คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1586/2546

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และนาง ส. มารดาโจทก์มีชื่อเป็นเจ้าของบัญชีเงินฝากประจำที่ธนาคารของจำเลยที่ 1 โดยกำหนดเงื่อนไขในการสั่งจ่ายเงินว่าคนใดคนหนึ่งเป็นผู้มีอำนาจถอนเงินจากบัญชีดังกล่าว แต่คงมีเฉพาะโจทก์เพียงคนเดียวเท่านั้นที่ให้ตัวอย่างลายมือชื่อผู้สั่งจ่าย จึงน่าเชื่อว่าในทางปฏิบัติคงมีเฉพาะโจทก์เท่านั้นที่ทำหน้าที่ในการสั่งจ่ายถอนเงินจากบัญชีเงินฝากประจำการที่โจทก์ไม่ได้นำสมุดคู่ฝากสำหรับบัญชีเงินฝากประจำมาดำเนินการตามระเบียบปฏิบัติของจำเลยที่ 1 นั้น เนื่องจากโจทก์เกรงว่านาง ส. จะทราบเรื่องที่โจทก์ถอนเงินจำนวน 200,000 บาทไป จึงทำให้โจทก์ต้องสร้างหลักฐานตัวเลขขึ้น 200,000 บาท ในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์เลขที่ 321-1-01428-7 แล้วโอนมาเข้าบัญชีเงินฝากประจำเพื่อให้ตัวเลขจำนวนเงินในสมุดคู่ฝากของบัญชีเงินฝากประจำคงเดิม การกระทำของโจทก์ดังกล่าวแม้จะเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบและคำสั่งของจำเลยที่ 1 ก็ตามแต่ก็เป็นการกระทำต่อบัญชีเงินฝากของโจทก์และมารดาโจทก์ซึ่งโจทก์มีสิทธิในการถอนเงินตามบัญชีดังกล่าวได้อยู่แล้ว โจทก์มิได้ปลอมแปลงลายมือชื่อของผู้ใด การกระทำของโจทก์ไม่เกิดผลกระทบต่อลูกค้าอื่น ๆ ของจำเลยที่ 1 และเงินสดของจำเลยที่ 1 ก็มิได้สูญหาย อีกทั้งข้อเท็จจริงยังไม่เพียงพอที่จะฟังว่าโจทก์ได้กระทำความผิดฐานยักยอกหรือลักทรัพย์ จึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับในการทำงานของจำเลยที่ 1 กรณีร้ายแรงการที่จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ไม่ใช่การเลิกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 119 จำเลยที่ 1 จึงต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์ตาม มาตรา 67

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามจ่ายค่าจ้าง เงินโบนัส ค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีพร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสามให้การ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าชดเชยจำนวน 86,400 บาทและค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 1,440 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 10 กันยายน 2542) จนกว่าจะจ่ายเงินเสร็จแก่โจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยก ยกฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับในการทำงานของจำเลยที่ 1 ในกรณีร้ายแรงหรือไม่และจำเลยที่ 1 ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้โจทก์หรือไม่ ในชั้นพิจารณาคดีของศาลแรงงานกลางข้อเท็จจริงรับฟังยุติได้ว่า โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2537 ครั้งสุดท้ายมีตำแหน่งเป็นหัวหน้าการเงินที่ธนาคารของจำเลยที่ 1 สาขาแม่จัน ได้รับค่าจ้างเดือนละ 14,400 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 25 ของเดือน จำเลยที่ 1 มีคำสั่งเกี่ยวกับขอบเขตหน้าที่ของเจ้าหน้าที่การเงินไว้ โจทก์ซึ่งเป็นหัวหน้าการเงินจะต้องปฏิบัติตามระเบียบหรือคำสั่งดังกล่าวตามหนังสือลงวันที่ 28พฤษภาคม 2535 และคำสั่งที่ 45/2535 เอกสารหมาย จ.