คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7213/2546

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 เป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจศาลแรงงานใช้ดุลพินิจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงาน หรือให้นายจ้างชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ลูกจ้างแทนการรับกลับเข้าทำงานในกรณีลูกจ้างกับนายจ้างไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ เมื่อศาลแรงงานกลางพิพากษาให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานแล้วจะพิพากษาให้นายจ้างชดใช้ค่าเสียหายหรือจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในระหว่างถูกเลิกจ้างจนรับกลับเข้าทำงานอีกไม่ได้เพราะมาตรา 49 ไม่ได้ให้อำนาจไว้ แต่คดีนี้โจทก์ได้บรรยายฟ้องมาโดยชัดแจ้งว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรม ขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายที่ทำให้โจทก์เสื่อมเสียชื่อเสียง และได้รับความเดือดร้อนเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายจนถึงวันเกษียณอายุ ซึ่งเป็นกรณีที่โจทก์ตั้งประเด็นข้อพิพาทมาโดยตรงว่า จำเลยผู้เป็นนายจ้างได้ปฏิบัติผิดสัญญาจ้างแรงงาน ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายที่ไม่ได้รับค่าจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน ตามคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องของโจทก์เป็นการขอให้ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายตามสัญญาจ้างแรงงาน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะจ้างแรงงาน ซึ่งกรณีนี้ไม่มีกฎหมายห้ามมิให้โจทก์เรียกร้องค่าเสียหายในกรณีดังกล่าว เมื่อฟังได้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมเป็นเหตุให้โจทก์ไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้าง โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าเสียหายส่วนนี้จากจำเลยได้ แม้ว่าโจทก์ไม่ได้ทำงานให้จำเลยก็ตาม
มาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 เป็นบทบัญญัติคุ้มครองลูกจ้าง เพื่อมิให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่เป็นธรรม โดยให้อำนาจศาลแรงงานมีอำนาจใช้ดุลพินิจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงาน แม้บทบัญญัติดังกล่าวจะมิได้ระบุให้ศาลมีอำนาจนับอายุงานต่อเนื่องได้ แต่ก็มิได้บัญญัติห้ามไว้และการนับอายุงานต่อเนื่องเป็นการรักษาสิทธิของลูกจ้างที่มีอยู่แล้วมิให้เสียไปเพราะการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ศาลแรงงานกลางจึงมีอำนาจให้นับอายุงานต่อเนื่องได้ แต่จะนับระยะเวลาตั้งแต่วันเลิกจ้างจนถึงวันที่จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานรวมเข้าเป็นอายุงานด้วยไม่ได้ คงให้นับอายุงานใหม่ต่อกับอายุงานเดิมที่คำนวณถึงวันก่อนวันเลิกจ้างได้เท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ยกเลิกคำสั่งเลิกจ้างของจำเลยที่ กบ. 02-1-01/989 ลงวันที่ 26 กันยายน 2543 และให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่เดิมได้รับค่าจ้างเงินเดือนซึ่งได้รับการเลื่อนขั้นประจำปีตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยตั้งแต่วันเลิกจ้างจนถึงวันที่รับกลับเข้าทำงาน รวมถึงสิทธิสภาพการจ้างต่าง ๆ หากไม่ยอมรับโจทก์กลับเข้าทำงานให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายที่ทำให้โจทก์ต้องเสื่อมเสียชื่อเสียงและทำให้โจทก์กับครอบครัวเดือดร้อน เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายจนเกษียณอายุ 60 ปี รวม 336 เดือน เป็นเงิน 3,667,440 บาท ค่าชดเชย 32,745 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 1 เดือน เป็นเงิน 10,915 บาท เงินตอบแทนความชอบในการทำงานที่ควรได้รับหากอยู่จนเกษียณอายุ 180 วัน เป็นเงิน 65,490 บาท และให้ชำระดอกเบี้ยของเงินทุกจำนวนที่จำเลยต้องชำระแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่โจทก์มีสิทธิได้รับจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลาง…พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งเลิกจ้างของจำเลยที่ กบ. 02-1-01/989 ลงวันที่ 26 กันยายน 2543 ให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่เดิมโดยให้ได้รับเงินเดือนค่าจ้างไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างสุดท้ายที่โจทก์ได้รับอยู่ก่อนถูกเลิกจ้าง นับแต่วันเลิกจ้าง (วันที่ 7 ธันวาคม 2542) จนถึงวันที่รับกลับเข้าทำงานและนับอายุงานต่อเนื่อง โดยให้โจทก์ได้รับสิทธิประโยชน์ที่จะได้ตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยเสมือนโจทก์ไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 บัญญัติว่า “การพิจารณาคดีในกรณีนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าการเลิกจ้างลูกจ้างนั้นไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง ศาลแรงงานอาจให้นายจ้างรับลูกจ้างนั้นเข้าทำงานต่อไปในอัตราค่าจ้างที่ได้รับในขณะที่เลิกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าลูกจ้างกับนายจ้างไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ ให้ศาลแรงงานกำหนดจำนวนค่าเสียหายให้นายจ้างชดใช้แทน โดยให้ศาลคำนึงถึงอายุของลูกจ้าง