แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 183 บัญญัติว่า “คดีที่ศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวได้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้ฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นไปยังศาลฎีกาได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความเหมือนคดีธรรมดา เว้นแต่กรณีที่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามมาตรา 180” นอกจากนี้ มาตรา 6 ยังบัญญัติให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับแก่การพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวกรณีไม่มีบทบัญญัติไว้โดยเฉพาะ ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาคดีส่วนแพ่ง ปัญหาว่าคดีของโจทก์ร่วมต้องห้ามฎีกาหรือไม่จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า “ในคดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาทหรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงเว้นแต่ผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีนั้นในศาลอุทธรณ์ได้มีความเห็นแย้งหรือผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นก็ดี ศาลอุทธรณ์ก็ดีได้รับรองไว้หรือรับรองในเวลาตรวจฎีกาว่า มีเหตุสมควรที่จะฎีกาได้…” การที่โจทก์ร่วมฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดค่าเสียหายจึงเป็นปัญหาข้อเท็จจริงและทุนทรัพย์ไม่เกินสองแสนบาท ต้องห้ามฎีกาปัญหาข้อเท็จจริง แต่เมื่อผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ร่วมฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงพอแปลได้ว่ารับรองให้โจทก์ร่วมฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้นนั่นเอง ฎีกาของโจทก์ร่วมจึงไม่ต้องห้ามฎีกา
ป.อ. มาตรา 277 วรรคแรก บัญญัติว่า “ผู้ใดกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาหรือสามีของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ยินยอมเป็นความผิด” แสดงว่า กฎหมายมุ่งคุ้มครองเด็กอายุน้อยเป็นกรณีพิเศษโดยไม่ให้ความสำคัญแก่ความยินยอมของเด็ก ดังนั้น แม้ผู้เสียหายที่ 3 ยินยอมมีเพศสัมพันธ์กับจำเลย การกระทำของจำเลยก็ยังเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อกฎหมาย จึงยังคงเป็นการละเมิดต่อผู้เสียหายที่ 3 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 โจทก์ร่วมในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เสียหายที่ 3 ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277, 317, 58, 91 และบวกโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 254/2554 ของศาลชั้นต้น เข้ากับโทษในคดีนี้
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษ
ระหว่างพิจารณานายสุรพล ผู้เสียหายที่ 1 และในฐานะบิดาโดยชอบธรรมของผู้เสียหายที่ 3 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอเรียกค่าสินไหมทดแทนความเสียหายที่โจทก์ร่วมและผู้เสียหายที่ 3 ได้รับทางด้านร่างกายและจิตใจ จำนวน 200,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันกระทำความผิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยไม่ยื่นคำให้การในคดีส่วนแพ่ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสาม, 317 วรรคสาม การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ 16 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 ฐานพรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากบิดามารดาโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร จำคุก 3 ปี และฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกิน 13 ปี ซึ่งมิใช่ภริยาของตน จำคุก 4 ปี รวมจำคุก 7 ปี อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 142 (1) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 2 (จังหวัดราชบุรี) มีกำหนดขั้นต่ำ 3 ปี และขั้นสูง 4 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษา หากจำเลยมีอายุครบ 24 ปีบริบูรณ์แล้ว แต่ยังได้รับการฝึกอบรมไม่ครบถ้วนให้ส่งตัวจำเลยไปจำคุกไว้ในเรือนจำตามระยะเวลาการฝึกอบรมที่เหลือ ส่วนที่โจทก์ขอให้บวกโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 254/2554 ของศาลชั้นต้น เข้ากับโทษของจำเลยในคดีนี้นั้น เนื่องจากในคดีดังกล่าว ศาลรอการลงโทษจำคุก ส่วนคดีนี้ศาลส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกอบรม จึงไม่อาจนำโทษดังกล่าวมาบวกเข้ากับคดีนี้ได้ จึงให้ยกคำขอในส่วนนี้ และให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์ร่วมเป็นเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 17 มิถุนายน 2554 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์ร่วมจำนวน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 17 มิถุนายน 2554 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ร่วมฎีกาเฉพาะในคดีส่วนแพ่ง โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นรับรองให้ฎีกาปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ร่วมฎีกาและจำเลยแก้ฎีกามาประการแรกว่า ฎีกาโจทก์ร่วมต้องห้ามฎีกาตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 183 หรือไม่ เห็นว่า ตามมาตรา 183 ดังกล่าวบัญญัติว่า “คดีที่ศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวได้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้ฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นไปยังศาลฎีกาได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความเหมือนคดีธรรมดา เว้นแต่กรณีที่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามมาตรา 180” นอกจากนี้มาตรา 6 ยังบัญญัติให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับแก่การพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวกรณีไม่มีบทบัญญัติไว้โดยเฉพาะ ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาคดีส่วนแพ่ง คดีของโจทก์ร่วมต้องห้ามฎีกาหรือไม่จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า “ในคดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาทหรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงเว้นแต่ผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีนั้นในศาลอุทธรณ์ได้มีความเห็นแย้งหรือผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นก็ดี ศาลอุทธรณ์ก็ดีได้รับรองไว้หรือรับรองในเวลาตรวจฎีกาว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาได้…” การที่โจทก์ร่วมฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดค่าเสียหายจึงเป็นปัญหาข้อเท็จจริงและทุนทรัพย์ไม่เกินสองแสนบาท ต้องห้ามฎีกาปัญหาข้อเท็จจริง แต่เมื่อผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ร่วมฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงพอแปลได้ว่ารับรองให้โจทก์ร่วมฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้นนั่นเอง ฎีกาของโจทก์ร่วมจึงไม่ต้องห้ามฎีกาดังที่จำเลยแก้ฎีกา มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมประการต่อมาว่า โจทก์ร่วมมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยในความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราหรือไม่ โดยโจทก์ร่วมฎีกาขอให้กำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ร่วมเป็นเงิน 200,000 บาท ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก บัญญัติว่า “ผู้ใดกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาหรือสามีของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ยินยอมเป็นความผิด” แสดงว่า กฎหมายมุ่งคุ้มครองเด็กอายุน้อยเป็นกรณีพิเศษโดยไม่ให้ความสำคัญแก่ความยินยอมของเด็ก ดังนั้น แม้ผู้เสียหายที่ 3 ยินยอมการกระทำของจำเลยก็ยังเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อกฎหมาย ดังนั้น แม้ได้ความจากคำเบิกความของเด็กหญิงเด่นนภา ผู้เสียหายที่ 3 ว่า ผู้เสียหายที่ 3 ยินยอมมีเพศสัมพันธ์กับจำเลย การกระทำของจำเลยจึงยังคงเป็นการละเมิดต่อผู้เสียหายที่ 3 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ผู้เสียหายที่ 3 จึงไม่สิ้นสิทธิในการเรียกค่าเสียหายฐานละเมิดจากจำเลย โจทก์ร่วมในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เสียหายที่ 3 ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า เมื่อผู้เสียหายที่ 3 ยินยอมให้จำเลยกระทำชำเราจึงไม่เป็นละเมิดและไม่อาจเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยได้นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ร่วมข้อนี้ฟังขึ้น ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายที่ 3 เพียงใด เห็นว่า เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์และความร้ายแรงที่จำเลยกระทำละเมิดทางเพศต่อผู้เสียหายที่ 3 แล้ว สมควรกำหนดค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายที่ 3 เป็นเงิน 100,000 บาท ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 และเมื่อรวมกับค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยต้องชำระให้แก่โจทก์ร่วม 50,000 บาท ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ซึ่งยุติไปแล้ว รวมเป็นเงิน 150,000 บาท
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์ร่วม 150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 17 มิถุนายน 2554 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7