แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ที่ 2 เสพสุราอยู่ในลักษณะมึนเมาและอาจจะมีเหตุกินใจกันมาก่อน จำเลยที่ 1 ได้ใช้อาวุธปืนยิงจำเลยที่ 2 ได้รับบาดเจ็บจำเลยที่ 2 จึงยิงจำเลยที่ 1 เป็นการแก้แค้น การกระทำของจำเลยที่ 2 ไม่เป็นการกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนตามกฎหมาย แต่การที่จำเลยที่ 2 ถูกจำเลยที่ 1 ยิงก่อนถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมการกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 72.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2527 เวลากลางคืนหลังเที่ยงจำเลยที่ 1 พาอาวุธปืนไปในหมู่บ้านโดยไม่ได้รับอนุญาตและจำเลยที่ 2 ได้มีอาวุธปืนพกและกระสุนปืนไว้ในครอบครองและพาอาวุธปืนดังกล่าวไปในหมู่บ้านโดยไม่ได้รับอนุญาตและจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงจำเลยที่ 2 ถูกที่บริเวณหน้าอกเป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 ได้รับบาดเจ็บเป็นอันตรายสาหัส แต่ไม่ถึงแก่ความตายสมเจตนาของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ใช้อาวุธปืนยิงจำเลยที่ 1 ถูกที่บริเวณลำคอด้านซ้ายเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1ได้รับบาดเจ็บเป็นอันตรายสาหัสแต่ไม่ถึงแก่ความตายสมเจตนาของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 เป็นจำเลยคนเดียวกับจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1408/2527 ของศาลชั้นต้น เหตุเกิดที่ตำบลบ้านเบิก อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 80, 91 และ 288 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72 และ 72 ทวิ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519ข้อ 3, 6 และ 7 ริบอาวุธปืนเครื่องหมายทะเบียน ลบ.2/3498 คืนอาวุธปืนเครื่องหมายทะเบียน ลบ.2/3370 นับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากคดีอาญาดังกล่าวในฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 2 รับว่าเป็นจำเลยคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1408/2527 ของศาลชั้นต้น
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 และ 288 พระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72 และ 72 ทวิ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 3 6 และ 7 ให้ลงโทษจำคุกความผิดฐานพยายามฆ่าคนละ 10 ปี ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1ความผิดฐานพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะโดยไม่มีใบอนุญาต กำหนด2 เดือน ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ฐานมีอาวุธปืนของผู้อื่นกำหนด6 เดือน และฐานพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะโดยไม่มีใบอนุญาตกำหนด 4 เดือน ความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ นั้นจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่1 กำหนด 1 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 กำหนด 3 เดือน และ 2 เดือน ตามลำดับ รวมโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ไว้ 10 ปี 1 เดือน และจำเลยที่ 2 ไว้ 10ปี 5 เดือน ริบอาวุธปืนลูกซองพกเครื่องหมายทะเบียน ลบ.2/3498คืนอาวุธปืนลูกซองพก เครื่องหมายทะเบียน ลบ.2/3370 แก่เจ้าของนับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1674/2528ของศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ว พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 และ 80 ประกอบด้วยมาตรา 72 จำคุก 5 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า โจทก์มีนางส้มแป้นเจ้าของร้านค้าที่เกิดเหตุเบิกความว่า จำเลยที่ 1 นั่งดื่มสุราตั้งแต่เวลาเที่ยงเศษจนถึงเวลาเกิดเหตุประมาณ 19 นาฬิกา มีจำเลยที่ 2เข้ามาในร้านและเข้าไปนั่งคุยกับจำเลยที่ 1 แล้วมีเสียงปืนดังขึ้น 2 นัดติดกันจึงหันไปดูเห็นจำเลยที่ 2 ยิงจำเลยที่1 ล้มลงแล้วจำเลยที่ 2 วิ่งออกไปจากร้าน ในชั้นสอบสวนซึ่งเป็นวันเดียวกับวันเกิดเหตุนางส้มแป้นให้การต่อพนักงานสอบสวนว่า จำเลยที่ 1 และพวกดื่มสุรามีอากรมึนเมาเวลาประมาณ 