คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3072/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยเพียงแต่ปรับบทลงโทษจำเลยในความผิดฐานพาอาวุธปืนให้ถูกต้อง เป็นการแก้ไขเล็กน้อยและยังคงลงโทษจำคุกจำเลยในแต่ละกระทงความผิดไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง
ป.วิ.อ. มาตรา 221 กำหนดขั้นตอนในการปฏิบัติข้อยกเว้นให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง คือ ผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณา หรือลงชื่อในคำพิพากษา หรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์พิเคราะห์เห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกา หรืออธิบดีกรมอัยการลงลายมือชื่อรับรองในฎีกาว่ามีเหตุอันควรที่ศาลสูงจะได้วินิจฉัย ก็ให้รับฎีกานั้นไว้พิจารณาต่อไป แต่บทบัญญัติมาตรานี้ มิได้วางหลักเกณฑ์ไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคท้าย มาใช้บังคับโดยอนุโลมตาม ป.วิ.อ. 15 ซึ่งตามคำร้องของจำเลยระบุชื่อผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นผู้พิจารณาอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง โดยมิได้ระบุถึงผู้พิพากษาอื่นอีก การที่ผู้พิพากษาที่มิใช่ผู้พิพากษาที่จำเลยระบุในคำร้องกลับเป็นผู้มีคำสั่งอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ก็หามีผลให้เข้าข้อยกเว้นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 ที่จำเลยจะฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงได้ไม่ เพราะไม่ต้องด้วยความประสงค์ของจำเลย คำสั่งของศาลชั้นต้นที่รับฎีกาของจำเลยจึงไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีอาวุธปืนไม่มีเครื่องหมายเลขทะเบียนของเจ้าพนักงาน และเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และพาอาวุธปืนดังกล่าวติดตัวไปในหมู่บ้านและทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต โดยเปิดเผย ไม่มีเหตุสมควร และไม่เป็นกรณีที่ต้องมีติดตัวเมื่อมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ ทั้งจำเลยไม่ใช่เจ้าพนักงานและไม่ได้รับยกเว้นตามกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 91, 371 และริบอาวุธปืนของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 วรรคหนึ่ง, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 (ที่ถูกมาตรา 371) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีอาวุธปืน จำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืน เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกฐานมีอาวุธปืน 6 เดือน และฐานพาอาวุธปืน 3 เดือน รวมจำคุก 9 เดือน ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับความผิดฐานพาอาวุธปืนไปโดยเปิดเผยจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคสอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยเพียงแต่ปรับบทลงโทษจำเลยในความผิดฐานพาอาวุธปืนให้ถูกต้อง เป็นการแก้ไขเล็กน้อยและยังคงลงโทษจำคุกจำเลยในแต่ละกระทงความผิดไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาโดยรอการลงโทษจึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว เว้นแต่ผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณา หรือลงชื่อในคำพิพากษา หรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์พิเคราะห์เห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกา หรืออธิบดีกรมอัยการลงลายมือชื่อรับรองในฎีกาว่ามีเหตุอันควรที่ศาลสูงสุดจะได้วินิจฉัย ก็ให้รับฎีกานั้นไว้พิจารณาต่อไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 ซึ่งขั้นตอนในการปฏิบัติเข้าข้อยกเว้นให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามบทบัญญัติมาตรานี้ มิได้มีบัญญัติวางหลักเกณฑ์ไว้โดยเฉพาะในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาวิธีพิจารณาความอาญา จึงต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคท้าย มาใช้บังคับโดยอนุโลม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 คือ จำเลยต้องยื่นคำร้องพร้อมคำฟ้องฎีกาต่อศาลชั้นต้นขอให้ผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณา หรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 4 อนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ ซึ่งตามคำร้องจำเลยระบุชื่อขอให้นางสาวศุภัททิยะ ศุภางคเสน และนางสาวสิริลักษณ์ นาควิเชียร ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นผู้พิจารณาอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง โดยมิได้ระบุถึงผู้พิพากษาอื่นอีก แต่นายทัดชัย บัวสอน ซึ่งมิใช่ผู้พิพากษาที่จำเลยระบุในคำร้องกลับเป็นผู้มีคำสั่งอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ดังนั้น แม้นายทัดชัยจะพิจารณาแล้วมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงก็หามีผลให้เข้าข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 ที่จำเลยจะฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงได้ไม่เพราะไม่ต้องด้วยความประสงค์ของจำเลยที่ขอให้นางสาวศุภัททิยะและนางสาวสิริลักษณ์เป็นผู้พิจารณาอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง คำสั่งของศาลชั้นต้นที่รับฎีกาของจำเลยจึงไม่ชอบ”
จึงมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและเพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นที่รับฎีกาของจำเลย ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการจัดส่งคำร้องของจำเลยไปให้ผู้พิพากษาที่จำเลยระบุในคำร้องพิจารณาและมีคำสั่งเกี่ยวกับฎีกาของจำเลย หากมีการอนุญาตหรือไม่อนุญาตประการใด ก็ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการต่อไป ในชั้นนี้ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความศาลฎีกา

Share