แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
เมื่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้ง จำเลยที่ 2กับจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นนายกเทศมนตรีและเทศมนตรี ก็โดยความเห็นชอบของสมาชิกสภาเทศบาลส่วนใหญ่ในที่ประชุมสภาเทศบาลจึงไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายแพ่งของโจทก์ที่ 3ในฐานะที่เป็นสมาชิกสภาเทศบาล ทั้งตามพระราชบัญญัติเทศบาลพ.ศ. 2496 หาได้มีบทบัญญัติให้บุคคลใช้สิทธิทางศาลขอให้บังคับผู้ว่าราชการจังหวัดเพิกถอนการแต่งตั้งนายกเทศมนตรีและเทศมนตรีไว้แต่อย่างใดไม่ ฉะนั้น โจทก์ที่ 3 จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ทั้งสามเป็นสมาชิกสภาเทศบาลเมืองลำปางโดยโจทก์ที่ 1 เป็นประธานสภาเทศบาล มีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการของสภาเทศบาลเมืองลำปางให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติเทศบาลพ.ศ. 2496 และให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย จำเลยที่ 1ในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ประกาศแต่งตั้งจำเลยที่ 2 ที่ 3และที่ 4 เป็นนายกเทศมนตรีและเทศมนตรีโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภาเทศบาลเมืองลำปาง เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ออกประกาศเพิกถอนประกาศแต่งตั้งนายกเทศมนตรีและเทศมนตรีเมืองลำปางดังกล่าว หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติก็ขอให้ถือเอาคำพิพากษาแทนประกาศเพิกถอนประกาศดังกล่าว ให้จำเลยที่ 2ที่ 3 และที่ 4 พ้นจากตำแหน่งนายกเทศมนตรีและเทศมนตรีที่ได้รับแต่งตั้งตามประกาศดังกล่าว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ไม่รับฟ้อง จำเลยที่ 1ให้การว่า การแต่งตั้งคณะเทศมนตรีเมืองลำปางเป็นการแต่งตั้งโดยชอบตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยไม่ได้โต้แย้งสิทธิโจทก์แต่ประการใด ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เดิมสภาเทศบาลเมืองลำปางได้มีการประชุมร่างเทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2526 เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2525 และสภาเทศบาลมีมติไม่รับหลักการแห่งร่างเทศบัญญัติดังกล่าวด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกสภาเทศบาลทั้งหมด เป็นเหตุให้คณะเทศมนตรีในขณะนั้น…ต้องออกจากตำแหน่งตามมาตรา 55(2)แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2515 มาตรา 4 จำเลยที่ 1จึงได้แต่งตั้งคณะเทศมนตรีชั่วคราว ประกอบด้วยเรือตรีสุนัย ณ อุบลปลัดจังหวัดลำปาง เป็นนายกเทศมนตรีและพันตำรวจเอกสนาม คงเมืองผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดลำปาง กับร้อยตรีมานพ กบิลชัยนายอำเภอเมืองลำปางเป็นเทศมนตรี ตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2525ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้เรียกประชุมสภาเทศบาลเมืองลำปางเมื่อวันที่ 22ธันวาคม 2525 เวลา 13 นาฬิกา ณ ห้องประชุมเทศบาล เพื่อพิจารณาซาวเสียงเลือกสมาชิกสภาเทศบาลผู้สมควรเป็นนายกเทศมนตรีและเทศมนตรีเมืองลำปางตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยข้อบังคับการประชุมสภาเทศบาล พ.ศ. 2496 ข้อ 97 ซึ่งการประชุมครั้งนั้นมีสมาชิกสภาเทศบาลมาประชุมครบทั้ง 18 คน ปรากฏว่าสมาชิกสภาเทศบาล 10 คนเสนอให้นายเรือง เขื่อนแก้ว เป็นนายกเทศมนตรี และนายแพทย์วัฒนา วานิชสุขสมบัติ กับนายนรินทร์ มโนกุลอนันต์ เป็นเทศมนตรีมีสมาชิกสภาเทศบาลจำนวน 3 คนไม่ออกเสียงเสนอผู้ใด และอีก 5 คนเสนอให้ยุบสภาเทศบาลเมืองลำปางเสีย นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ได้มีคำสั่งที่ 1933/2525 ลงวันที่ 17 ธันวาคม 2525 เรียกประชุมสภาเทศบาลเมืองลำปางสมัยวิสามัญ (ฉบับที่ 4) ประจำปี 2525มีกำหนด 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2525 เป็นต้นไป เพื่อจำเลยที่ 1 จะได้เสนอขอรับความเห็นชอบต่อสภาเทศบาลในการแต่งตั้งคณะเทศมนตรี ซึ่งโจทก์ที่ 1 ในฐานะประธานสภาเทศบาลได้กำหนดการประชุมในวันที่ 22 ธันวาคม 2525 เวลา 14 นาฬิกา ในการประชุมสภาเทศบาลครั้งนี้มีสมาชิกสภาเทศบาลมาประชุมเต็มจำนวนทั้ง18 คน หลังจากจำเลยที่ 1 ได้เสนอชื่อคณะเทศมนตรีเพื่อขอรับความเห็นชอบต่อสภาเทศบาลแล้ว ปรากฏว่ามีสมาชิกสภาเทศบาลจำนวน2 คนผลัดกันยืนพูดอภิปรายไม่เห็นด้วยที่จะแต่งตั้งบุคคลทั้งสามเป็นคณะเทศมนตรี โดยไม่เปิดโอกาสให้สมาชิกคนอื่นอภิปรายด้วย และไม่ฟังคำสั่งของโจทก์ที่ 1 ที่สั่งให้นั่งลง โจทก์ที่ 1 จึงสั่งปิดประชุมต่อมามีสมาชิกสภาเทศบาล 10 คนได้ร้องขอต่อจำเลยที่ 1 ให้เรียกประชุมสภาเทศบาลสมัยวิสามัญ เพื่อสภาเทศบาลจะได้พิจารณาให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งคณะเทศมนตรี ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้ออกคำสั่งเรียกประชุมสภาเทศบาลเมืองลำปางสมัยวิสามัญ (สมัยที่ 1) ประจำปีพ.ศ. 2526 ในวันที่ 5 มกราคม 2526 มีกำหนด 1 วัน และได้แจ้งให้โจทก์ที่ 1 ในฐานะประธานเทศบาลให้นัดเวลาประชุมและเชิญสมาชิกไปร่วมประชุม ซึ่งโจทก์ที่ 1 ได้สั่งให้นัดประชุมในวันที่ 5 มกราคม2526 เวลา 10 นาฬิกา ในการประชุมครั้งนี้มีสมาชิกสภาเทศบาลมาประชุมครบองค์ประชุมจำนวน 17 คน ไม่มาประชุม 1 คน เมื่อการประชุมดำเนินมาถึงระเบียบวาระที่ 2 ยังไม่สิ้นสุดวาระการประชุมโจทก์ที่ 1 ได้สั่งปิดการประชุมและออกจากที่ประชุมไป แต่มีสมาชิกสภาเทศบาลจำนวน 10 คนได้ร้องขอให้มีการประชุมต่อ จำเลยที่ 1 วินิจฉัยให้ดำเนินการประชุมต่อไปได้ โจทก์ที่ 1 กลับเข้ามาทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมและสั่งปิดการประชุมอีก แต่ไม่ลงจากบัลลังก์สมาชิกสภาเทศบาล 10 คนร้องขอให้ดำเนินการประชุมต่อ จำเลยที 1วินิจฉัยให้ดำเนินการประชุมต่อไปได้ แต่ก็ไม่มีการประชุม โดยโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 ตกลงกันให้เลื่อนการประชุมไปเวลา15 นาฬิกา ครั้นถึงเวลานัด โจทก์ที่ 1 ซึ่งทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมได้ขอให้เลขานุการทำรายงานการประชุมในตอนเช้ามาก่อนจากนั้นได้มีการโต้เถียงกันโดยฝ่ายที่ได้รับการซาวเสียงให้เป็นคณะเทศมนตรีซึ่งมีเสียงข้างมากให้ดำเนินการประชุมต่อไปตามระเบียบวาระที่ค้างอยู่ แต่ฝ่ายโจทก์ที่ 3 ซึ่งมีเสียงข้างน้อยไม่ต้องการให้มีการประชุม โดยอ้างว่าไม่มีการเรียกประชุมและไม่มีระเบียบวาระการประชุมจนกระทั่งเวลาประมาณ 17 นาฬิกาเศษจำเลยที่ 1 จึงได้ขออนุญาตตามสมาชิกสภาเทศบาลว่า ที่จำเลยที่ 1ได้เสนอขอรับความเห็นชอบในการแต่งตั้งนายเรือง เขื่อนแก้วเป็นนายกเทศมนตรี และนายแพทย์วัฒนา วานิชสุขสมบัติ กับนายนรินทร์ มโนกุลอนันต์ เป็นเทศมนตรี ตามที่ได้ซาวเสียงไว้แล้วหากผู้ใดเห็นชอบขอให้ยกมือ ปรากฏว่ามีสมาชิกเทศบาลยกมือเห็นชอบด้วย 10 คน จำเลยที่ 1 จึงประกาศแต่งตั้งบุคคลดังกล่าวเป็นนายกเทศมนตรีและเทศมนตรี ตามเอกสารหมาย จ.3 คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ที่ 3 ประการแรกว่าโจทก์ที่ 1 มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 55ได้บัญญัติว่าบุคคลชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอำนาจได้ในสองกรณีคือ เมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลนั้นตามกฎหมายแพ่ง หรือบุคคลนั้นจะต้องใช้สิทธิทางศาล สำหรับกรณีแรก การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดได้สอบถามต่อที่ประชุมสภาเทศบาลว่าตามที่จำเลยที่ 1 ได้เสนอขอรับความเห็นชอบในการแต่งตั้งจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เป็นนายกเทศมนตรีและเทศมนตรี ซึ่งได้เสนอต่อที่ประชุมสภาเทศบาลไว้แล้วจะเห็นชอบหรือไม่ เมื่อสมาชิกสภาเทศบาลส่วนใหญ่เห็นชอบจำเลยที่ 1ก็แต่งตั้งบุคคลดังกล่าวนั้น ไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายแพ่งของโจทก์ที่ 3 แต่อย่างใด สิทธิและหน้าที่ของโจทก์ที่ 3 ในฐานะที่เป็นสมาชิกสภาเทศบาลมีอยู่อย่างใด ก็คงมีอยู่อย่างนั้น ที่โจทก์ที่ 3 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ประกาศแต่งตั้งคณะเทศมนตรีโดยไม่สอบถามความเห็นโจทก์ที่ 3 เป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ที่ 3 นั้น ทางพิจารณากลับได้ความว่าจำเลยที่ 1 ได้สอบถามความเห็นในเรื่องดังกล่าวต่อที่ประชุมสภาเทศบาลซึ่งโจทก์ที่ 3ก็ได้อยู่ในที่ประชุมนั้นด้วยเช่นนี้ จะว่าจำเลยที่ 1 ไม่สอบถามโจทก์ที่ 3 ได้อย่างไร ส่วนในกรณีหลังที่ว่าโจทก์ที่ 3 จะใช้สิทธิทางศาลขอให้ศาลบังคับให้จำเลยที่ 1 ออกประกาศเพิกถอนการแต่งตั้งนายกเทศมนตรีและเทศมนตรีเมืองลำปางนั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 หาได้มีบทบัญญัติให้บุคคลใช้สิทธิทางศาลในเรื่องนี้ไว้แต่อย่างใดไม่ โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะนำคดีมาให้ศาลวินิจฉัยในเรื่องดังกล่าว ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1357/2496 ระหว่างนายผัน มงคล กับพวก โจทก์ นายพรหม สูตรสุคนธ์ กับพวกจำเลย ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์ที่ 3 ไม่มีอำนาจฟ้องและพิพากษายกฟ้องโดยไม่จำต้องพิจารณาในประเด็นข้ออื่นอีกต่อไปนั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแล้ว”
พิพากษายืน