แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ทางการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ป่าไสโป๊ะเป็นป่าคุ้มครองและแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาคลุมทับถึงที่ดินพิพาทซึ่งโจทก์ครอบครองอยู่ และเจ้าพนักงานป่าไม้ใต้บังคับบัญชาของจำเลยได้เข้าไปรังวัดสอบเขตที่ดินพิพาทเพื่อออกกฎกระทรวงกำหนดป่าคุ้มครองให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติ โจทก์อ้างว่าโจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทโดยสุจริตและชอบด้วยกฎหมาย การออกแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวผิดพลาดรุกล้ำผิดตำบลซึ่งระบุในพระราชกฤษฎีกา โดยไม่มีการประกาศให้ราษฎรทราบ จำเลยโต้เถียงว่าที่ดินพิพาทเป็นป่าคุ้มครองและป่าสงวนแห่งชาติโดยชอบด้วยกฎหมายโจทก์ครอบครองโดยไม่สุจริตและไม่ชอบด้วยกฎหมาย หากข้อเท็จจริงเป็นดังโจทก์อ้าง การที่เจ้าพนักงานป่าไม้ใต้บังคับบัญชาของจำเลยเข้าไปรังวัดสอบเขตที่ดินพิพาทเพื่อประกาศกำหนดให้เป็นป่าสงวน อาจเป็นการละเมิดต่อสิทธิครอบครองของโจทก์ หากข้อเท็จจริงเป็นดังจำเลยโต้เถียงก็ไม่เป็นละเมิด และโจทก์ก็ไม่มีสิทธิจะยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทคงมีฐานะเพียงผู้ครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งอยู่ภายในอำนาจของจำเลยที่จะสั่งให้โจทก์ออกไปหรืองดเว้นการกระทำใด ๆ ในที่ดินพิพาทตามมาตรา 25แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 กรณีถือได้ว่ามีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า นายหยินจับจองที่ดินหนึ่งแปลง เนื้อที่ 95 ไร่เศษในตำบลกระบี่ใหญ่ ปลูกเรือน ยางพารา ผลอาสิน แจ้งการครอบครองและเสียภาษี นายหยินตาย บุตรนายหยินขอรับมรดกและขอหนังสือรับรองการทำประโยชน์ แล้วทำนิติกรรมโอนขายให้โจทก์ จดทะเบียนสิทธิแล้วโจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์ตลอดมา เจ้าพนักงานป่าไม้ใต้บังคับบัญชาจำเลยที่ 2 บุกรุกเข้าไปรังวัดสอบเขตที่ดินนี้อ้างว่าเพื่อประกาศกฎกระทรวงกำหนดป่าคุ้มครองให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติโจทก์พบหลักฐานในราชกิจจานุเบกษาว่า จำเลยที่ 1 อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติคุ้มครองและสงวนป่าฯ มาตรา 3 ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ป่าไสโป๊ะในตำบลกระบี่น้อยเป็นป่าคุ้มครองแต่แผนที่ผิดพลาดรุกล้ำไปทับที่ในตำบลทับปริกและกระบี่ใหญ่ ทำให้ที่ดินของโจทก์ตกเป็นป่าคุ้มครอง ทั้งนี้ ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลยและด้วยความทุจริตกลั่นแกล้งของเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 เป็นการละเมิดสิทธิครอบครองของโจทก์ ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 กำหนดให้ป่าคุ้มครองไสโป๊ะเป็นป่าสงวนแห่งชาติซึ่งไม่มีผลถึงที่ดินของโจทก์ ขอให้พิพากษาว่าพระราชกฤษฎีกาคุ้มครองสงวนป่าไสโป๊ะที่รุกล้ำไปในตำบลทับปริกและตำบลกระบี่ใหญ่ผิดกฎหมายไม่มีผลบังคับเป็นป่าคุ้มครองและป่าสงวนแห่งชาติ ห้ามจำเลยและบริวารเข้ารังวัดสอบเขต และห้ามเกี่ยวข้องขัดขวางการใช้สิทธิครอบครองของโจทก์
จำเลยต่อสู้ว่า ที่พิพาทเป็นป่าคุ้มครองและป่าสงวนแห่งชาติโจทก์ครอบครองที่พิพาทโดยไม่สุจริต และไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง และฟ้องโจทก์เคลือบคลุม
ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยาน แล้ววินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้รบกวนสิทธิครอบครองที่พิพาท การรังวัดสอบเขตเป็นการปฏิบัติการตามกฎหมาย ไม่ถือว่าเป็นการรบกวนสิทธิหรือโต้แย้งสิทธิโจทก์เจ้าพนักงานไม่ได้อาศัยอำนาจตามพระราชกฤษฎีกาป่าคุ้มครองและพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติบังคับให้โจทก์กระทำหรืองดเว้นกระทำการอย่างใด โจทก์ยังได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 12 วรรคท้าย ให้อยู่ในที่พิพาทได้ตามปกติ ที่พิพาทจะอยู่ในหรือนอกเขตพระราชกฤษฎีกาไม่เป็นข้อสำคัญ โจทก์ยังไม่ถูกโต้แย้งสิทธิ และมิใช่กรณีที่โจทก์จะต้องใช้สิทธิทางศาล โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
มีปัญหาในชั้นฎีกาว่า มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อโต้เถียงอันเป็นประเด็นสำคัญแห่งคดีนี้มีอยู่ว่า โจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทโดยสุจริตและโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และที่ดินพิพาทเป็นป่าคุ้มครองตามพระราชกฤษฎีกาที่กำหนดให้ป่าไสโป๊ะตำบลกระบี่น้อย อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ เป็นป่าคุ้มครองและเป็นป่าสงวนแห่งชาติตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 หรือไม่ ถ้าข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์อ้าง โจทก์ก็เป็นผู้มีสิทธิครอบครองเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท มีสิทธิและอำนาจตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และตามประมวลกฎหมายที่ดิน การออกแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาที่กำหนดให้ป่าไสโป๊ะในตำบลกระบี่น้อยเป็นป่าคุ้มครอง คลุมทับนาและสวนของราษฎรในตำบลทับปริกและตำบลกระบี่ใหญ่ นอกตำบลกระบี่น้อย โดยไม่มีการประกาศให้ราษฎรทราบ และการที่เจ้าพนักงานของกรมป่าไม้ซึ่งอยู่ใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 2เข้าไปรังวัดสอบเขตที่ดินพิพาท เพื่อประกาศกำหนดให้เป็นป่าสงวนตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติอาจเป็นการละเมิดต่อสิทธิครอบครองของโจทก์ แต่ถ้าข้อเท็จจริงเป็นไปตามข้อโต้เถียงของจำเลย คือ โจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทโดยไม่สุจริตและไม่ชอบด้วยกฎหมายและที่ดินพิพาทเป็นป่าคุ้มครองและเป็นป่าสงวนแห่งชาติโดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ก็ไม่มีสิทธิจะยึดถือครอบครองที่ดินพิพาท ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองและสงวนป่า พ.ศ. 2481 ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองและสงวนป่า (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2496 มาตรา 8 และตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14 การกระทำของจำเลยที่ประกาศพระราชกฤษฎีกาให้ป่าไสโป๊ะเป็นป่าคุ้มครอง และการที่เจ้าพนักงานของกรมป่าไม้เข้าไปรังวัดสอบเขตที่ดินพิพาทก็ไม่เป็นละเมิด และโจทก์ก็จะมีฐานะเป็นเพียงผู้ครอบครองที่ดินพิพาทแต่ภายในอำนาจของจำเลยทั้งสองที่จะใช้อำนาจสั่งให้โจทก์ออกไปจากที่ดินพิพาท หรือให้งดเว้นการกระทำใด ๆ ในเขตที่ดินพิพาท ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 เมื่อโจทก์และจำเลยต่างอ้างและเถียงสิทธิและอำนาจในการครอบครองที่ดินพิพาทแตกต่างกันอยู่เช่นนี้ จึงต้องถือว่ามีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย ข้อเท็จจริงที่โจทก์ยอมรับว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาที่กำหนดให้ป่าไสโป๊ะ ตำบลกระบี่น้อยเป็นป่าคุ้มครอง และจำเลยไม่เคยขับไล่หรือขอให้โจทก์ออกจากที่ดินพิพาท เพียงเท่านี้ไม่พอฟังว่าไม่มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์และจำเลยในคดีนี้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นสืบพยานแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปความ