แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพ.ศ.2524มาตรา9(1)เพียงแต่กำหนดว่าในการพิจารณาเรื่องอันเกี่ยวกับการเช่าในเขตหมู่บ้านใดให้ผู้ใหญ่บ้านแห่งหมู่บ้านนั้นเป็นกรรมการด้วยเท่านั้นฉะนั้นหากการประชุมมีกรรมการประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดตามมาตรา18วรรคหนึ่งการประชุมก็ชอบด้วยกฎหมายแล้ว คำวินิจฉัยของคชก.ตำบลที่ให้โจทก์ซื้อที่นาพิพาทจากจำเลยในราคาที่ล.ขายให้ส.ไม่ต้องด้วยพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพ.ศ.2524มาตรา54วรรคหนึ่งเพราะโจทก์มีสิทธิซื้อที่นาพิพาทจากจำเลยในราคาที่จำเลยซื้อไว้จากส.หรือตามราคาตลาดในขณะที่มีการซื้อขายกัน แม้พระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพ.ศ.2525จะบัญญัติในมาตรา56วรรคสองว่าคำวินิจฉัยของคชก.ตำบลที่มิได้อุทธรณ์ตามมาตรา56วรรคหนึ่งให้เป็นที่สุดและในมาตรา58วรรคหนึ่งว่าในกรณีมีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยดังกล่าวเมื่อผู้มีส่วนได้เสียร้องขอต่อศาลในการพิจารณาของศาลให้ถือว่าคำวินิจฉัยดังกล่าวเป็นคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการโดยให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาพิพากษาตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับแก่การพิจารณาพิพากษาตามคำวินิจฉัยดังกล่าวในกรณีนี้โดยอนุโลมซึ่งการพิจารณาพิพากษาดังกล่าวนี้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา221บัญญัติให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยอนุญาโตตุลาการคือพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการพ.ศ.2530โดยมีบทบัญญัติในมาตรา24วรรคหนึ่งว่า”ในกรณีที่ศาลเห็นว่าคำชี้ขาดใดไม่ชอบด้วยกฎหมายที่ใช้บังคับข้อพิพาทนั้นหรือเป็นคำชี้ขาดที่เกิดจากการกระทำหรือวิธีการอันมิชอบอย่างใดอย่างหนึ่งหรือมิได้อยู่ในขอบเขตแห่งสัญญาอนุญาโตตุลาการที่มีผลผูกพันตามกฎหมายหรือคำขอของคู่กรณีให้ศาลมีอำนาจทำคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดนั้น”และในมาตรา24วรรคสองว่า”ในกรณีที่คำชี้ขาดมีความบกพร่องอันมิใช่สาระสำคัญและอาจแก้ไขให้ถูกต้องได้เช่นการคำนวณตัวเลขหรือการกล่าวอ้างถึงบุคคลหรือทรัพย์สิ่งใดผิดพลาดไปศาลอาจแก้ไขให้ถูกต้องและมีคำพิพากษาให้บังคับตามคำชี้ขาดที่ได้แก้ไขแล้วนั้นได้”แต่ก็เห็นได้ว่าการนำบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาพิพากษาตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการดังกล่าวมาใช้บังคับแก่การพิจารณาพิพากษาบังคับตามคำวินิจฉัยที่ถึงที่สุดของคชก.ตำบลจะต้องนำบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับเพียงเท่าที่ไม่ขัดต่อสภาพความชอบด้วยกฎหมายของคำวินิจฉัยที่ถึงที่สุดของคชก.ตำบลโดยเฉพาะในข้อที่ว่าราคาที่คชก.ตำบลวินิจฉัยให้ผู้รับโอนขายนาให้แก่ผู้เช่านาเป็นราคาตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพ.ศ.2524มาตรา54วรรคหนึ่งหรือไม่มิใช่ข้อที่เป็นดุลพินิจเด็ดขาดของคชก.ตำบลในการพิจารณาว่าจะบังคับตามคำวินิจฉัยของคชก.ตำบลหรือไม่ศาลต้องพิจารณาว่าราคาที่คชก.ตำบลวินิจฉัยเป็นราคาตามบทบัญญัติดังกล่าวหรือไม่ถ้ามิใช่ศาลย่อมพิจารณาจากพยานหลักฐานและกำหนดราคาให้ถูกต้องแล้วพิพากษาให้บังคับให้ขายตามราคาที่กำหนดไปได้แม้การพิพากษาดังกล่าวจะเป็นการแก้ไขคำวินิจฉัยที่ถึงที่สุดของคชก.ตำบลซึ่งมิใช่เป็นการแก้ไขตามมาตรา24วรรคสองของพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการพ.ศ.2530ก็ตาม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 8300 ตำบลบางคากิ่งอำเภอราชสาส์น จังหวัดฉะเชิงเทรา เนื้อที่ 23 ไร่ 89 ตารางวาเป็นกรรมสิทธิ์ของนางเล็ก วัชรเสถียร มีโจทก์เป็นผู้เช่าทำนาต่อมาวันที่ 24 สิงหาคม 2531 นางเล็กขายที่ดินดังกล่าวให้นายสินสุข สิริกุล ในราคา 140,000 บาท โดยมิได้แจ้งการขายให้โจทก์ผู้เช่านาทราบก่อน ภายหลังนายสินสุขโอนขายที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2521ในราคา 140,000 บาท ซึ่งขณะนั้นโจทก์ยังคงทำนาในที่ดินในฐานะผู้เช่านาอยู่ โดยนายสินสุขมิได้แจ้งการขายที่นาให้โจทก์ผู้เช่านาทราบก่อน การขายนาทั้งสองคราวดังกล่าวจึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 มาตรา 53ซึ่งโจทก์มีสิทธิซื้อคืนได้ตามกฎหมายดังกล่าว โจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยโอนขายที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ในวันที่ 6มิถุนายน 2532 ตามราคาที่จำเลยซื้อมาจากนายสินสุข คือ ราคา140,000 บาท จำเลยรับหนังสือแล้วตอบตกลงขายคืนให้แก่โจทก์ในราคาไร่ละ 35,000 บาท ครั้นถึงวันนัดโจทก์ไปรอจำเลยที่สำนักงานที่ดินจังหวัดฉะเชิงเทรา สาขาบางคล้า เพื่อชำระราคาที่ดินในราคา 140,000บาท แต่จำเลยไม่ไป โจทก์จึงมีหนังสือแจ้งคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำตำบลบางคา (คชก.ตำบลบางคา) ขอให้มีมติชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลยในเรื่องราคาที่นาที่โจทก์ขอซื้อคืนจากจำเลยซึ่ง คชก.ตำบลบางคา มีมติให้โจทก์มีสิทธิซื้อที่นาคืนจากจำเลยในราคาที่นางเล็กขายให้แก่นายสินสุข คือราคา140,000 บาท จำเลยมิได้อุทธรณ์มติดังกล่าวต่อคณะกรรมการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำจังหวัด (คชก.จังหวัด) มติจึงถึงที่สุดซึ่งจำเลยต้องปฏิบัติตาม โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยไปโอนขายที่นาคืนแก่โจทก์ตามมติ คชก.ตำบลบางคาแล้ว แต่จำเลยไม่ไปอันเป็นเป็นการฝ่าฝืนต่อมติ คชก.ตำบลบางคา ขอให้บังคับจำเลยตามมติคชก.ตำบลบางคาโดยขายที่ดินโฉนดเลขที่ 8300 ตำบลบางคากิ่งคำอำเภอราชสาส์น จังหวัดฉะเชิงเทรา เนื้อที่ 23 ไร่89 ตารางวา ในราคา 140,000 บาท แก่โจทก์หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ได้เป็นผู้เช่าที่ดินตามฟ้องและโจทก์ไม่เคยเข้าทำนาในที่ดินแปลงดังกล่าว โจทก์เพิ่งเข้าทำนาในที่ดินภายหลังจากที่จำเลยซื้อที่ดินมาจากนายสินสุข สิริกุล โจทก์จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพ.ศ. 2524 เดิมที่ดินตามฟ้องเป็นที่นา ไม่มีผู้ใดเช่ามาก่อนนางเล็ก วัชรเสถียร ขายให้แก่นายสินสุข โดยชอบด้วยกฎหมายไม่จำต้องแจ้งการขายให้โจทก์ทราบ เพราะโจทก์ไม่ได้เป็นผู้เช่านาในขณะนั้น จำเลยรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวจากนายสินสุขโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งโจทก์ก็ทราบการซื้อขายและไม่โต้แย้ง จึงไม่มีสิทธิซื้อที่นาคืนจากจำเลยทั้งจำเลยมีหนังสือแจ้งโจทก์ทราบแล้วในปี 2532ว่าหากโจทก์ต้องการซื้อที่ดินดังกล่าวจำเลยจะขายให้ในราคาไร่ละ 35,000 บาท ซึ่งเป็นราคาตลาดในขณะนั้น แต่โจทก์เพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขและวิธีการชำระราคาที่จำเลยกำหนด โจทก์กลับนำข้อพิพาทดังกล่าวไปร้องเรียนต่อ คชก.ตำบลบางคา โดยมีเจตนาทุจริตปิดบังข้อเท็จจริงในเรื่องราคาซื้อขายที่ดินที่จำเลยซื้อจากนายสินสุขเป็นเหตุให้ที่ประชุมคชก.ตำบลบางคา มีมติให้โจทก์ซื้อที่นาคืนจากจำเลยในราคา 140,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าที่จำเลยซื้อมาจากนายสินสุขเป็นอย่างมากมติของที่ประชุมคชก.ตำบลบางคา จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยไม่จำต้องปฏิบัติตาม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษายก ฟ้อง
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 8300 ตำบลบางคา กิ่งอำเภอราชสาส์น จังหวัดฉะเชิงเทราเนื้อที่ 23 ไร่ 89 ตารางวา ให้โจทก์ในราคา 140,000 บาท โดยชำระเงินเมื่อทำการจดทะเบียนโอนขาย หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยฎีกาว่า คำวินิจฉัยของ คชก.ตำบลบางคาไม่ชอบ เพราะในการประชุมไม่ปรากฎว่ามีผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่นาพิพาทตั้งอยู่เป็นกรรมการด้วย ไม่มีการสอบสวนหาข้อเท็จจริงก่อนลงมติและจำเลยซื้อที่นาพิพาทมาจากนายสินสุข ในราคา 600,000 บาท ข้อนี้จำเลยนำสืบว่าโจทก์ได้ร้องเรียนต่อ คชก.ตำบลบางคา ปรากฎตามเอกสารหมาย จ.7 และ คชก.ตำบลบางคา ได้ประชุมและมีคำวินิจฉัยปรากฎตามเอกสารหมาย จ.9 เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 มาตรา 9(1) เพียงแต่กำหนดว่าในการพิจารณาเรื่องอันเกี่ยวกับการเช่าในเขตหมู่บ้านใด ให้ผู้ใหญ่บ้านแห่งหมู่บ้านนั้นเป็นกรรมการด้วยเท่านั้น ฉะนั้น หากการประชุมมีกรรมการประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง การประชุมก็ชอบด้วยกฎหมายแล้ว และตามรายงานการประชุม เอกสารหมาย จ.9 ก็ปรากฎว่าที่ประชุมได้สอบถามข้อเท็จจริงจากนายสัญชัย นายสมพาน นายแฉล้มและนายประภาซึ่งเป็นผู้รู้เห็นการเช่านาระหว่างโจทก์กับนางเล็กแล้วจึงลงมติฉะนั้น คำวินิจฉัยในข้อนี้จึงชอบแล้วส่วนที่จำเลยฎีกาว่า คำวินิจฉัยของ คชก.