คำวินิจฉัยที่ 25/2553

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒๕/๒๕๕๓

วันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๕๓

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์
ระหว่าง
ศาลปกครองขอนแก่น

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๕๒ นายเฉลียว ศิริพันธ์ ที่ ๑ นางจันทอน อุดมจิตร ที่ ๒ โจทก์ ยื่นฟ้องกรมที่ดิน ที่ ๑ นายแสงศิลป์ รัตนแสง เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดกาฬสินธุ์ สาขากุฉินารายณ์ ที่ ๒ นายวีระศักดิ์ ภูครองหิน นายอำเภอกุฉินารายณ์ ที่ ๓ นายศุภชัย วิมาลย์ไพจิตร นายกเทศบาลตำบลบัวขาว ที่ ๔ จำเลย ต่อศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๔๓๐/๒๕๕๒ ความว่า โจทก์ทั้งสองเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) เลขที่ ๔ หมู่ที่ ๓ ตำบลบัวขาว อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ เนื้อที่ ๔๒ ไร่ ๑ งาน โดยที่ดินแปลงดังกล่าว นางเกสร ศิริพันธ์ ภรรยาของโจทก์ที่ ๑ (ถึงแก่กรรม) และโจทก์ที่ ๒ ได้เข้าครอบครองเมื่อปี ๒๔๙๕ และแจ้งขึ้นทะเบียนการครอบครองเมื่อปี ๒๔๙๘ และทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทดังกล่าวมาจนถึงปัจจุบัน ต่อมาในปี ๒๕๔๑ โจทก์ทั้งสองและภรรยาของโจทก์ที่ ๑ ได้นำ ส.ค. ๑ ฉบับดังกล่าวไปยื่นคำขอรังวัดต่อจำเลยที่ ๒ เพื่อออกโฉนดที่ดิน แต่เมื่อถึงวันนัดทำการรังวัดเจ้าพนักงานรังวัดแจ้งว่า ที่ดินตาม ส.ค. ๑ ดังกล่าวออกเป็นโฉนดที่ดินได้เพียง ๑๐ ไร่ โจทก์ทั้งสองและภรรยาของโจทก์ที่ ๑ จึงไม่ดำเนินการรังวัดเพื่อออกโฉนดที่ดินต่อไป ต่อมาเมื่อปี ๒๕๔๙ จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ได้ร่วมกันรังวัดและปักหลักเขตที่ดินตามคันนาล้อมรอบเอาที่ดินของโจทก์ทั้งสองไปเพื่อประกาศเป็นที่สาธารณประโยชน์ และมีหนังสือถึงโจทก์ทั้งสองให้ดำเนินการฟ้องคดีภายใน ๖๐ วัน การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นการรบกวนและรอนสิทธิในการครอบครองที่ดินของโจทก์ทั้งสองโดยปกติสุขและเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสอง ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำบังคับให้โจทก์ทั้งสองมีสิทธิครอบครองในที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครอง (ส.ค. ๑) เลขที่ ๔ หมู่ที่ ๓ ตำบลบัวขาวอำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ จำนวนเนื้อที่ดิน ๔๒ ไร่ ๑ งาน และสั่งห้ามจำเลยทั้งสี่เข้าเกี่ยวข้องและรบกวนสิทธิการครอบครองของโจทก์ทั้งสองในที่ดินแปลงดังกล่าวอีกต่อไป ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันถอนหลักแนวเขตที่ดินที่จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ นำไปปักล้อมรอบแนวเขตที่ดิน ส.ค. ๑ ของโจทก์ทั้งสองออกไปให้หมดสิ้น และให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ แก้ไขเนื้อที่ดินตาม ส.ค. ๑ ของโจทก์ทั้งสองให้มีเนื้อที่ ๔๒ ไร่ ๑ งาน ตามเนื้อที่ดินเดิมที่มีอยู่จริง กับให้เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงหนองหูลิงใหญ่ที่ออกทับที่ดิน ส.ค. ๑ ของโจทก์ทั้งสองและออกโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของหนองน้ำสาธารณประโยชน์ “หนองหูลิงใหญ่” ซึ่งราษฎรบ้านหนองหูลิงและหมู่บ้านใกล้เคียงร่วมกันใช้น้ำเพื่อการเกษตร เลี้ยงสัตว์ รวมทั้งใช้อุปโภคบริโภคร่วมกันตลอดมาตั้งแต่ก่อนปี ๒๔๘๕ เมื่อหนองน้ำหูลิงใหญ่ตื้นเขินขึ้นและไม่มีน้ำท่วมขัง นายทา เสนาธง บิดาของภรรยาโจทก์ที่ ๑ ได้เข้าไปครอบครองทำประโยชน์และขอออกหลักฐานใบเหยียบย่ำมีจำนวนเนื้อที่ ๑๐ ไร่ ๒ งาน ต่อมานายทาได้นำใบเหยียบย่ำที่ดินไปแจ้งสิทธิครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) ทับและครอบคลุมหนองน้ำหูลิงใหญ่ ทำให้พื้นดินดังกล่าวมีเนื้อที่เพิ่มเป็น ๔๒ ไร่ ๑ งาน แต่ภายหลังนายทาและโจทก์ทั้งสองยินยอมให้ทางราชการตรวจสอบและมีการแก้ไขระยะและเนื้อที่ในหลักฐาน ส.ค. ๑ ดังกล่าวให้ถูกต้องโดยแก้ไขเนื้อที่เป็น ๑๐ ไร่ ๒ งาน การแจ้งสิทธิในที่ดินของนายทาทับและครอบคลุมที่สาธารณประโยชน์หนองน้ำหูลิงใหญ่เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตและไม่ชอบด้วยกฎหมาย การแจ้งสิทธิครอบครองของนายทาจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่ก่อให้เกิดสิทธิใดๆ ขึ้นใหม่แก่ผู้แจ้งตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๕ วรรคสอง โจทก์ทั้งสองซึ่งครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทต่อมาจึงไม่มีสิทธิใดๆ ในที่ดินพิพาทตามหลักผู้รับโอนย่อมไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน และต่อมาเมื่อทางราชการได้ออกรังวัดบริเวณพื้นที่ดังกล่าวโดยมีประชาชนจำนวนหลายรายซึ่งมีที่ดินติดกับหนองน้ำหูลิงใหญ่ ได้รับรองแนวเขตโดยถูกต้อง ทางราชการจึงได้ทำการรังวัดเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) โดยปฏิบัติตามระเบียบและกฎหมายเกี่ยวกับการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงครบถ้วนและถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมายจำเลยทั้งสี่ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า โจทก์อ้างว่าจำเลยทั้งสี่ร่วมกันรังวัดและปักหลักเขตที่ดินล้อมรอบเอาที่ดินของโจทก์ทั้งสองไป และจะประกาศให้เป็นที่สาธารณะโดยจะมีการออกเป็นหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงนั้น เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสอง จึงเป็นเรื่องที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสี่โดยเจ้าหน้าที่ของจำเลยในฐานะหน่วยงานทางปกครองได้กระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองศาลจังหวัดกาฬสินธุ์พิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์ทั้งสองอ้างว่าได้สิทธิครอบครองที่พิพาท เนื้อที่ ๔๒ ไร่ ๑ งาน มาตั้งแต่ปี ๒๔๙๘ แต่เมื่อโจทก์ทั้งสองยื่นเรื่องขอรังวัดเพื่อออกโฉนดที่ดิน จำเลยที่ ๒ รังวัดออกโฉนดให้โจทก์ทั้งสองเพียง ๑๐ ไร่ ต่อมาจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ร่วมกันรังวัดและปักหลักเขตล้อมรอบเอาที่ดินของโจทก์ทั้งสองทั้งหมดเพื่อประกาศให้เป็นที่สาธารณะ อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง จำเลยทั้งสี่ให้การว่าที่ดินพิพาทเป็นสาธารณประโยชน์ของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน การกระทำของจำเลยทั้งสี่จึงไม่ใช่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง อันเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทว่าเป็นของโจทก์ทั้งสอง ไม่ใช่ที่สาธารณประโยชน์ ดังนั้น การที่จะมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ศาลจะต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าโจทก์ทั้งสองมีสิทธิครอบครองที่พิพาทหรือที่พิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ แล้วจึงจะพิจารณาได้ว่า การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองหรือไม่ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองขอนแก่นพิจารณาแล้วเห็นว่า มาตรา ๒๑๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยกำหนดให้ศาลยุติธรรมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวง เว้นแต่คดีที่รัฐธรรมนูญนี้หรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลอื่น และมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง กำหนดให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทระหว่างหน่วยราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชน อันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมายหรือเนื่องมาจากการดำเนินกิจการทางปกครองของหน่วยราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ และมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง คดีที่มีกฎหมายกำหนดให้หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐฟ้องคดีต่อศาลเพื่อบังคับให้บุคคลต้องกระทำหรือละเว้นกระทำอย่างหนึ่งอย่างใด และคดีพิพาทเกี่ยวกับเรื่องที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง จากบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ว่า หากคดีใดอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองแล้ว ศาลยุติธรรมย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนั้น คดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องว่าโจทก์ทั้งสองและภรรยาของโจทก์ที่ ๑ ได้ร่วมกันนำ ส.