แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ก่อนที่โจทก์จะฟ้องจำเลยที่ 1 เจ้าพนักงานที่ดิน และจำเลยที่ 2 กรมที่ดินให้เพิกถอนคำสั่งจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาท โจทก์ทราบอยู่แล้วว่า ส. และธนาคาร ก. ได้ทำนิติกรรมจดทะเบียนจำนองที่ดินดังกล่าวมาก่อน แต่โจทก์กลับฟ้องเพียงจำเลยทั้งสองเท่านั้น มิได้ฟ้องหรือเรียก ส. และธนาคาร ก. ผู้ทำนิติกรรมจำนองที่ดินเข้ามาเป็นคู่ความด้วย ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทจึงเป็นการขอให้ศาลพิพากษากระทบถึงสิทธิของบุคคลภายนอกซึ่งมิใช่คู่ความในคดีต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 โจทก์มิอาจฟ้องบังคับได้ ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความมิได้ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 รับราชการในตำแหน่งเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่สาขาสันทราย ซึ่งเป็นหน่วยงานของจำเลยที่ 2 มีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลจดทะเบียนนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินในเขตอำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย โดยเป็นกรมในรัฐบาล สังกัดกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 25 เมษายน2537 โจทก์ยื่นคำร้องขออายัดที่ดินโฉนดเลขที่ 34207 ตำบลหนองหาร อำเภอสันทรายจังหวัดเชียงใหม่ ในฐานะผู้มีส่วนได้เสียตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 83 ต่อมาวันที่ 22 มิถุนายน 2537 โจทก์ได้นำสำเนาคำฟ้องที่เป็นหลักฐานการยื่นฟ้องส่งต่อเจ้าพนักงานที่ดินผู้รับอายัดรับไว้แล้วแต่ในระหว่างการดำเนินคดีดังกล่าวโดยศาลยังมิได้มีคำพิพากษาและคดียังไม่ถึงที่สุดคือเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2538 จำเลยที่ 1 ได้มีคำสั่งจดทะเบียนจำนองที่ดินดังกล่าวระหว่างนายสมพรกับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)เป็นเงิน 250,000 บาท ซึ่งการกระทำของจำเลยที่ 1 นี้เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าพนักงานที่ดิน และจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้บังคับบัญชาจำเลยที่ 1 จึงต้องมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งการจดทะเบียนจำนองดังกล่าว โจทก์ไม่มีทางบังคับจำเลยทั้งสองได้จึงต้องฟ้องเป็นคดีนี้ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือให้จำเลยที่ 2 สั่งการให้จำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งการจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 34207 ตำบลหนองหาร อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ตามหนังสือสัญญาจำนองฉบับลงวันที่ 15 มิถุนายน 2538 ภายใน 7 วัน นับแต่มีคำพิพากษา
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์เพียงแต่ยื่นสำเนาคำฟ้องคดีระหว่าง นางเอื้อมจิตแก้วอาภัย โจทก์ นายสมเพชร ขัติยะ จำเลย ต่อจำเลยที่ 1 โดยมีทนายโจทก์รับรองสำเนาเท่านั้น ไม่มีหลักฐานการยื่นฟ้องหรือรับรองสำเนาการรับฟ้องของศาลชั้นต้นหรือเจ้าหน้าที่มาแสดงต่อจำเลยที่ 1 ผู้รับอายัดและเมื่อจำเลยที่ 1 ตรวจสอบไปยังศาลชั้นต้น ปรากฏว่าศาลชั้นต้นไม่รับฟ้อง โจทก์มิได้ดำเนินการใด ๆ อีก จนถึงวันที่ 13 กันยายน 257 นายสมเพชรเจ้าของที่ดินได้มายื่นคำขอจดทะเบียนนิติกรรมไถ่ถอนจำนองจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด เมื่อเจ้าพนักงานที่ดินตรวจสอบปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้ว เจ้าพนักงานจึงจำหน่ายบัญชีอายัดของโจทก์โดยถือว่าคำขออายัดสิ้นสุดลงและไถ่ถอนจำนองให้แก่นายสมเพชร ในการดำเนินการดังกล่าวจำเลยและเจ้าพนักงานได้กระทำไปตามขั้นตอนของระเบียบและกฎหมายจึงไม่ได้กระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 เพราะตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 บัญญัติให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจเพิกถอนหรือแก้ไขการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ก่อนที่โจทก์จะยื่นฟ้องนายสมเพชรต่อศาลชั้นต้นนั้น โจทก์ได้ยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ สาขาสันทรายขออายัดที่ดินตามฟ้อง และเจ้าพนักงานที่ดินได้รับอายัดไว้มีกำหนด 60 วัน นับแต่วันที่ขออายัด ต่อมาภายในกำหนดเวลาดังกล่าวโจทก์ได้ยื่นฟ้องนายสมเพชรต่อศาลชั้นต้นขอให้บังคับนายสมเพชรโอนที่ดินนั้นให้แก่โจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้อง ซึ่งโจทก์อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่มีคำสั่งไม่รับฟ้องของโจทก์ต่อศาลฎีกา ศาลฎีกาพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นรับคำฟ้องของโจทก์ไว้ดำเนินการต่อไปและคดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 ได้มีคำสั่งให้มีการจดทะเบียนจำนองที่ดินตามฟ้องให้แก่นายสมเพชรและธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ศาลฎีกาเห็นสมควรยกปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องขึ้นวินิจฉัยเสียก่อนว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า นายสมเพชรได้จดทะเบียนจำนองที่ดินตามฟ้องกับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2538 ต่อมาวันที่ 30 พฤษภาคม 2540โจทก์จึงฟ้องคดีนี้ ดังนั้นก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ทราบอยู่แล้วว่านายสมเพชรและธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ได้ทำนิติกรรมจดทะเบียนจำนองที่ดินตามฟ้องกัน ผู้โต้แย้งสิทธิและผู้ทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินตามฟ้องนอกจากจำเลยทั้งสองแล้วยังมีนายสมเพชรและธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) แต่โจทก์ฟ้องเพียงจำเลยทั้งสองเท่านั้น และมิได้ฟ้องหรือเรียกนายสมเพชรและธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ผู้ทำนิติกรรมจำนองที่ดินเข้ามาเป็นคู่ความด้วย แต่โจทก์กลับขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งการจดทะเบียนจำนองที่ดินตามฟ้องดังกล่าวเป็นการขอให้ศาลพิพากษากระทบถึงสิทธิของบุคคลภายนอกซึ่งมิใช่คู่ความในคดีต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 โจทก์มิอาจฟ้องบังคับได้ ปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจที่จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) และกรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์อีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องและศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน