คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9787/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยได้รับจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทรัพย์พิพาทอันเป็นมรดกของเจ้ามรดกมา ก็เนื่องจากทายาททุกคนตกลงมอบหมายให้จำเลยเป็นผู้นำไปขายแล้วนำเงินมาแบ่งแก่ทายาท ดังเห็นได้จากที่จำเลยแบ่งเงินที่ขายให้แก่ทายาทบางคนตามสิทธิในเวลาต่อมา จำเลยจึงครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาททุกคนเพื่อประโยชน์ร่วมกันดังกล่าว ดังนั้น แม้ปรากฏว่าในวันที่ 1 มิถุนายน 2537 จำเลยขายที่ดินมรดกนี้ไปก็เป็นการปฏิบัติตามข้อตกลงนั้น ถือว่าจำเลยยังครอบครองเงินที่ขายแทนทายาททุกคนเพื่อการแบ่งปันกันอายุความตัดสิทธิในระหว่างทายาทด้วยกันยังไม่เริ่มนับเพราะการแบ่งปันทรัพย์มรดกนี้ยังไม่เสร็จสิ้น จำเลยจะยกอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสองและวรรคท้ายมาต่อสู้โจทก์หาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 9,945,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย อัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 7,020,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 3,295,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2537 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 6,000 บาท สำหรับค่าฤชาธรรมเนียมศาลที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา ให้จำเลยนำมาชำระต่อศาลในนามของโจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 3,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ถึงแก่ความตาย นายธนพร ผู้จัดการมรดกของโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความต่างมิได้โต้เถียงกันรับฟังเป็นยุติในชั้นนี้ว่า นายทองดี กับนางส่วนหรือสาด บัวพ่วง เจ้ามรดก เป็นสามีภริยากัน มีบุตรด้วยกัน 5 คน ได้แก่ จำเลยซึ่งเป็นบุตรคนโต โจทก์ นายฉวี ปัจจุบันบวชเป็นพระฉายา ” สุทธิ ญาโณ ” และนายไสว กับนายสวัสดิ์ ซึ่งถึงแก่ความตายไปแล้ว นายทองดีบิดาของโจทก์จำเลยถึงแก่ความตายไปนานแล้ว ต่อมาวันที่ 2 พฤษภาคม 2521 นางส่วนเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย มีทรัพย์มรดกเป็นที่ดินหลายแปลงและแบ่งให้แก่ทายาทไปแล้ว คงเหลือทรัพย์มรดกที่พิพาทกันในคดีนี้เป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 737 ตำบลบางรักใหญ่ ( บางไผ่ ) อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี เนื้อที่ 5 ไร่ 3 งาน 40 ตารางวา และจำเลยได้รับโอนทางมรดกเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2534 ต่อมาในวันที่ 20 ธันวาคม 2536 จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแปลงดังกล่าวกับนายฤทธิศักดิ์ ในราคา 20,475,000 บาท ครั้นเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2537 จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่บริษัทอักษราราชธานี จำกัด ผู้ซื้อไป หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2539 จำเลยบริจาคเงินจำนวน 4,000,000 บาท ให้แก่วัดบางรักใหญ่ เพื่อใช้ในการสร้างศาลาอเนกประสงค์โดยระบุชื่อโจทก์และนายฉวี เป็นผู้บริจาค รายละเอียดปรากฏตามใบอนุโมทนาบัตร ต่อมาวัดบางรักใหญ่ได้สร้างศาลาอเนกประสงค์เสร็จแล้วโจทก์จำเลยและทายาทอื่น ๆ ได้ประกอบพิธีฉลองศาลาอเนกประสงค์ ส่วนเงินที่ขายมรดกที่ดินพิพาทหลังจากหักเงินบริจาค 4,000,000 บาท ดังกล่าวแล้ว คงเหลือเพียง 16,475,000 บาท
คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า การที่จำเลยนำเงินจากการขายที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกตกได้แก่ โจทก์จำเลยและทายาททุกคนในกองมรดกของนางส่วนหรือสาด เจ้ามรดก เฉพาะส่วนจำนวน 4,000,000 บาท ไปบริจาคทำบุญให้แก่วัดบางรักใหญ่ ตามใบอนุโมทนาบัตรเป็นไปตามความประสงค์ของโจทก์หรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีฐานะยากจนโดยได้ความจากพระครูนนทการ โกศล เจ้าอาวาสวัดบางรักใหญ่ ซึ่งเป็นพระผู้ใหญ่ว่า พยานรู้จักโจทก์เพราะโจทก์เคยเป็นภารโรงอยู่ที่โรงเรียนวัดบางรักใหญ่ ปัจจุบันโจทก์ไปอาศัยข้าววัดรับประทาน ดังนั้น แม้โจทก์จะรับรู้และไปร่วมงานฉลองศาลาที่ก่อสร้างจากเงินบริจาคดังกล่าวตามข้อฎีกาของจำเลย แต่เมื่อคำนึงถึงเงินบริจาคเป็นจำนวนถึง 4,000,000 บาท นับว่าเป็นเงินจำนวนสูงมากเปรียบเทียบกับฐานะความเป็นอยู่ของโจทก์แล้ว ไม่น่าเชื่อว่าโจทก์จะมอบหมายให้จำเลยนำเงินจำนวนดังกล่าว อันเป็นส่วนมรดกของโจทก์เองผู้เดียวไปทำบุญอุทิศให้แก่วัดในขณะที่โจทก์กลับมีฐานะยากจน ที่สำคัญพระสุทธิ ญาโณ (นายฉวี) พยานโจทก์ซึ่งเป็นทายาทคนหนึ่งในกองมรดกเบิกความยืนยันว่าพยานทราบว่า จำเลยซึ่งเป็นพี่ชายคนโตบริจาคเงินให้แก่วัดโดยถือเป็นเงินบริจาคของพี่น้องทุกคน ซึ่งพยานโจทก์ปากนี้เป็นพยานคนกลาง และเบิกความในทางเสียประโยชน์แก่ตน จึงน่าเชื่อถือ ข้อเท็จจริงเชื่อได้ว่าพี่น้องของโจทก์จำเลยซึ่งต่างเป็นทายาทในกองมรดกตกลงให้จำเลยนำเงินที่ขายมรดกที่ดินพิพาทดังกล่าวไปใช้ในงานฌาปนกิจศพเจ้ามรดกและบริจาคบางส่วนให้แก่วัดตามจำนวนเงินบริจาคในใบอนุโมทนาบัตร หาใช่โจทก์เป็นฝ่ายขอให้จำเลยนำเงินตามสิทธิส่วนได้ของโจทก์ในทรัพย์มรดกพิพาทไปบริจาคทำบุญตามใบอนุโมทนาบัตรดังกล่าวตามข้อต่อสู้ของจำเลยไม่ ดังนั้น เมื่อเงินขายที่ดินมรดกหลังจากหักเงินบริจาคแล้วคงเหลือเพียง 16,475,000 บาท จำเลยจึงต้องแบ่งแก่โจทก์ 1 ใน 5 ส่วน ถูกต้องตามที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาประการนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายมีว่า สิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามฟ้องขาดอายุความแล้วหรือไม่ ในปัญหานี้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่พิพากษามาโดยวินิจฉัยว่า ในปี 2534 ที่จำเลยได้รับจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทรัพย์พิพาทอันเป็นมรดกของเจ้ามรดกมาก็เนื่องจากทายาททุกคนตกลงมอบหมายให้จำเลยเป็นผู้นำไปขายแล้วนำเงินมาแบ่งแก่ทายาทดังเห็นได้จากที่จำเลยแบ่งเงินที่ขายให้แก่ทายาทบางคนตามสิทธิในเวลาต่อมา จำเลยจึงครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาททุกคนเพื่อประโยชน์ร่วมกันดังกล่าว ดังนั้น แม้ปรากฏว่าในวันที่ 1 มิถุนายน 2537 จำเลยขายที่ดินมรดกนี้ไป ก็เป็นการปฏิบัติตามข้อตกลงนั้น ถือว่า จำเลยยังครอบครองเงินที่ขายแทนทายาททุกคนเพื่อการแบ่งปันกัน อายุความตัดสิทธิในระหว่างทายาทด้วยกันยังไม่เริ่มนับ เพราะการแบ่งปันทรัพย์มรดกนี้ยังไม่เสร็จสิ้น จำเลยจะยกอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสองและวรรคท้ายมาต่อสู้โจทก์หาได้ไม่ ฎีกาในประการนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน ส่วนที่โจทก์ขอในคำแก้อุทธรณ์และคำแก้ฎีกาให้ศาลพิพากษาให้โจทก์ได้รับส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 3,500,000 บาท นั้น โจทก์ชอบที่จะอุทธรณ์และฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้น และคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ตามลำดับ โจทก์จะเพียงแต่ขอมาในคำแก้อุทธรณ์และคำแก้ฎีกาดังกล่าวหาได้ไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share