ค. ๑ ที่ภรรยาโจทก์ที่ ๑ และโจทก์ที่ ๒ ได้ร่วมกันแจ้งการครอบครองไปยื่นเรื่องขอรังวัดเพื่อออกโฉนดที่ดินต่อจำเลยที่ ๒ แต่จำเลยที่ ๒ แจ้งว่ารังวัดเพื่อออกโฉนดที่ดินให้ได้เพียง ๑๐ ไร่ โจทก์ทั้งสองและภรรยาของโจทก์ที่ ๑ จึงไม่ได้ทำการรังวัดเพื่อออกโฉนดที่ดินต่อไป ต่อมาเมื่อต้นปี ๒๕๔๙ จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ได้ร่วมกันรังวัดที่ดินเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง “หนองหูลิงใหญ่” โดยได้ทำการรังวัดและปักหลักเขตที่ดินตามคันนาล้อมรอบที่ดินของโจทก์ทั้งสองไปทั้งหมดจำนวนเนื้อที่ ๔๒ ไร่ ๑ งาน และจะประกาศให้เป็นที่สาธารณะ โดยมีหนังสือถึงโจทก์ทั้งสองให้ดำเนินการฟ้องคดีภายใน ๖๐ วัน โดยที่จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ มีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน มิให้ผู้ใดเกียดกันเอาไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว ตามมาตรา ๑๒๒ แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๕๑ ประกอบกับข้อ ๕ (๒) ของระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๔๔ และการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) เป็นการรับรองเขตที่ดินของรัฐซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ และต้องดำเนินการตามมาตรา ๘ ตรี แห่งประมวลกฎหมายที่ดินประกอบกับกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๖ (พ.ศ. ๒๕๑๖) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๕ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ ดังนั้น การดูแลรักษาที่สาธารณประโยชน์ของจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ และการดำเนินการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) ของจำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ จึงเป็นการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติ การที่โจทก์ทั้งสองยื่นฟ้องและมีคำขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้โจทก์ทั้งสองมีสิทธิครอบครองที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) เลขที่ ๔ ของโจทก์ทั้งสอง สั่งห้ามจำเลยทั้งสี่เข้าเกี่ยวข้องและรบกวนสิทธิการครอบครองของโจทก์ทั้งสอง ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันถอนหลักแนวเขตที่ดินที่นำไปปักล้อมรอบที่ดินของโจทก์ทั้งสองออกจากที่ดินของโจทก์ทั้งสอง ให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ แก้ไขเนื้อที่ดินตาม ส.ค. ๑ เลขที่ ๔ ของโจทก์ทั้งสองให้มีเนื้อที่ ๔๒ ไร่ ๑ งาน ตามเนื้อที่ดินเดิมที่มีอยู่จริง และให้เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงหนองหูลิงใหญ่ที่ออกทับที่ดิน ส.ค. ๑ เลขที่ ๔ ของโจทก์ทั้งสองและออกโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสอง จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือดำเนินกิจการทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และศาลปกครองมีอำนาจออกคำบังคับตามคำขอของโจทก์ได้ ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๑) (๓) และ (๔) และวรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว สำหรับประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่โจทก์ทั้งสองเป็นผู้มีสิทธิครอบครองและทำประโยชน์หรือเป็นหนองน้ำสาธารณประโยชน์ “หนองหูลิงใหญ่” ซึ่งราษฎรบ้านหนองหูลิงและหมู่บ้านใกล้เคียงใช้ร่วมกันหรือไม่ นั้น เป็นประเด็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลจะต้องพิจารณาในเนื้อหาของคดี อันเป็นเพียงประเด็นปัญหาย่อยหนึ่งในหลายประเด็นปัญหาที่จะพิจารณาว่า การดำเนินการรังวัดที่ดินเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงแปลงดังกล่าวของจำเลยทั้งสี่เป็นการกระทำการที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และแม้การพิจารณาว่าโจทก์ทั้งสองเป็นผู้มีสิทธิครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทดังกล่าวหรือไม่ จะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือประมวลกฎหมายที่ดินก็ตาม แต่การพิจารณาในปัญหาดังกล่าวก็มิใช่เกณฑ์การพิจารณาว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลใด อีกทั้งไม่มีบทบทบัญญัติใดห้ามศาลปกครองมิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกำหนดให้เป็นอำนาจเฉพาะศาลหนึ่งศาลใดเท่านั้นจะนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ ศาลปกครองจึงนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้เช่นเดียวกัน นอกจากนั้น มาตรา ๗๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินมีผลผูกพันบุคคลภายนอก คู่กรณีที่เกี่ยวข้องอาจอ้างกับบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกจะมีสิทธิดีกว่า อันเป็นบทบัญญัติที่ยืนยันให้เห็นว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินและนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาวินิจฉัยในคดีนี้ได้ ประกอบกับจำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐมิได้อยู่ในฐานะเจ้าของหรือผู้มีสิทธิในที่ดินพิพาท ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับความมีอยู่หรือสถานะของที่สาธารณประโยชน์ ซึ่งมิใช่เรื่องพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินแต่อย่างใด ดังนั้น คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมายหรือดำเนินกิจการทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์ทั้งสองเป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ อ้างว่า โจทก์ทั้งสองเป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดิน ส.ค. ๑ เลขที่ ๔ หมู่ที่ ๓ ตำบลบัวขาว อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ เนื้อที่ ๔๒ ไร่ ๑ งาน โดยที่ดินแปลงดังกล่าว ภรรยาของโจทก์ที่ ๑ (ถึงแก่กรรม) และโจทก์ที่ ๒ เข้าครอบครองเมื่อปี ๒๔๙๕ และแจ้งขึ้นทะเบียนการครอบครองตั้งแต่ปี ๒๔๙๘ ต่อมาในปี ๒๕๔๑ โจทก์ทั้งสองและภรรยาของโจทก์ที่ ๑ ได้นำ ส.ค. ๑ ฉบับดังกล่าวยื่นคำขอรังวัดต่อจำเลยที่ ๒ เพื่อออกโฉนดที่ดิน แต่เจ้าพนักงานรังวัดแจ้งว่า ที่ดินตาม ส.ค. ๑ ดังกล่าวออกเป็นโฉนดที่ดินได้เพียง ๑๐ ไร่ โจทก์ทั้งสองและภรรยาของโจทก์ที่ ๑ จึงไม่ดำเนินการรังวัดเพื่อออกโฉนดที่ดินต่อไป ต่อมาในปี ๒๕๔๙ จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ได้ร่วมกันรังวัดและปักหลักเขตที่ดินตามคันนาล้อมรอบเอาที่ดินของโจทก์ทั้งสองไปเพื่อประกาศเป็นที่สาธารณประโยชน์ การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นการรบกวนและรอนสิทธิในการครอบครองที่ดินของโจทก์ทั้งสองโดยปกติสุขและเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสอง ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำบังคับให้โจทก์ทั้งสองมีสิทธิครอบครองในที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครอง (ส.ค. ๑) เลขที่ ๔ หมู่ที่ ๓ ตำบลบัวขาว อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ จำนวนเนื้อที่ดิน ๔๒ ไร่ ๑ งาน และสั่งห้ามจำเลยทั้งสี่เข้าเกี่ยวข้องและรบกวนสิทธิการครอบครองของโจทก์ทั้งสองในที่ดินแปลงดังกล่าวอีกต่อไป ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันถอนหลักแนวเขตที่ดินที่จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ นำไปปักล้อมรอบแนวเขตที่ดิน ส.ค. ๑ ของโจทก์ทั้งสองออกไปให้หมดสิ้น และให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ แก้ไขเนื้อที่ดินตาม ส.ค. ๑ ของโจทก์ทั้งสองให้มีเนื้อที่ ๔๒ ไร่ ๑ งาน ตามเนื้อที่ดินเดิมที่มีอยู่จริง กับให้เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงหนองหูลิงใหญ่ที่ออกทับที่ดิน ส.ค. ๑ ของโจทก์ทั้งสองและออกโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสอง ส่วนจำเลยทั้งสี่ให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของหนองน้ำสาธารณประโยชน์ “หนองหูลิงใหญ่” ซึ่งนายทา เสนาธง บิดาของภรรยาโจทก์ที่ ๑ แจ้งสิทธิในที่ดินทับและครอบคลุมที่สาธารณประโยชน์หนองน้ำหูลิงใหญ่โดยไม่สุจริตและไม่ชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนี้จำเลยทั้งสี่ปฏิบัติตามระเบียบและกฎหมายเกี่ยวกับการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงครบถ้วนและถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง ดังนั้น การที่ศาลจะมีคำสั่งหรือคำพิพากษาในคดีนี้ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่โจทก์ทั้งสองเป็นผู้มีสิทธิครอบครองหรือเป็นที่สาธารณประโยชน์เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายเฉลียว ศิริพันธ์ ที่ ๑ นางจันทอน อุดมจิตร ที่ ๒ โจทก์ กรมที่ดิน ที่ ๑ นายแสงศิลป์ รัตนแสง เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดกาฬสินธุ์ สาขากุฉินารายณ์ ที่ ๒ นายวีระศักดิ์ ภูครองหิน นายอำเภอกุฉินารายณ์ ที่ ๓ นายศุภชัย วิมาลย์ไพจิตร นายกเทศบาลตำบลบัวขาว ที่ ๔ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) สบโชค สุขารมณ์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายสบโชค สุขารมณ์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท ศานิต สร้างสมวงษ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศานิต สร้างสมวงษ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share