม่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลแรงงานกลาง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คงมีข้อวินิจฉัยว่า การกระทำของโจทก์เป็นการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง เป็นการจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นกรณีร้ายแรง อันจำเลยมีอำนาจเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์เพียงแต่ได้มีเรื่องด่าและทำร้ายนางนันทิยาภริยาของโจทก์เอง ในสถานที่ทำการของจำเลยในวันเกิดเหตุเท่านั้น และการที่โจทก์ไม่ยอมเชื่อฟังและแสดงกิริยาไม่เคารพผู้บังคับบัญชานั้น ก็เนื่องจากโจทก์มีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกับภริยาของโจทก์อันเป็นเรื่องส่วนตัวที่เกิดจากความหึงหวง เนื่องจากนางนันทิยาไม่กลับบ้านและโจทก์ไม่พอใจที่มีผู้อื่นเข้ามาห้ามปราม เห็นว่า การกระทำของโจทก์ยังไม่ถึงกับเป็นการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง และไม่เป็นการจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างเป็นกรณีร้ายแรง ที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ส่วนการที่ผู้บังคับบัญชาห้ามปรามโจทก์มิให้มีเรื่องและด่าทำร้ายภริยานั้น เห็นว่า การกระทำของโจทก์เป็นเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกันระหว่างสามีภริยาอันสืบเนื่องมาจากโจทก์มีอารมณ์หึงหวงและการที่ผู้บังคับบัญชาห้ามปรามโจทก์ก็มิใช่เป็นคำสั่งที่มีกิจจะลักษณะแต่อย่างใด คงมีความประสงค์เพียงให้โจทก์กับภริยาเลิกทะเลาะวิวาทกันเท่านั้น การที่โจทก์ไม่เชื่อฟังจึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นการจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันจะเป็นเหตุให้จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์ชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share