19นาฬิกาจำเลยที่ 2 ซึ่งอยู่ในอาการเมาสุราเช่นกันเข้ามาในร้านแล้วถามหาคนชื่อนายชินซึ่งไม่มีอยู่ในร้าน ในขณะนั้นจำเลยที่ 1 เข้าไปพูดขอร้องกับจำเลยที่ 2 ว่า อย่าได้มีเรื่องอะไรกันเลย เมื่อทั้งสองคนคุยกันแล้วได้พากันเดินมาที่แคร่อีกมุมหนึ่ง ทันใดนั้นเห็นจำเลยที่ 2 ชักปืนสั้นออกมาจ่อยิงจำเลยที่ 1 ในระยะเวลากระชั้นชิดเสียงปืนดังสองนัด จำเลยที่ 1 ถูกกระสุนปืนล้มฟุบ ส่วนจำเลยที่ 2 ก็ออกวิ่งหนีออกจากร้าน นายสุชาติ คชชารีย์ พยานโจทก์เบิกความว่าในวันเกิดเหตุเวลา 16 นาฬิกาได้เข้าไปในร้านของนางส้มแป้น พบจำเลยที่ 1ดื่มสุราอยู่ในร้านจึงเข้าไปร่วมดื่มด้วยจนถึงเวลาประมาณ19.30 นาฬิกา เห็นจำเลยที่ 2 คนเดียวเข้ามาในร้านค้า และไปนั่งที่แคร่หน้าตู้เพลงซึ่งมีจำเลยที่ 1 นั่งอยู่ด้วย เมื่อจำเลยที่ 2 เข้ามานั่งแล้วจำเลยที่ 1 ก็ลุกออกไปนั่งอีกแคร่หนึ่งห่างประมาณ 2 วา อีกสักพักหนึ่งพยานได้ลุกขึ้นจะเดินกลับบ้าน จำเลยที่ 2 ลุกตามมาจะกลับบ้านด้วย พอเดินเกือบจะพ้นร้าน จำเลยที่ 1 ลุกขึ้นวิ่งมาพร้อมกับชักอาวุธปืนลูกซองพกออกจากเอวด้านขวายิงจำเลยที่ 2 จำนวน 1 นัด จำเลยที่ 2 ก็ชักปืนลูกซองพกจากเอวออกยิงจำเลยที่ 1 จำนวน 1 นัดเช่นกัน ในชั้นสอบสวน เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2527 พยานปากนี้ให้การต่อพนักงานสอบสวนว่า เมื่อพยานเข้าไปในร้าน เห็นจำเลยทั้งสองนั่งดื่มสุราอยู่ที่แคร่เดียวกัน ต่อมาประมาณ 10 นาที เห็นจำเลยที่ 1 ลุกออกไปนั่งอีกแคร่หนึ่ง แล้วให้การต่อไปเช่นเดียวกับคำเบิกความต่อศาล นายจำลอง แย้มเยื้อน พยานโจทก์เบิกความว่าได้เข้าไปร่วมวงดื่มสุรากับจำเลยที่ 1 และพวกเด็ก พอเวลาประมาณ19 นาฬิกา ได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 1 นัด ก็ลุกขึ้นหนีออกไปจากร้าน รุ่งเช้าจึงทราบจากชาวบ้านว่าจำเลยทั้งสองต่างยิงกันคนละนัด ในชั้นสอบสวน เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2528 พยานปากนี้ให้การต่อพนักงานสอบสวนว่าเข้าไปดื่มสุราเห็นจำเลยที่ 1คนเดียวนอกนั้นไม่รู้จัก เมื่อเวลาประมาณ 19.30 นาฬิกา จำเลยที่1 ลุกขึ้นกลับบ้านแล้วไปยืนอยู่ที่แคร่ติดกับที่วางของขายสักครู่หนึ่งมีเสียงปืนดังขึ้น 1 นัด ตรงที่จำเลยที่ 1 ยืนอยู่ จำเลยที่ 1 ล้มฟุบลงไม่เห็นใครยิง ส่วนเสียงปืนนัดที่สองจำเลยที่ 1 เป็นคนยิงออกไปทางหน้าร้าน นายแป้ง อาจมังกรพยานโจทก์เบิกความว่า เวลาประมาณ 19 นาฬิกา ได้เข้าไปซื้ออาหารที่ร้านนางส้มแป้น เห็นจำเลยที่ 1 นั่งดื่มสุราอยู่ในร้านและเห็นจำเลยที่ 2 กำลังยืนจะออกจากร้านอยู่กับนายสุชาติได้ยินเสียงปืนดังมาจากทางที่จำเลยที่ 1 นั่งอยู่จำนวน 1นัด จึงหันไปมองดูเห็นจำเลยที่ 1 กำลังถือปืนสั้นอยู่สองมือแล้วพยานก็ได้วิ่งจากร้านกลับไปบ้านรุ่งขึ้นตอนเช้าทราบข่าวจากชาวบ้านว่าจำเลยทั้งสองยิงกัน พยานปากนี้ในทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าให้การในชั้นสอบสวนไว้อย่างไร นอกจากนี้โจทก์ไม่มีพยานอื่นที่รู้เห็นเหตุการณ์อีก ศาลฎีกาได้ประมวลคำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าวข้างต้นข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่าจำเลยทั้งสองอยู่ในลักษณะมึนเมาสุราและอาจจะมีเหตุกินใจกันมาก่อน จึงได้เกิดยิงกันขึ้นโดยจำเลยที่ 1เป็นฝ่ายยิงก่อน แล้วจำเลยที่ 2 จึงยิงจำเลยที่ 1 เป็นการแก้แค้น มิใช่เป็นการป้องกันสิทธิของตนและคงจะมิใช่ต่างคนต่างยิงกันดังที่โจทก์ฎีกา เพราะตามข้อนำสืบของโจทก์ไม่มีพยานโจทก์คนใดรู้เห็นชัดแจ้งว่าจำเลยทั้งสองต่างสมัครใจยิงทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกันโดยการวิวาทโต้เถียงแต่ประการใด ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จำเลยที่ 2 ยิงจำเลยที่ 1 หลังจากที่ถูกจำเลยที่ 1 ยิงแล้ว เช่นนี้ ก็เนื่องจากจำเลยที่ 2 บันดาลโทสะที่ถูกจำเลยที่ 1 ยิงก่อน ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมเพราะอาวุธปืนนั้นเป็นข้อเท็จจริงที่รู้กันอยู่ทั่วไปว่าสามารถประทุษร้ายร่างกายให้ถึงแก่ความตายได้ การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80 ประกอบด้วยมาตรา72 ดังศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.