ตำบลบางคา ในส่วนที่กำหนดให้โจทก์ซื้อที่นาพิพาทจากจำเลยในราคา 140,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่นางเล็กขายให้นายสินสุขเป็นการมิชอบเพราะจำเลยซื้อที่นาพิพาทจากนายสินสุขในราคา 600,000 บาท นั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า”ถ้าผู้ให้เช่านาขายนาไปโดยมิได้ปฏิบัติตาม มาตรา 53 ไม่ว่านานั้นจะถูกโอนต่อไปยังผู้ใด ผู้เช่านามีสิทธิซื้อนาจากผู้รับโอนนั้นตามราคาและวิธีการชำระเงินที่ผู้รับโอนซื้อไว้หรือตามราคาตลาดในขณะนั้นแล้วแต่ราคาใดจะสูงกว่ากัน ” ฉะนั้น คำวินิจฉัยของคชก.ตำบลบางคาที่ให้โจทก์ซื้อที่นาพิพาทจากจำเลยในราคาที่นางเล็กขายให้นายสินสุขจึงไม่ต้องด้วยบทกฎหมายดังกล่าวเพราะโจทก์มีสิทธิซื้อที่นาพิพาทจากจำเลยในราคาที่จำเลยซื้อไว้จากนายสินสุขหรือตามราคาตลาดในขณะที่มีการซื้อขายกันตามที่กฎหมายกำหนดไว้ดังกล่าว อนึ่ง เกี่ยวกับคำวินิจฉัยของคชก.ตำบลบางคานี้แม้พระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพ.ศ. 2525 จะบัญญัติในมาตรา 56 วรรคสอง ว่า คำวินิจฉัยของคชก.ตำบลที่มิได้อุทธรณ์ตามมาตรา 56 วรรคหนึ่งให้เป็นที่สุดและในมาตรา 58 วรรคหนึ่ง ว่า ในกรณีมีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยดังกล่าว เมื่อผู้มีส่วนได้เสียร้องขอต่อศาลในการพิจารณาของศาลให้ถือว่าคำวินิจฉัยดังกล่าวเป็นคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการโดยให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาพิพากษาตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับแก่การพิจารณาพิพากษาตามคำวินิจฉัยดังกล่าวในกรณีนี้โดยอนุโลม ซึ่งการพิจารณาพิพากษาดังกล่าวนี้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 221 บัญญัติให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ คือพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 โดยพระราชบัญญัตินี้ บัญญัติในมาตรา 24วรรคหนึ่ง ว่า “ในกรณีที่ศาลเห็นว่า คำชี้ขาดใดไม่ชอบด้วยกฎหมายที่ใช้บังคับแก่ข้อพิพาทนั้น หรือเป็นคำชี้ขาดที่เกิดจากการกระทำหรือวิธีการอันมิชอบอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือมิได้อยู่ในขอบเขตแห่งสัญญาอนุญาโตตุลาการที่มีผลผูกพันตามกฎหมายหรือคำขอของคู่กรณีให้ศาลมีอำนาจทำคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดนั้น” และในมาตรา 24 วรรคสองว่า “ในกรณีที่คำชี้ขาดใดมีความบกพร่องอันมิใช่สาระสำคัญและอาจแก้ไขให้ถูกต้องได้ เช่น การคำนวณตัวเลขหรือการกล่าวอ้างถึงบุคคลหรือทรัพย์สิ่งใดผิดพลาดไป ศาลอาจแก้ไขให้ถูกต้องและมีคำพิพากษาให้บังคับตามคำชี้ขาดที่ได้แก้ไขแล้วนั้นได้” แต่ก็เห็นได้ว่าการนำบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาพิพากษาตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการดังกล่าวมาใช้บังคับแก่การพิจารณาพิพากษาบังคับตามคำวินิจฉัยที่ถึงที่สุดของ คชก.ตำบล จะต้องนำบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับเพียงเท่าที่ไม่ขัดต่อสภาพความชอบด้วยกฎหมายของคำวินิจฉัยด้วยกฎหมายของคำวินิจฉัยที่ถึงที่สุดของ คชก.ตำบลโดยเฉพาะในข้อที่ว่า ราคาที่ คชก.