แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒๐/๒๕๕๓
วันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๕๓
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔)
ศาลแพ่ง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) ในฐานะหุ้นส่วนกิจการร่วมค้าบีบีซีดี โจทก์ ยื่นฟ้องการทางพิเศษแห่งประเทศไทย จำเลย ต่อศาลแพ่ง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๗๒๑/๒๕๕๑ ความว่า เมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๓๘ โจทก์และนิติบุคคลอื่นอีกสองรายร่วมกันทำการค้าในนามกิจการร่วมค้าบีบีซีดี ตกลงทำสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนสายบางนา-บางพลี-บางปะกง กับจำเลย โดยมีสาระสำคัญให้กิจการร่วมค้าบีบีซีดีรับจ้างเหมาจากจำเลย เพื่อจัดหาเงินลงทุน ออกแบบรวมก่อสร้างทางด่วนสายดังกล่าว และจำเลยตกลงชำระค่าจ้างเหมาเป็นเงิน ๒๕,๑๙๒,๙๕๐,๐๐๐ บาท ซึ่งต่อมากิจการร่วมค้าบีบีซีดีไม่สามารถตกลงกับจำเลยเรื่องการปรับราคาค่าคงที่ตามสัญญา จึงยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการเพื่อวินิจฉัยชี้ขาดให้จำเลยชำระราคาค่าคงที่ตามสัญญาเพิ่มขึ้นจำนวน ๖,๐๓๙,๘๙๓,๒๕๔ บาท อนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้จำเลยชำระเงินให้แก่กิจการร่วมค้าบีบีซีดีจำนวน ๓,๓๗๑,๔๔๖,๑๑๔ บาท พร้อมดอกเบี้ย แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำชี้ขาด กิจการร่วมค้าบีบีซีดีจึงยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทดังกล่าว ศาลแพ่งกรุงเทพใต้พิพากษาให้จำเลยปฏิบัติตาม คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ จำเลยอุทธรณ์ ศาลฎีกามีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๒๗๗/๒๕๔๙ ว่า สัญญาดังกล่าวระหว่างกิจการร่วมค้าบีบีซีดีและจำเลยเป็นสัญญาที่เกิดจากการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงไม่มีผลผูกพันจำเลย คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ชี้ขาดให้จำเลยชำระเงินให้แก่กิจการร่วมค้าบีบีซีดีตามสัญญาที่เกิดจากการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวนั้น หากศาลบังคับให้ย่อมเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ชอบที่ศาลชั้นต้นจะปฏิเสธไม่รับบังคับให้ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๔๔ คำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการดังกล่าวจึงฝ่าฝืนต่อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน และโดยผลแห่งคำพิพากษาศาลฎีกาทำให้จำเลยได้ไปซึ่งการออกแบบรวมก่อสร้างทางด่วนสายบางนา-บางพลี-บางปะกง และทางด่วนที่ก่อสร้างแล้วเสร็จโดยปราศจากมูลอันจะอ้างได้ตามกฎหมาย จำเลยจึงมีหน้าที่คืนทางด่วนสายบางนา-บางพลี-บางปะกงให้แก่กิจการร่วมค้าบีบีซีดี แต่เนื่องจากทางด่วนสายดังกล่าวตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินแล้ว จำเลยจึงต้องชดใช้เงินในส่วนที่กิจการร่วมค้าบีบีซีดีเสียเปรียบ ขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงินจำนวน ๖,๐๓๙,๘๙๓,๒๕๔ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๔๓ ซึ่งเป็นวันที่กิจการร่วมค้าบีบีซีดีส่งมอบงานก่อสร้างส่วนย่อยสุดท้ายของทางด่วนที่ก่อสร้างแล้วเสร็จให้แก่จำเลยไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คิดถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ยจำนวน ๓,๖๔๓,๗๙๓,๑๓๕.๗๖ บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงินทั้งสิ้น ๙,๖๘๓,๖๘๖,๓๘๙.๗๖ บาท กับให้จำเลยชดใช้ดอกผลอันเกิดจากค่าผ่านทางซึ่งจำเลยเรียกเก็บจากผู้ใช้ทางด่วนตั้งแต่วันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ไปจนกว่าจำเลยจะชดใช้เงินจำนวน ๙,๖๘๓,๖๘๖,๓๘๙.๗๖ บาท แก่กิจการร่วมค้าบีบีซีดีจนเสร็จสิ้น
จำเลยให้การว่า ข้อกล่าวอ้างมูลฟ้องของโจทก์ไม่ถูกต้อง ฟ้องโจทก์เกิดจากมูลอันขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๒๗๗/๒๕๔๙ เป็นที่ยุติในเรื่องดังกล่าวแล้ว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลยุติธรรม แต่อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในนามกิจการร่วมค้าบีบีซีดี เนื่องจากหุ้นส่วนอื่นซึ่งเป็นนิติบุคคลอีกสองรายที่โจทก์กล่าวอ้างไม่ได้มอบอำนาจให้โจทก์ฟ้องคดีนี้
