คำวินิจฉัยที่ 29/2553

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒๙/๒๕๕๓

วันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๕๓

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔)

ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลแรงงานกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๕๑ สถาบันการบินพลเรือน ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องนาวาอากาศตรี เฉวียง ชูดำ หรือนาวาอากาศตรี วัชรดุล คุณดิลกนิมิต ที่ ๑ นาวาอากาศตรี สุรพงษ์ หงษ์ทอง ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๔๖๒/๒๕๕๑ ความว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เคยเป็นพนักงานของผู้ฟ้องคดีตำแหน่งครูการบินและได้รับอนุมัติจากผู้ฟ้องคดีให้ไปศึกษาฝึกอบรมหลักสูตร PILOT IN COMMAND เครื่องบินแบบ BEECHJET ๔๐๐ A ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นเวลา ๓๔ วัน โดยทำสัญญาของพนักงานที่ไปศึกษา ฝึกอบรม และปฏิบัติการวิจัยให้ไว้ต่อผู้ฟ้องคดี มีภาระผูกพันต้องปฏบัติงานชดใช้ทุนในการฝึกอบรมตามสัญญาเป็นเวลา ๓ ปี และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นผู้ค้ำประกัน ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ในระหว่างสอบสวนผู้ฟ้องคดีอนุญาตให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ลาออก รวมระยะเวลาที่กลับมาปฏิบัติงานให้ผู้ฟ้องคดีจำนวน ๓๒๑ วัน ซึ่งต่อมาผู้ฟ้องคดีเปลี่ยนคำสั่งเป็นปลดออกจากการเป็นพนักงานตามมติของคณะกรรมการสอบสวนการกระทำผิดวินัย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงเป็นผู้ผิดสัญญาและจะต้องรับผิดตามสัญญาเป็นเงินจำนวน ๕๖๙,๖๐๔.๕๙ บาท พร้อมชดใช้เงินคืนอีก ๓ เท่า ของเงินที่ต้องใช้คืนแก่ผู้ฟ้องคดี รวมเป็นเงิน ๑,๗๐๘,๘๑๓.๕๖ บาท ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือทวงถามให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองชำระหนี้แล้ว แต่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเพิกเฉย ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน ๒,๖๗๓,๗๐๘.๐๑ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๑,๗๐๘,๘๑๓.๕๖ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่ผู้ฟ้องคดี
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้การว่า ข้อบังคับสถาบันการบินพลเรือน ว่าด้วยการไปศึกษา ฝึกอบรม และปฏิบัติการวิจัย พ.ศ. ๒๕๔๔ ซึ่งใช้บังคับในขณะนั้น ระบุว่าระยะเวลาที่ลาไปศึกษา ๑ เดือนขึ้นไปแต่ไม่เกิน ๓ เดือน ให้กลับมาปฏิบัติงาน ๖ เดือน การที่ผู้ฟ้องคดีประกาศใช้ข้อบังคับใหม่ ในปี ๒๕๔๖ โดยให้ผู้ที่ได้รับอนุญาตต้องปฏิบัติงานชดใช้ทุนไม่น้อยกว่า ๓ เท่าของระยะเวลาที่ลาไปศึกษาหรืออย่างน้อย ๓ ปี แล้วแต่จำนวนใดจะมากกว่า เป็นการเอาเปรียบและไม่เป็นธรรม ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่ได้ตกลงหรือยินยอมผูกพันข้อบังคับที่แก้ไขใหม่ดังกล่าวและไม่ถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้กลับมาปฏิบัติงานให้แก่ผู้ฟ้องคดีเป็นเวลาเกินกว่า ๖ เดือนซึ่งครบถ้วนตามสัญญาแล้ว จึงมิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา และไม่มีหน้าที่ต้องชดใช้เงินตามฟ้องให้แก่ผู้ฟ้องคดี ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ให้การว่า สัญญาค้ำประกันที่ทำขึ้น เป็นการค้ำประกันโดยอาศัยตามข้อบังคับสถาบันการบินพลเรือนว่าด้วยการไปศึกษา อบรม และปฏิบัติการวิจัย พ.ศ. ๒๕๔๔ ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้กลับเข้าปฏิบัติงานกับผู้ฟ้องคดีครบถ้วนตามข้อบังคับดังกล่าวแล้ว การที่ผู้ฟ้องคดีปรับปรุงข้อบังคับของผู้ฟ้องคดีว่าด้วยการไปศึกษา อบรม และปฏิบัติการวิจัย พ.ศ. ๒๕๔๖ ไม่ผูกพันผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เพราะผู้ฟ้องคดีไม่แจ้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ทราบ แม้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จะตกลงทำสัญญาผูกพันตนกับผู้ฟ้องคดีก็ตาม ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ก็ไม่ได้ให้ความยินยอม จึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า นิติสัมพันธ์ระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ อยู่ในฐานะนายจ้างกับลูกจ้างภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๓ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานหรือตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง อยู่ในเขตอำนาจของศาลแรงงานตามมาตรา ๘ (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นองค์การรัฐบาลเพื่อดำเนินกิจการอันเป็นสาธารณประโยชน์หรือเพื่อประโยชน์ในการเศรษฐกิจหรือช่วยเหลือในการครองชีพตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ โดยจัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันการบินพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินการผลิตบุคลากรทางด้านการบินและการดำเนินกิจการเกี่ยวกับการบริการช่างอากาศ บริการอากาศยาน และบริการอื่นเกี่ยวกับกิจการบินเพื่อประโยชน์ในการผลิตบุคลากร ดังกล่าวตามมาตรา ๖ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ผู้ฟ้องคดีอนุมัติให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไปศึกษาฝึกอบรมหลักสูตร PILOT IN COMMAND เครื่องบินแบบ BEECHJET ๔๐๐ A ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ตกลงทำสัญญาของพนักงานที่ไปศึกษา ฝึกอบรมและปฏิบัติการวิจัย ซึ่งสัญญาข้อ ๔ ระบุให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จะต้องกลับมาปฏิบัติงานตามที่กำหนดในสัญญาให้กับผู้ฟ้องคดีภายหลังสำเร็จการฝึกอบรม สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เนื่องจากเป็นการจัดให้บุคลากรไปอบรมด้านการบินเพื่อนำความรู้ที่ได้รับมาดำเนินกิจการเกี่ยวกับการบินอันเป็นการจัดทำบริการสาธารณะ เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ผิดสัญญาปฏิบัติงานไม่ครบกำหนดตามสัญญา และไม่ยอมชดใช้ทุนเมื่อผู้ฟ้องคดีทวงถาม จนเป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีนำคดีมาฟ้องศาลจึงเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ สำหรับคดีพิพาทตามสัญญาค้ำประกันระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดี ๒ ซึ่งเป็นสัญญาอุปกรณ์นั้น เมื่อสัญญาหลักอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองแล้ว ข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาค้ำประกันจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองเช่นกัน
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีตามคำฟ้องเป็นเรื่องที่ผู้ฟ้องคดี ซึ่งมีสถานะเป็นนายจ้างฟ้องเรียกร้องให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งมีสถานะเป็นลูกจ้างรับผิดชดใช้ค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการประพฤติผิดสัญญาของพนักงานที่ไปศึกษาฝึกอบรมและปฏิบัติการวิจัย ซึ่งเมื่อพิจารณารายละเอียดแห่งเนื้อหาในสัญญาดังกล่าวตามที่ปรากฏในเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข ๓ อันถือเป็น ส่วนหนึ่งของคำฟ้องแล้วก็ได้ความว่า ระหว่างที่ไปศึกษาและฝึกอบรมตามที่ได้รับอนุมัติ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ยังคงต้องปฏิบัติตามข้อบังคับ ระเบียบ และคำสั่งของผู้ฟ้องคดี และภายหลังสำเร็จการศึกษาและฝึกอบรมต้องกลับมาปฏิบัติหน้าที่ให้แก่ผู้ฟ้องคดีตามเวลาที่กำหนดในสัญญานั้น ข้อตกลงดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจ้างแรงงานระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เมื่อผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นฝ่ายผิดสัญญาและขอให้ชำระค่าเสียหายตามข้อตกลง จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงาน หรือตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ (๑) ส่วนคดีระหว่างผู้ฟ้องคดีกับ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เมื่อผู้ฟ้องคดีฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ให้รับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันการศึกษาและฝึกอบรมของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับสัญญาจ้างแรงงานระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงาน หรือตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ (๑) ด้วยเช่นกัน คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว คดีนี้ผู้ฟ้องคดีเป็นองค์การรัฐบาล จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันการบินพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ประกอบพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ การที่ผู้ฟ้องคดีฟ้องให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ รับผิดตามสัญญาของพนักงานที่ไปศึกษา ฝึกอบรม และปฏิบัติการวิจัย หลักสูตร PILOT IN COMMAND เครื่องบินแบบ BEECHJET ๔๐๐ A ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ รับผิดตามสัญญาค้ำประกัน จึงต้องพิจารณาว่าสัญญาของพนักงานที่ไปศึกษา ฝึกอบรม และปฏิบัติการวิจัยดังกล่าวเป็นสัญญาทางแพ่งหรือสัญญาทางปกครอง เห็นว่า เมื่อผู้ฟ้องคดีเป็นหน่วยงานทางปกครองและมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินการผลิตบุคลากรทางด้านการบินและการดำเนินกิจการเกี่ยวกับการบริการช่างอากาศ บริการอากาศยาน และบริการอื่นเกี่ยวกับกิจการบินเพื่อประโยชน์ในการผลิตบุคลากร ตามมาตรา ๖ แห่งพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันการบินพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ อันเป็นการจัดทำบริการสาธารณะ และสัญญาของพนักงานที่ไปศึกษา ฝึกอบรม และปฏิบัติการวิจัยฉบับพิพาทดังกล่าว ก็มีวัตถุประสงค์หลักให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไปอบรมด้านการบินเพื่อนำความรู้ที่ได้รับกลับมาดำเนินกิจการเกี่ยวกับการบิน อันเป็นการร่วมดำเนินการจัดทำบริการสาธารณะกับผู้ฟ้องคดี สัญญาพิพาทดังกล่าว มีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครอง อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ สำหรับสัญญาระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ นั้น เป็นสัญญาค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งเป็นสัญญาทางปกครองและเป็นสัญญาหลัก สัญญาค้ำประกันดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นสัญญาอุปกรณ์ เมื่อข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาหลักอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ดังนั้นข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาค้ำประกันซึ่งเป็นสัญญาอุปกรณ์ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของ ศาลปกครองเช่นเดียวกัน
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างสถาบันการบินพลเรือน ผู้ฟ้องคดี นาวาอากาศตรี เฉวียง ชูดำ หรือนาวาอากาศตรี วัชรดุล คุณดิลกนิมิต ที่ ๑ นาวาอากาศตรี สุรพงษ์ หงษ์ทอง ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) สบโชค สุขารมณ์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายสบโชค สุขารมณ์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท ศานิต สร้างสมวงษ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศานิต สร้างสมวงษ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share