ล.1 กล่าวคือการฝากเงินและถอนเงินลูกค้าของจำเลยที่ 1 ต้องนำสมุดคู่ฝากมาติดต่อและเขียนใบฝากเงินหรือใบถอนเงินมอบให้เจ้าหน้าที่พิจารณาอนุมัติตามลำดับชั้นแล้วจึงคืนสมุดคู่ฝากให้ลูกค้าไป โจทก์และนางสุมิตรา ศิริกุล มารดาของโจทก์มีชื่อเป็นผู้ฝากเงินประเภทฝากประจำที่ธนาคารจำเลยที่ 1 สาขาแม่จัน บัญชีเลขที่ 321-2-00214-5 โจทก์มีอำนาจสั่งจ่ายเงินจากบัญชีดังกล่าว และโจทก์มีเงินฝากประเภทออมทรัพย์บัญชีเลขที่ 321-1-01428-7และ 321-1-00007-7 ที่สาขาแม่จัน โจทก์มีอำนาจสั่งจ่ายเงินจากบัญชีเช่นกันวันที่ 26มกราคม 2542 โจทก์ถอนเงินจากบัญชีเงินฝากประจำจำนวน 200,000 บาท โดยไม่ได้นำสมุดคู่ฝากมาประกอบในการถอนเงิน จากนั้นโจทก์นำเงินจำนวนดังกล่าวไปเข้าบัญชีออมทรัพย์ของโจทก์และวันเดียวกันโจทก์ถอนเงินดังกล่าวไปใช้ส่วนตัว ต่อมาวันที่ 19เมษายน 2542 นางสุมิตรามอบสมุดคู่ฝากบัญชีเงินฝากประจำให้โจทก์นำไปปรับรายการดอกเบี้ย โจทก์จึงดำเนินการสร้างตัวเลขทางบัญชีโดยฝากถอนเงินตามบัญชีออมทรัพย์แล้วโอนเงินไปยังบัญชีฝากประจำแล้วคืนสมุดคู่ฝากให้นางสุมิตราไป จากนั้นทำรายการถอนเงินออกจากบัญชีฝากประจำโดยไม่มีสมุดคู่ฝาก การที่โจทก์อนุมัติให้ถอนเงินโดยไม่ได้นำสมุดคู่ฝากมาประกอบในการถอนเงินเป็นการฝ่าฝืนระเบียบและคำสั่งของจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.ล.1 เห็นว่า ตามเอกสารหมาย จ.ล.2 ปรากฏว่าโจทก์และนางสุมิตรามีชื่อเป็นเจ้าของบัญชีเงินฝากประจำที่ธนาคารของจำเลยที่ 1 สาขาแม่จันเลขที่ 321-2-00214-5 โดยกำหนดเงื่อนไขในการสั่งจ่ายเงินว่าคนใดคนหนึ่งเป็นผู้มีอำนาจถอนเงินจากบัญชีดังกล่าว แต่คงมีเฉพาะโจทก์เพียงคนเดียวเท่านั้นที่ให้ตัวอย่างลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายไม่ปรากฏลายมือชื่อของนางสุมิตราแต่อย่างใด จากข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงน่าเชื่อว่าในทางปฏิบัติคงมีเฉพาะโจทก์เท่านั้นที่ทำหน้าที่ในการสั่งจ่ายถอนเงินจากบัญชีเงินฝากประจำการที่โจทก์ไม่ได้นำสมุดคู่ฝากสำหรับบัญชีเงินฝากประจำมาดำเนินการตามระเบียบปฏิบัติของจำเลยที่ 1 นั้นเนื่องจากโจทก์เกรงว่านางสุมิตราจะทราบเรื่องที่โจทก์ถอนเงินจำนวน 200,000 บาท ไปเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2542 นั่นเอง จึงทำให้โจทก์ต้องดำเนินการสร้างหลักฐานตัวเลขขึ้น 200,000 บาท ในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์เลขที่ 321-1-01428-7 แล้วโอนมาเข้าบัญชีเงินฝากประจำเพื่อให้ตัวเลขจำนวนเงินในสมุดคู่ฝากของบัญชีเงินฝากประจำคงเดิม การกระทำของโจทก์ดังกล่าวแม้จะเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบและคำสั่งของจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่ก็เป็นการกระทำต่อบัญชีเงินฝากของโจทก์และมารดาของโจทก์ซึ่งโจทก์มีสิทธิในการถอนเงินตามบัญชีดังกล่าวได้เองอยู่แล้ว โดยมิได้ปลอมแปลงลายมือชื่อของผู้ใด การกระทำของโจทก์ไม่เกิดผลกระทบต่อลูกค้าอื่น ๆ ของจำเลยที่ 1 และเงินสดของจำเลยที่ 1 ก็มิได้สูญหาย อีกทั้งข้อเท็จจริงก็ยังไม่เพียงพอที่จะฟังว่าโจทก์ได้กระทำความผิดฐานยักยอกหรือลักทรัพย์ตามที่จำเลยที่ 1 อ้างในอุทธรณ์ จึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับในการทำงานของจำเลยที่ 1 กรณีร้ายแรง การที่จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ไม่ใช่การเลิกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 จำเลยที่ 1 จึงต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์ตามมาตรา 67 ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยชอบแล้วอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share