ทั้งโจทก์ฟ้องคดีโดยอ้างถึงความสัมพันธ์และความขัดแย้งตามมูลสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนสายบางนา-บางพลี-บางปะกง ระหว่างโจทก์และจำเลย ซึ่งเป็นคดีที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาแล้วเป็นผลให้คดีถึงที่สุด โดยเป็นคดีที่มีคู่ความรายเดียวกัน มูลหนี้และประเด็นข้อเท็จจริงเรื่องเดียวกัน ทุนทรัพย์ที่เรียกร้องซึ่งมีรายละเอียดของทุนทรัพย์แต่ละรายการเป็นจำนวนเดียวกัน ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้ำ คดีนี้มีที่มาจากมูลสัญญา มิใช่ลาภมิควรได้ คดีขาดอายุความ โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ข้ออ้างตามฟ้องโจทก์เรื่องราคาค่าคงที่ไม่ถูกต้องเป็นการกล่าวอ้างลอยๆ ทั้งข้ออ้างและข้อเรียกร้องของโจทก์ที่อ้างผลของคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๒๗๗/๒๕๔๙ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า แม้คำฟ้องโจทก์จะมีข้ออ้างซึ่งอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในมูลลาภมิควรได้ แต่เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้สืบเนื่องมาจากสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนสายบางนา-บางพลี-บางประกง อันเป็นสัญญาทางปกครอง ซึ่งเมื่อเป็นกรณีการใช้สิทธิเรียกร้องอันเกี่ยวด้วยมูลสัญญาเดิม ทั้งมิใช่คดีที่พิพาทกันด้วยเหตุแห่งการดำเนินการในกระบวนการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ การที่โจทก์ยื่นฟ้องและมีคำขอให้จำเลยชดใช้เงินอันเป็นมูลค่าใช้จ่ายในการออกแบบและก่อสร้างทางด่วนและทางด่วนที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ ย่อมถือเป็นการบังคับให้ปฏิบัติการชำระหนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลย จึงเป็นข้อพิพาทที่เกี่ยวเนื่องกับสัญญาทางปกครอง ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
โจทก์ทำคำชี้แจงว่า เมื่อจำเลยให้การรับว่าศาลฎีกามีคำพิพากษาว่า สัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนสายบางนา-บางพลี-บางปะกงไม่มีผลผูกพันจำเลย คดีนี้จึงไม่จำต้องพิจารณาถึงสิทธิตามสัญญา ทั้งคดีไม่มีประเด็นต้องพิจารณาเกี่ยวกับการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือคำสั่งทางปกครองของเจ้าหน้าที่ของรัฐ คดีมีประเด็นว่าจำเลยได้ไปซึ่งการออกแบบก่อสร้างทางด่วนเป็นลาภมิควรได้หรือไม่ และเมื่อเหตุแห่งการฟ้องคดีเป็นผลต่อเนื่องจากการที่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สัญญาดังกล่าวไม่มีผลผูกพันจำเลย คดีนี้จึงเป็นคดีต่อเนื่องจากคดีอันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลแพ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้มีมูลความแห่งคดีสืบเนื่องมาจากคดีที่กิจการร่วมค้าบีบีซีดีซึ่งโจทก์เป็นหุ้นส่วนร้องขอต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ซึ่งได้ชี้ขาดให้จำเลยชำระเงินจำนวนเดียวกันกับที่โจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้ คดีดังกล่าวจำเลยโต้แย้งเรื่องเขตอำนาจศาลจนคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลได้มีคำวินิจฉัยที่ ๑/๒๕๔๖ ว่า คดีดังกล่าวอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม และศาลฎีกาพิพากษาว่า สัญญาระหว่างกิจการร่วมค้าบีบีซีดีกับจำเลยเกิดจากการกระทำของผู้ว่าการจำเลยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หากศาลบังคับให้ย่อมเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน อันเป็นการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๑๘ ซึ่งย่อมแปลความได้ว่าศาลฎีกาวินิจฉัยโดยอาศัยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๐ ซึ่งบัญญัติให้การใดมีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นเป็นโมฆะ อันเป็นการวินิจฉัยโดยหลักแห่งกฎหมายแพ่ง เมื่อคดีนี้โจทก์กล่าวอ้างว่าตนในฐานะผู้ต้องผูกพันโดยผลแห่งคำพิพากษาศาลฎีกายังมีสิทธิเรียกร้องต่อเนื่องจากคำพิพากษาของศาลฎีกาดังกล่าว