ตำบลวินิจฉัยให้ผู้รับโอนขายนาให้แก่ผู้เช่านาเป็นราคาตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 มาตรา 54 วรรคหนึ่งหรือไม่ มิใช่ข้อที่เป็นดุลพินิจเด็ดขาดของ คชก.ตำบล ในการพิจารณาว่าจะบังคับตามคำวินิจฉัยของ คชก.ตำบลหรือไม่ ศาลต้องพิจารณาว่า ราคาที่คชก.ตำบลวินิจฉัยตามบทบัญญัติดังกล่าวหรือไม่ ถ้ามิใช่ ศาลย่อมพิจารณาจากพยานหลักฐานและกำหนดราคาให้ถูกต้องแล้วพิพากษาให้บังคับให้ขายตามราคาที่กำหนดไปได้ แม้การพิพากษาดังกล่าวจะเป็นการแก้ไขคำวินิจฉัยที่ถึงที่สุดของ คชก.ตำบล ซึ่งมิใช่เป็นการแก้ไขตามมาตรา 24 วรรคสอง ของพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการพ.ศ. 2530 ดังนั้น ในเมื่อจำเลยให้การต่อสู้ว่า ราคาตลาดในขณะนั้นมีราคาไร่ละ 35,000 บาท จึงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยมีสิทธิขายที่นาพิพาทให้โจทก์ราคาใดข้อนี้ จำเลยนำสืบว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 147 เลขที่ดิน 8 ตำบลบางคา กิ่งอำเภอราชสาส์นจังหวัดฉะเชิงเทรา ที่อยู่ใกล้เคียงกับที่นาพิพาทซึ่งมีเนื้อที่6 ไร่เศษ เจ้าของได้ทำสัญญาจำนองแก่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2533 ในวงเงิน 480,000บาท คิดคำนวณราคาแล้ว ไร่ละประมาณ 80,000 บาท ปรากฎตามเอกสารหมาย ล.21 เห็นว่าที่ดินโฉนดเลขที่ดังกล่าวตั้งอยู่ตำบลเดียวกันกับที่นาพิพาท เลขที่ดินก็ใกล้เคียงกันกล่าวคือที่นาพิพาทเลขที่ดิน 6ส่วนที่ดินโฉนดเอกสารหมาย ล.21 เลขที่ดิน 8 จึงน่าเชื่อว่าที่นาพิพาทมีราคาในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2533 ไร่ละประมาณ 80,000 บาทจำเลยนำสืบอีกว่า โจทก์ได้เคยจำนองที่ดินของโจทก์ซึ่งอยู่ติดกับที่นาพิพาท เนื้อที่ดิน 43 ไร่เศษ เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2532ในราคา 1,300,000 บาท ปรากฎตามเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.3ซึ่งเมื่อคำนวณแล้วราคาไร่ละประมาณ 30,000 บาท โจทก์ก็เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านยอมรับว่าได้เคยจำนองที่ดินแก่ธนาคารกรุงไทยจำกัด ตามเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.3 จำเลยนำสืบต่อไปว่า ในวันที่โจทก์เสนอขอซื้อที่นาพิพาทจากจำเลยในวันที่ 25 พฤษภาคม 2532 ตามเอกสารหมาย จ.5 นั้น ที่นาพิพาทมีราคาตลาดไร่ละ 35,000 บาทตามข้อเสนอของจำเลยเอกสารหมาย ล.4 เห็นว่า โจทก์มิได้นำสืบหักล้างว่า ข้ออ้างของจำเลยไม่เป็นความจริง ทั้งตามพยานหลักฐานของจำเลยดังกล่าวข้างต้นก็แสดงว่า ข้ออ้างของจำเลยมีเหตุผลน่าเชื่อ เพราะก่อนหน้าที่โจทก์จะใช้สิทธิซื้อที่นาพิพาทจากจำเลยเพียง 1 เดือน ราคานาของโจทก์ซึ่งอยู่ติดกับที่นาพิพาทสามารถนำไปจำนองค้ำประกันหนี้ได้ถึงไร่ละประมาณ 30,000 บาทและหลังจากนั้น 1 ปีเศษ เจ้าของนาซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับที่นาพิพาทก็สามารถนำไปจำนองเป็นประกันหนี้แก่ธนาคารได้ถึงไร่ละประมาณ80,000 บาท ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่จำเลยนำสืบว่า