ระยะเวลาการทำงานของลูกจ้าง ความเดือดร้อนของลูกจ้างเมื่อถูกเลิกจ้าง มูลเหตุแห่งการเลิกจ้าง และเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับ ประกอบการพิจารณา” บทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทคุ้มครองลูกจ้างเพื่อมิให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่เป็นธรรม แต่ก็ให้อำนาจศาลแรงงานมีอำนาจใช้ดุลพินิจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงาน หรือให้นายจ้างชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ลูกจ้างแทนการรับกลับเข้าทำงานในกรณีที่ลูกจ้างกับนายจ้างไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้เท่านั้น เมื่อศาลแรงงานกลางพิพากษาให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานแล้ว จะพิพากษาให้นายจ้างชดใช้ค่าเสียหายหรือจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในระหว่างถูกเลิกจ้างจนรับกลับเข้าทำงานอีกไม่ได้ เพราะมาตรา 49 ไม่ได้ให้อำนาจไว้ แต่คดีนี้โจทก์ได้บรรยายฟ้องมาชัดแจ้งว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรม ขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายที่ทำให้โจทก์เสื่อมเสียชื่อเสียงและทำให้โจทก์กับครอบครัวได้รับความเดือดร้อนเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายจนถึงวันเกษียณอายุ ซึ่งเป็นกรณีที่โจทก์ตั้งประเด็นข้อพิพาทมาโดยตรงว่า จำเลยผู้เป็นนายจ้างได้ปฏิบัติผิดสัญญาจ้างแรงงาน กลั่นแกล้งเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายที่ไม่ได้รับค่าจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานตามคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องของโจทก์เป็นการขอให้ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายตามสัญญาจ้างแรงงาน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะจ้างแรงงานซึ่งไม่มีกฎหมายห้ามมิให้โจทก์เรียกร้องค่าเสียหายในกรณีดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายส่วนนี้จากจำเลยได้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะจ้างแรงงาน มาตรา 575 บัญญัติให้นายจ้างมีหน้าที่จ่ายสินจ้างให้แก่ลูกจ้างตลอดเวลาที่ลูกจ้างทำงานให้โจทก์สามารถทำงานให้จำเลยตลอดมา แต่จำเลยกระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานโดยได้เลิกจ้างโจทก์อย่างไม่เป็นธรรม เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายที่ไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้าง โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้ แม้โจทก์จะไม่ได้ทำงานให้จำเลยก็ตาม จึงชอบที่จะกำหนดค่าเสียหายระหว่างที่โจทก์ถูกเลิกจ้างจนถึงวันที่จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานให้โจทก์ แต่การกำหนดค่าเสียหายดังกล่าวเป็นเรื่องดุลพินิจซึ่งเป็นข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่อาจกระทำได้จึงต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางเป็นผู้กำหนด
สำหรับเรื่องการนับอายุงานต่อเนื่องดังได้กล่าวมาแล้วว่าบทบัญญัติในมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 เป็นบทบัญญัติคุ้มครองลูกจ้างเพื่อมิให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่เป็นธรรม โดยให้อำนาจศาลแรงงานมีอำนาจใช้ดุลพินิจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานต่อไปในอัตราค่าจ้างที่ได้รับในขณะเลิกจ้างได้ แม้บทบัญญัติดังกล่าวจะมิได้ระบุให้ศาลแรงงานมีอำนาจให้นับอายุงานต่อเนื่องได้ แต่ก็มิได้บัญญัติห้ามไว้ อายุงานเป็นองค์ประกอบที่จะทำให้ลูกจ้างได้รับสิทธิตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานบางประการ เป็นต้นว่าสิทธิในการได้รับค่าชดเชยเมื่อถูกเลิกจ้างตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 การไม่นับอายุงานต่อเนื่องเป็นการทำให้ลูกจ้างเสียสิทธิที่จะพึงมีพึงได้อันเนื่องมาจากอายุงาน เป็นการไม่คุ้มครองลูกจ้าง ไม่ต้องด้วยเจตนารมณ์ของมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 การให้นับอายุงานต่อเนื่องเป็นเพียงการรักษาสิทธิของลูกจ้างที่มีอยู่แล้วไม่ให้เสียไปเพราะการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ศาลแรงงานกลางจึงมีอำนาจให้นับอายุงานต่อเนื่องได้ แต่จะให้นับระยะเวลาตั้งแต่วันเลิกจ้างจนถึงวันที่จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานรวมเข้าเป็นอายุงานด้วยไม่ได้ เพราะระหว่างนั้นโจทก์ไม่ได้ทำงานให้จำเลย คงนับอายุงานใหม่ต่อกับอายุงานเดิมที่คำนวณถึงวันก่อนวันเลิกจ้างได้เท่านั้น…
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้นับอายุงานใหม่ของโจทก์ติดต่อกับอายุงานที่คำนวณถึงวันที่ 6 ธันวาคม 2542 ซึ่งเป็นวันก่อนวันเลิกจ้างเป็นต้นไป กับให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางในประเด็นที่ให้เพิกถอนคำสั่งเลิกจ้างของจำเลยที่ กบ. 02-1-01/989 ลงวันที่ 26 กันยายน 2543 และที่ให้จำเลยจ่ายค่าจ้างนับแต่วันเลิกจ้างจนถึงวันที่จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงาน และให้ศาลแรงงานกลางใช้ดุลพินิจกำหนดจำนวนค่าเสียหายในช่วงระยะเวลาดังกล่าวแล้วพิพากษาใหม่เฉพาะประเด็นข้อนี้ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.

Share