มิได้พิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือโดยไม่สุจริต และมิได้ขอให้บังคับตามสัญญาเดิมซึ่งเป็นสัญญาทางปกครอง แต่ขอให้วินิจฉัยผลแห่งการได้ไปซึ่งทรัพย์สินอันศาลยุติธรรมยังมิได้วินิจฉัยไว้ คดีนี้จึงต้องวินิจฉัยต่อเนื่องกับคดีดังกล่าวภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎหมายแพ่ง และอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า สัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนสายบางนา-บางพลี-บางปะกง ระหว่างจำเลยและกิจการร่วมค้าบีบีซีดี มีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครอง แม้มูลความแห่งคดีนี้จะสืบเนื่องมาจากการที่จำเลยอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลแพ่งกรุงเทพใต้ที่พิพากษาบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการให้จำเลยชำระเงินแก่กิจการร่วมค้าบีบีซีดี ซึ่งศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๒๗๗/๒๕๔๙ ว่า การใช้อำนาจในฐานะผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยของนายศิวะ เจริญพงษ์ ที่ลงนามในสัญญาดังกล่าวเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย และในการทำสัญญาดังกล่าวกิจการร่วมค้าบีบีซีดีใช้สิทธิโดยไม่สุจริต สัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนสายบางนา-บางพลี-บางปะกง ซึ่งเกิดจากการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงไม่มีผลผูกพันจำเลยในคดีนี้ก็ตาม แต่ในคดีก่อนที่ศาลยุติธรรมพิจารณาพิพากษาข้อพิพาทระหว่างกิจการร่วมค้าบีบีซีดี กับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (จำเลยในคดีนี้) ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๒๗๗/๒๕๔๙ เป็นเพียงการพิจารณาพิพากษาเกี่ยวกับการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการเท่านั้น ส่วนการที่โจทก์ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจการร่วมค้าบีบีซีดีนำผลแห่งคำพิพากษาของศาลฎีกาดังกล่าวข้างต้นที่วินิจฉัยว่าสัญญาดังกล่าวไม่มีผลผูกพันจำเลยมาฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยชดใช้เงินค่าออกแบบทางด่วนซึ่งตนมีสิทธิที่จะได้รับพร้อมดอกเบี้ย รวมทั้งดอกผลอันเกิดจากทางด่วนสายดังกล่าว โดยโจทก์อ้างฐานกฎหมายในการใช้สิทธิเรียกร้องจากจำเลยในเรื่องลาภมิควรได้ เนื่องจากโจทก์ไม่สามารถเรียกร้องสิทธิตามสัญญาจากจำเลยที่เป็นหน่วยงานทางปกครองให้รับผิดชดใช้สิ่งที่จำเลยได้ไป และการที่จำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองจะต้องรับผิดชดใช้เงินแก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด ย่อมเป็นการกระทำในหน้าที่ราชการหรือเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมาย คดีที่โจทก์นำมาฟ้องจึงอาศัยฐานแห่งสิทธิหรือมูลหนี้ที่ต่างกันและไม่เกี่ยวข้องกับข้อพิพาทในคดีก่อน แต่มีลักษณะเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องสรุปได้ว่า โจทก์ในฐานะหุ้นส่วนกิจการร่วมค้าบีบีซีดีได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากกรณีกิจการร่วมค้าบีบีซีดีตกลงทำสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนสายบางนา-บางพลี-บางปะกง กับจำเลย และกิจการร่วมค้าบีบีซีดีไม่สามารถตกลงกับจำเลยเรื่องการปรับราคาค่าคงที่ตามสัญญาดังกล่าว จึงยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการเพื่อวินิจฉัยชี้ขาดให้จำเลยชำระราคาค่าคงที่ตามสัญญาเพิ่มขึ้นจำนวน ๖,๐๓๙,๘๙๓,๒๕๔ บาท อนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้จำเลยชำระเงินให้แก่กิจการร่วมค้าบีบีซีดีจำนวน ๓,๓๗๑,๔๔๖,๑๑๔ บาท พร้อมดอกเบี้ย แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำชี้ขาด กิจการร่วมค้าบีบีซีดีจึงยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทดังกล่าว ศาลแพ่งกรุงเทพใต้พิพากษาให้จำเลยปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ จำเลยอุทธรณ์ ศาลฎีกามีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๒๗๗/๒๕๔๙ ว่า สัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนสายบางนา-บางพลี-บางปะกง ระหว่างกิจการร่วมค้าบีบีซีดีและจำเลยเป็นสัญญาที่เกิดจากการกระทำอันไม่ชอบด้วยกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงไม่มีผลผูกพันจำเลย คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ชี้ขาดให้จำเลยชำระเงินให้แก่กิจการร่วมค้าบีบีซีดีตามสัญญาที่เกิดจากการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวนั้น หากศาลบังคับให้ย่อมเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ชอบที่ศาลชั้นต้นจะปฏิเสธไม่รับบังคับให้ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๔๔ คำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการดังกล่าวจึงฝ่าฝืนต่อกฎหมาย อันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งโดยผลของคำพิพากษาศาลฎีกาทำให้จำเลยได้ไปซึ่งการออกแบบรวมก่อสร้างทางด่วนสายบางนา-บางพลี-บางปะกง และทางด่วนที่ก่อสร้างแล้วเสร็จโดยปราศจากมูลอันจะอ้างได้ตามกฎหมาย จำเลยจึงมีหน้าที่คืนทางด่วนสายบางนา-บางพลี-บางปะกงให้แก่กิจการร่วมค้าบีบีซีดี แต่เนื่องจากทางด่วนสายดังกล่าวตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินแล้ว จำเลยจึงต้องชดใช้เงินในส่วนที่กิจการร่วมค้าบีบีซีดีเสียเปรียบ ขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงินจำนวน ๖,๐๓๙,๘๙๓,๒๕๔ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๔๓ ซึ่งเป็นวันที่กิจการร่วมค้าบีบีซีดีส่งมอบงานก่อสร้างส่วนย่อยสุดท้ายของทางด่วนที่ก่อสร้างแล้วเสร็จให้แก่จำเลยไปจนกว่าจะชำระเสร็จ รวมต้นเงินและดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงินทั้งสิ้น ๙,๖๘๓,๖๘๖,๓๘๙.๗๖ บาท กับให้จำเลยชดใช้ดอกผลอันเกิดจากค่าผ่านทางซึ่งจำเลยเรียกเก็บจากผู้ใช้ทางด่วนตั้งแต่วันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ จนกว่าจำเลยจะชดใช้เงินจำนวน ๙,๖๘๓,๖๘๖,๓๘๙.๗๖ บาท แก่กิจการร่วมค้าบีบีซีดีจนเสร็จสิ้น เห็นว่า คดีนี้เป็นกรณีพิพาทที่เกี่ยวข้องกันกับคดีที่กิจการร่วมค้าบีบีซีดียื่นคำร้องต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ซึ่งคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๑/๒๕๔๖ ให้คดีเกี่ยวกับการร้องขอให้มีการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเกี่ยวกับสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนสายบางนา-บางพลี- บางปะกง ระหว่างกิจการร่วมค้าบีบีซีดี ผู้ร้อง กับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ผู้คัดค้าน อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม และต่อมาศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๒๗๗/๒๕๔๙ แล้ว ดังนั้นเมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ในฐานะหุ้นส่วนกิจการร่วมค้าบีบีซีดีซึ่งเป็นผู้ร้องในคดีตามคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๑/๒๕๔๖ ทั้งมูลเหตุที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ก็เป็นกรณีที่โจทก์อ้างว่ามีสิทธิเรียกเงินจากจำเลยในส่วนที่กิจการร่วมค้าบีบีซีดีเสียเปรียบฐานลาภมิควรได้ อันเนื่องมาจากผลทางกฎหมายของคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๒๗๗/๒๕๔๙ ข้อพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลยจึงเป็นข้อพิพาทที่สืบเนื่องมาจากคดีพิพาทระหว่างกิจการร่วมค้าบีบีซีดีซึ่งโจทก์เป็นหุ้นส่วนกับจำเลยตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว ข้อพิพาทในคดีนี้จึงชอบที่จะได้ดำเนินกระบวนพิจารณาที่ศาลเดียวกัน คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) ในฐานะหุ้นส่วนกิจการร่วมค้าบีบีซีดี โจทก์ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) สบโชค สุขารมณ์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายสบโชค สุขารมณ์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท ศานิต สร้างสมวงษ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศานิต สร้างสมวงษ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