คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1983/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้กองทุนเงินทดแทนจะไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย แต่เมื่อโจทก์ฟ้องระบุชื่อสำนักงานประกันสังคมซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเข้ามาเป็นจำเลยที่ 1 ด้วยโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1
โจทก์เป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นจากการควบกิจการระหว่าง 10 บริษัทตาม พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 แม้ในการควบกิจการดังกล่าวทั้ง 10 บริษัทเดิมจะหมดสภาพจากการเป็นนิติบุคคล และโจทก์ซึ่งเกิดจากการควบกันย่อมได้ไปทั้งทรัพย์สิน หนี้ สิทธิ หน้าที่และความรับผิดชอบของบริษัทเหล่านั้นทั้งหมดตาม พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 มาตรา 152 และมาตรา 153 ก็ตาม แต่ 10 บริษัทดังกล่าวต่างมีลักษณะการประกอบกิจการและรหัสกิจการสำหรับการประเมินเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนที่หลากหลายแตกต่างกัน มิได้มีลักษณะการประกอบกิจการและรหัสกิจการที่เหมือนกับโจทก์เสียทีเดียว ทั้งการควบกิจการนี้ยังทำให้ลักษณะการประกอบกิจการของโจทก์อันเกิดจากการควบกิจการระหว่าง 10 บริษัทดังกล่าวระคนปนกันไปจนไม่อาจแยกออกจากกันได้ กรณีจึงไม่อาจนำอัตราเงินสมทบตามค่าประสบการณ์ของ 10 บริษัทดังกล่าวก่อนการควบกิจการมาใช้เป็นส่วนลดอัตราเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนของโจทก์ตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 45 และประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่อง อัตราเงินสมทบ อัตราเงินฝาก วิธีการประเมินและการเรียกเก็บเงินสมทบ ลงวันที่ 12 กันยายน พ.ศ.2537 ข้อ 15 กับตารางที่ 2 แนบท้ายประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่อง อัตราเงินสมทบ อัตราเงินฝาก วิธีการประเมินและการเรียกเก็บเงินสมทบ (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ.2540 ได้
เมื่ออัตราเงินสมทบ หมวด 1600 ประเภทกิจการอื่นๆ รหัส 1601 สถาบันการเงิน สถาบันการประกันภัย สถาบันการศึกษา สถาบันการวิจัย การบริหารเกี่ยวกับกฎหมาย บัญชี หรือบริการด้านธุรกิจ อัตราเงินสมทบร้อยละ 0.2 ของค่าจ้างนั้นใช้สำหรับการประเมินเงินสมทบในประเภทกิจการที่เป็นวัตถุประสงค์หลักในการประกอบกิจการของนายจ้าง แม้โจทก์จะอ้างว่ากิจการของโจทก์มีลูกจ้างทำงานในสำนักงานด้วย แต่เมื่อโจทก์มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการผลิต จำหน่ายอาหารสัตว์ การเลี้ยงสัตว์ การผลิตอาหารและถนอมอาหาร ไม่ได้มีวัตถุประสงค์หลักในการประกอบกิจการประเภทดังกล่าวข้างต้น จึงไม่อาจปรับเข้ารหัส 1601 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนใบประเมินเงินสมทบเล่มที่ 1471 เลขที่ 81 ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2555 ของจำเลยที่ 1 และคำวินิจฉัยที่ 181/2555 ลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2555 ของจำเลยที่ 2 และมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ประเมินเงินสมทบประจำปี 2555 ให้แก่โจทก์ใหม่โดยใช้อัตราเงินสมทบตามค่าประสบการณ์ของบริษัททั้งสิบที่ควบกันเป็นบริษัทโจทก์มาประเมิน และให้จำเลยที่ 1 แยกประเมินเงินสมทบสำหรับลูกจ้างของโจทก์ที่ทำงานสำนักงานโดยประเมินในรหัสของการทำงานสำนักงาน
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์มิได้ประกอบกิจการหรือดำเนินงานในลักษณะที่จัดอยู่ในประเภทกิจการอื่นๆ โจทก์เป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นใหม่ซึ่งเกิดจากการควบบริษัททั้งสิบเดิม ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับอัตราเงินสมทบตามค่าประสบการณ์ที่ลดหรือเพิ่มตามอัตราส่วนการสูญเสียของนายจ้าง แล้ววินิจฉัยว่า กองทุนเงินทดแทนไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 กิจการของโจทก์มีเพียง 4 รหัสประเภทกิจการตามที่สำนักงานประกันสังคมประเมินไว้เท่านั้น โจทก์ไม่อาจนำอัตราเงินสมทบตามค่าประสบการณ์ของบริษัททั้งสิบเดิมมาใช้ในการประเมินเงินสมทบที่โจทก์ต้องนำส่งได้ ไม่มีเหตุที่จะต้องเพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยของจำเลยทั้งสอง มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องกองทุนเงินทดแทน สำนักงานประกันสังคม เป็นจำเลยที่ 1 สำนักงานประกันสังคมเป็นส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่น มีฐานะเป็นกรมและมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง (4) และวรรคสาม มาตรา 18 วรรคหนึ่ง (3) และวรรคสอง และพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545 มาตรา 35 (6) แม้กองทุนเงินทดแทนซึ่งเป็นหน่วยงานหน่วยหนึ่งในสังกัดของสำนักงานประกันสังคมจะไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย เมื่อโจทก์ฟ้องระบุชื่อสำนักงานประกันสังคมซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเข้ามาเป็นจำเลยที่ 1 ด้วย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ศาลแรงงานกลางพิจารณาแต่เพียงกองทุนเงินทดแทน ไม่ได้พิจารณาถึงสำนักงานประกันสังคมซึ่งถือได้ว่าเป็นจำเลยที่ 1 ด้วยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อต่อไปว่ามีเหตุที่จะเพิกถอนการประเมินเงินสมทบประจำปี 2555 ของจำเลยที่ 1 และคำวินิจฉัยที่ 181/2555 ของจำเลยที่ 2 หรือไม่ เพียงใด ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2555 โจทก์จัดตั้งขึ้นจากการจดทะเบียนควบกิจการระหว่างสิบบริษัท คือ (1) บริษัทซีพีเอฟ ผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ประกอบกิจการฆ่าสัตว์ การเลี้ยงสัตว์ และผลิตภัณฑ์แปรรูป (2) บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อุตสาหกรรม จำกัด ประกอบกิจการผลิตภัณฑ์แปรรูป (3) บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อีสาน จำกัด (มหาชน) ประกอบกิจการผลิตภัณฑ์แปรรูป กิจการขายสินค้า และการเลี้ยงสัตว์ (4) บริษัทแกลง จำกัด ประกอบกิจการผลิตภัณฑ์แปรรูป (5) บริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล เพ็ท ฟู้ด จำกัด ประกอบกิจการขายสินค้า (6) บริษัทซี.พี.เกษตรอุตสาหกรรม จำกัด ประกอบกิจการขายสินค้า (7) บริษัทกรุงเทพผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ประกอบกิจการผลิตภัณฑ์แปรรูป (8) บริษัทกรุงเทพผลิตผลอุตสาหกรรมการเกษตร จำกัด (มหาชน) ประกอบกิจการผลิตภัณฑ์แปรรูป และการเลี้ยงสัตว์ (9) บริษัทบี.พี.ผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ประกอบกิจการผลิตภัณฑ์แปรรูป (10) บริษัทราชบุรีอาหาร จำกัด ประกอบกิจการผลิตภัณฑ์แปรรูป เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2555 สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 4 โดยนางสาวนุจรีย์ นักวิชาการประกันสังคมประเมินเงินสมทบของโจทก์ประจำปี 2555 โดยแยกรหัสประเภทกิจการ 4 รหัส คือ การเลี้ยงสัตว์ รหัส 1615 อัตราเงินสมทบร้อยละ 0.3 ของค่าจ้างการฆ่าสัตว์ รหัส 0201 อัตราเงินสมทบร้อยละ 0.4 ของค่าจ้าง การขายส่งอาหารสัตว์รหัส 1501 อัตราเงินสมทบร้อยละ 0.4 ของค่าจ้าง และการผลิตเครื่องดื่ม ถนอมอาหารรหัส 0203 อัตราเงินสมทบร้อยละ 0.5 ของค่าจ้าง คิดเป็นเงินสมทบทั้งสิ้น 8,966,925 บาท ตามใบประเมินเงินสมทบประจำปี โจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าวจึงอุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 2 ต่อมาจำเลยที่ 2 มีคำวินิจฉัยที่ 181/2555 ยกอุทธรณ์ของโจทก์โดยยืนตามความเห็นของสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 4 ตามคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 2 โจทก์ไม่เห็นด้วยกับการประเมินเงินสมทบของจำเลยที่ 1 และคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 2 จึงนำมาฟ้องเป็นคดีนี้ โจทก์ได้ชำระเงินสมทบครบถ้วนแล้วเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2555 ตามใบเสร็จรับเงิน ซึ่งโจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์เกิดจากการควบกิจการระหว่างนิติบุคคลจำนวนสิบบริษัท สิทธิ หน้าที่และความรับผิดของบริษัทเดิมย่อมโอนมายังบริษัทใหม่คือโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1243 ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยยืนตามความเห็นของจำเลยที่ 1 และคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 2 ที่ 181/2555 โดยให้โจทก์ต้องจ่ายเงินสมทบตามประเภทกิจการโดยไม่นำเอาอัตราเงินสมทบตามค่าประสบการณ์ของทั้งสิบบริษัทก่อนการควบกิจการมาใช้คำนวณปรับลดอัตราเงินสมทบให้โจทก์ จึงไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 45 นั้น เห็นว่า ได้ความตามหนังสือรับรองของโจทก์ที่ปรากฏในเอกสารว่า โจทก์เป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นจากการควบกิจการระหว่างสิบบริษัทตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 แม้ในการควบกิจการดังกล่าวสิบบริษัทเดิมจะหมดสภาพจากการเป็นนิติบุคคล และโจทก์ซึ่งเกิดจากการควบกันย่อมได้ไปทั้งทรัพย์สิน หนี้ สิทธิหน้าที่และความรับผิดชอบของบริษัทเหล่านั้นทั้งหมดตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 มาตรา 152 และมาตรา 153 ก็ตาม แต่สิบบริษัทดังกล่าวต่างมีลักษณะการประกอบกิจการและรหัสกิจการสำหรับการประเมินเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนที่หลากหลายแตกต่างกัน มิได้มีลักษณะการประกอบกิจการและรหัสกิจการที่เหมือนกับโจทก์เสียทีเดียว ทั้งการควบกิจการนี้ยังทำให้ลักษณะการประกอบกิจการของโจทก์อันเกิดจากการควบกิจการระหว่างสิบบริษัทดังกล่าวระคนปนกันไปจนไม่อาจแยกออกจากกันได้ กรณีจึงไม่อาจนำอัตราเงินสมทบตามค่าประสบการณ์ของสิบบริษัทดังกล่าวก่อนการควบกิจการมาใช้เป็นส่วนลดอัตราเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนของโจทก์ตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 45 และประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่อง อัตราเงินสมทบ อัตราเงินฝาก วิธีการประเมินและการเรียกเก็บเงินสมทบ ลงวันที่ 12 กันยายน พ.ศ.2537 ข้อ 15 กับตารางที่ 2 แนบท้ายประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่อง อัตราเงินสมทบ อัตราเงินฝาก วิธีการประเมินและการเรียกเก็บเงินสมทบ (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ.2540 ได้ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยยืนตามความเห็นของจำเลยที่ 1 และคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 2 ชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share