คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1807/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บริษัทจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ที่ 3 ซึ่งเป็นกรรมการมอบอำนาจให้ ส. ไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ขออายัดที่ดินหลายโฉนดของโจทก์โดยอ้างว่าโจทก์เป็นลูกหนี้จำเลย ทั้งๆ ที่ศาลฎีกาพิพากษาแล้วว่าโจทก์มิได้เป็นลูกหนี้จำเลย จึงเป็นการกระทำโดยไม่สุจริตเพื่อให้เจ้าพนักงานที่ดินผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความเท็จลงในเอกสารราชการซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐาน แม้ต่อมากรมที่ดินจะเห็นว่าจำเลยมิได้มีส่วนได้เสียจึงไม่รับอายัด ก็เป็นการกระทำโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์และประชาชนแล้ว จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137,267,83
การกระทำของนิติบุคคลย่อมแสดงให้ปรากฏโดยการกระทำของผู้แทนนิติบุคคลนั้น เมื่อจำเลยที่ 2 ที่ 3 ซึ่งเป็นกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1 ได้ร่วมกันกระทำการเพื่อจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ที่ 3 ก็ต้องร่วมรับผิดในการกระทำนั้นด้วย.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137, 267, 83, 84, 91
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267, 83 และจำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 อีกกระทงหนึ่ง
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3ในฐานะกรรมการของจำเลยที่ 1 ทำหนังสือมอบอำนาจให้นายสุวรรณไปแจ้งความขออายัดที่ดินของโจทก์รวม 413 โฉนดและมีอำนาจให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานที่ดิน นายสุวรรณได้ไปแจ้งความขออายัดที่ดินดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร โดยอ้างว่าโจทก์ยังมิได้ชำระหนี้ตอบแทนดังที่คำพิพากษาฎีกาที่ 2923/2525 ระบุไว้ เจ้าพนักงานที่ดินรับคำขอและบันทึกข้อความดังกล่าวไว้ ต่อมาจำเลยที่ 2 ในฐานะกรรมการผู้จัดการจำเลยที่ 1 มีหนังสือถึงอธิบดีกรมที่ดินขออายัดที่ดินดังกล่าวโดยอ้างว่าหนี้ตามคำพิพากษาฎีกาข้างต้นยังไม่ระงับ โจทก์มีหน้าที่ต้องปฏิบัติการชำระหนี้ตอบแทนจำเลยที่ 1 ทั้งๆ ที่ในคดีดังกล่าวศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยคดีนี้ใช้หนี้จำนวน18 ล้านบาทเศษแก่โจทก์การที่จำเลยแจ้งอายัดที่ดินของโจทก์จึงเป็นการกระทำโดยไม่สุจริตและเป็นความเท็จทำให้โจทก์ไม่สามารถทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินของตนได้ แม้ต่อมากรมที่ดินเห็นว่าจำเลยมิได้มีส่วนได้เสียจึงไม่รับอายัดก็ยังเป็นการกระทำที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์และประชาชน จำเลยเป็นผู้ไม่มีส่วนได้เสียในที่ดินที่ขออายัดที่อาจฟ้องขอให้บังคับจำนองหรือจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงสิทธิตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 83 เพราะโจทก์ได้ชำระหนี้แก่จำเลยหมดแล้ว และที่โจทก์ไม่ไปจดทะเบียนจำนองที่ดินและบ้านให้จำเลยตามที่ที่ปรึกษากฎหมายของจำเลยตีความในคำพิพากษาฎีกาที่ 2923/2525 ก็ไม่เป็นการทำละเมิดต่อจำเลย จำเลยกระทำโดยเจตนาเพื่อต้องการรักษาผลประโยชน์ของตนให้ได้เปรียบแก่โจทก์ในเชิงธุรกิจไปขออายัดที่ดินทั้งหมด 413โฉนดของโจทก์ต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ย่อมจะมีเจตนาฝ่าฝืนไม่ยอมรับว่าคำพิพากษาฎีกาดังกล่าวผูกพันจำเลย การกระทำของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ย่อมแสดงให้ปรากฏโดยการกระทำของผู้แทนนิติบุคคลนั้น เมื่อจำเลยที่ 2ที่ 3 เป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ได้ร่วมกระทำการเพื่อจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ก็ต้องร่วมรับผิดในการกระทำนั้นด้วยกัน การที่จำเลยทั้งสามร่วมกันทำหนังสือมอบอำนาจให้นายสุวรรณไปขออายัดที่ดินทั้งหมด 413 โฉนดของโจทก์โดยไม่สุจริตเพื่อให้เจ้าพนักงานที่ดินผู้กระทำการตามหน้าที่อายัดที่ดินทั้งหมด 413 โฉนดของโจทก์อันเป็นข้อความเท็จ ลงในเอกสารราชการซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐาน โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์และประชาชน กับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ร่วมกันมีหนังสือถึงอธิบดีกรมที่ดิน เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่ขออายัดที่ดิน 413 โฉนดของโจทก์ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ อาจทำให้โจทก์หรือประชาชนเสียหายโดยเจตนา จำเลยทั้งสามจึงมีความผิดตามฟ้อง แต่สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 โจทก์มิได้ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ด้วย คดีจึงยุติเฉพาะจำเลยที่ 1
พิพากษากลับ จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267, 83 และจำเลยที่ 2 มีความผิดตามมาตรา 137 อีกกระทงหนึ่ง.

Share