ในขณะที่นายสินสุขขายที่นาพิพาทให้แก่จำเลย ที่นาพิพาทมีราคาตลาดไร่ละ35,000 บาท โจทก์จึงต้องซื้อคืนในราคาดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์ซื้อที่นาพิพาทจากจำเลยในราคา 140,000 บาท นั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อนึ่งที่ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับแก่การพิจารณาพิพากษาตามคำวินิจฉัยดังกล่าวในกรณีนี้โดยอนุโลม ซึ่งการพิจารณาพิพากษาดังกล่าวนี้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 221 บัญญัติให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ คือ พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการพ.ศ. 2530 โดยพระราชบัญญัตินี้ บัญญัติในมาตรา 24 วรรคหนึ่ง ว่า”ในกรณีที่ศาลเห็นว่า คำชี้ขาดใดไม่ชอบด้วยกฎหมายที่ใช้บังคับแก่ข้อพิพาทนั้น หรือเป็นคำชี้ขาดที่เกิดจากการกระทำหรือวิธีการอันมิชอบอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือมิได้อยู่ในขอบเขตแห่งสัญญาอนุญาโตตุลาการที่มีผลผูกพันตามกฎหมายหรือคำขอของคู่กรณี ให้ศาลมีอำนาจทำคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดนั้น” และในมาตรา 24วรรคสองว่า “ในกรณีที่คำชี้ขาดใดมีความบกพร่องอันมิใช่สาระสำคัญและอาจแก้ไขให้ถูกต้องได้ เช่น การคำนวณตัวเลขหรือการกล่าวอ้างถึงบุคคลหรือทรัพย์สิ่งใดผิดพลาดไป ศาลอาจแก้ไขให้ถูกต้องและมีคำพิพากษาให้บังคับตามคำชี้ขาดที่ได้แก้ไขแล้วนั้นได้” แต่ก็เห็นได้ว่าการนำบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาพิพากษาตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการดังกล่าวมาใช้บังคับแก่การพิจารณาพิพากษาบังคับตามคำวินิจฉัยที่ถึงที่สุดของ คชก.ตำบล จะต้องนำบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับเพียงเท่าที่ไม่ขัดต่อสภาพความชอบด้วยกฎหมายของคำวินิจฉัยที่ถึงที่สุดของ คชก.ตำบล โดยเฉพาะในข้อที่ว่า ราคาที่คชก.ตำบลวินิจฉัยให้ผู้รับโอนขายนาให้แก่ผู้เช่านาเป็นราคาตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 มาตรา 54วรรคหนึ่งหรือไม่ มิใช่ข้อที่เป็นดุลพินิจเด็ดขาดของ คชก.ตำบลในการพิจารณาว่าจะบังคับตามคำวินิจฉัยของ คชก.ตำบลหรือไม่ศาลต้องพิจารณาว่า ราคาที่ คชก.ตำบลวินิจฉัยเป็นราคาตอบบทบัญญัติดังกล่าวหรือไม่ ถ้ามิใช่ ศาลย่อมพิจารณาจากพยานหลักฐานและกำหนดราคาให้ถูกต้องแล้วพิพากษาให้บังคับให้ขายตามราคาที่กำหนดไปได้ แม้การพิพากษาดังกล่าวจะเป็นการแก้ไขคำวินิจฉัยที่ถึงที่สุดของ คชก.ตำบล ซึ่งมิใช่เป็นการแก้ไขตามมาตรา 24 วรรคสอง ของพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 ดังนั้น ในเมื่อจำเลยให้การต่อสู้ว่า ราคาตลาดในขณะนั้นมีราคาไร่ละ 35,000 บาท จึงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยมีสิทธิขายที่นาพิพาทให้โจทก์ในราคาใดข้อนี้ จำเลยนำสืบว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 147 เลขที่ดิน 8ตำบลบางคา กึ่งอำเภอราชสาส์น จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่อยู่ใกล้เคียงกับที่นาพิพาทซึ่งมีเนื้อที่ 6 ไร่เศษเจ้าของได้ทำสัญญาจำนองค้ำประกันหนี้จำนองแก่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2533 ในวงเงิน 480,000 บาท คิดคำนวณราคาแล้ว ไร่ละประมาณ 80,000 บาท ปรากฎตามเอกสารหมาย ล.21 เห็นว่าที่ดินโฉนดเลขที่ดังกล่าวตั้งอยู่ตำบลเดียวกับกับที่นาพิพาท เลขที่ดินก็ใกล้เคียงกันกล่าวคือที่นาพิพาทเลขที่ดิน 6 ส่วนที่ดินโฉนดเอกสารหมาย ล.21 เลขที่ดิน 8 จึงน่าเชื่อว่าที่นาพิพาทมีราคาในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2533 ไร่ละประมาณ 80,000 บาท จำเลยนำสืบอีกว่า โจทก์ได้เคยจำนองที่ดินของโจทก์ซึ่งอยู่ติดกับที่นาพิพาทเนื้อที่ดิน 43 ไร่เศษ เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2532 ในราคา1,300,000 บาท ปรากฎตามเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.3 ซึ่งเมื่อคำนวณแล้วราคาไร่ละประมาณ 30,000 บาท โจทก์ก็เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านยอมรับว่าได้เคยจำนองที่ดินแก่ธนาคารกรุงไทย จำกัด ตามเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.3 จำเลยนำสืบต่อไปว่า ในวันที่โจทก์เสนอขอซื้อที่นาพิพาทจากจำเลยในวันที่ 25 พฤษภาคม 2532 ตามเอกสารหมาย จ.5นั้น ที่นาพิพาทมีราคาตลาดไร่ละ 35,000 บาท ตามข้อเสนอของจำเลยเอกสารหมาย ล.4 เห็นว่า โจทก์มิได้นำสืบหักล้างว่า ข้ออ้างของจำเลยไม่เป็นความจริง ทั้งตามพยานหลักฐานของจำเลยดังกล่าวข้างต้นก็แสดงว่า ข้ออ้างของจำเลยมีเหตุผลน่าเชื่อ เพราะก่อนหน้าที่โจทก์จะใช้สิทธิซื้อที่นาพิพาทจากจำเลยเพียง 1 เดือน ราคานาของโจทก์ซึ่งอยู่ติดกับที่นาพิพาทสามารถนำไปจำนองค้ำประกันหนี้ได้ถึงไร่ละประมาณ 30,000 บาท และหลังจากนั้น 1 ปีเศษ เจ้าของนาซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับที่นาพิพาทก็สามารถนำไปจำนองเป็นประกันหนี้แก่ธนาคารได้ถึงไร่ละประมาณ 80,000 บาท ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามที่จำเลยนำสืบว่า ในขณะที่นายสินสุขขายที่นาพิพาทให้แก่จำเลย ที่นาพิพาทมีราคาตลาดไร่ละ 35,000 บาท โจทก์จึงต้องซื้อคืนในราคาดังกล่าวที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์ซื้อที่นาพิพาทจากจำเลยในราคา140,000 บาท นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อนึ่งที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์ซื้อที่นาพิพาทโดยไม่กำหนดเวลาให้โจทก์ชำระราคานั้นไม่สมบูรณ์ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดเวลาให้โจทก์ชำระราคาที่จะขอซื้อคืนด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ซื้อที่นาพิพาทจากจำเลยในราคาไร่ละ 35,000 บาท โดยให้โจทก์ชำระราคาภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาของศาลฎีกา มิฉะนั้น ให้ถือว่าโจทก์ไม่ติดใจขอซื้อคืน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์