คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10600/2546

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. 2545 มาตรา 19 เป็นกรณีที่กำหนดให้มีการดำเนินการก่อนฟ้องผู้ต้องหาและต้องไม่ปรากฏว่าผู้ต้องหานั้นต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกหรืออยู่ในระหว่างรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาล เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยตกเป็นผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนขณะปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ขับรถ อันเป็นการกระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ซึ่งเป็นความผิดฐานอื่นที่มีโทษจำคุก ทั้งจำเลยถูกฟ้องต่อศาลแล้ว ดังนั้น ไม่ว่ากระบวนการตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. 2545 จะเป็นคุณแก่จำเลยเพียงใด บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวก็ไม่เปิดช่องให้นำมาใช้บังคับแก่จำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔ , ๗ , ๕๗ , ๙๑ พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๐๒ (๓ ทวิ) , ๑๒๗ ทวิ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๓ ทวิ , ๑๕๗ ทวิ และสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยมีกำหนดไม่น้อยกว่า ๖ เดือน
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๗ , ๙๑ (ที่ถูกมาตรา ๙๑ ที่แก้ไขใหม่) พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๐๒ (๓ ทวิ) , ๑๒๗ ทวิ วรรคสอง พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๓ ทวิ วรรคหนึ่ง , ๑๕๗ ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ แต่ความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๓ ทวิ วรรคหนึ่ง , ๑๕๗ ทวิ วรรคสอง และพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๐๒ (๓ ทวิ) , ๑๒๗ ทวิ วรรคสอง ซึ่งเป็นบทลงโทษบทหนักมีอัตราโทษเท่ากัน จึงให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๓ ทวิ วรรคหนึ่ง , ๑๕๗ ทวิ วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๗ , ๙๑ (ที่ถูกมาตรา ๙๑ ที่แก้ไขใหม่) เพียงบทเดียว ลงโทษจำคุก ๑ ปี ๔ เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา ๗๘ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก ๘ เดือน และให้พักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยมีกำหนด ๖ เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลย ๘ เดือน ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ กึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุก ๔ เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายขอให้ใช้พระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๑๙ ในหมวด ๓ มาบังคับใช้แก่จำเลยนั้น เห็นว่า ตามบทบัญญัติของมาตรา ๑๙ วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวมีความว่า “ผู้ใดต้องหาว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติด เสพและมีไว้ในครอบครอง เสพและมีไว้ในครองครองเพื่อจำหน่าย เสพและจำหน่ายยาเสพติดตามลักษณะ ชนิด ประเภท และปริมาณที่กำหนดในกฎกระทรวง ถ้าไม่ปรากฏว่าต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุก หรืออยู่ในระหว่างรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาล ให้พนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหาไปศาลภายในสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ต้องหานั้นมาถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน เพื่อให้ศาลพิจารณามีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด… ฯลฯ” ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ต้องหาที่มีคุณสมบัติตามกฎหมายได้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด แต่บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวเป็นกรณีที่กำหนดให้มีการดำเนินการก่อนฟ้องผู้ต้องหาและต้องไม่ปรากฏว่าผู้ต้องหานั้นต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุก หรืออยู่ในระหว่างรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาล เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยตกเป็นผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนขณะปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ขับรถ อันเป็นการกระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งเป็นความผิดฐานอื่นที่มีโทษจำคุก ทั้งจำเลยถูกฟ้องต่อศาลแล้ว ด้วยเหตุนี้เอง ไม่ว่ากระบวนการตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๔๕ จะเป็นคุณแก่จำเลยเพียงใด บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวก็ไม่เปิดช่องให้นำมาใช้บังคับแก่จำเลยได้ คำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองจึงเป็นไปโดยชอบ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share