แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบิดามารดาของจำเลยที่ 1 ผู้เยาว์ นำสืบข้อเท็จจริงได้ความเพียงว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่เคยอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ที่บ้านไปโรงเรียน รถจักรยานยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับเป็นของเพื่อนจำเลยที่ 1 และขณะเกิดเหตุอยู่ในช่วงเวลาไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนของจำเลยที่ 1 เท่านั้น มิได้พิสูจน์ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 429 เพราะการใช้อำนาจปกครองของบิดามารดารวมถึงการที่จะต้องคอยอบรมสั่งสอนดูแลตลอดจนควบคุมบุตรผู้เยาว์มิให้ออกไปประพฤติตนเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นด้วย การที่บุตรผู้เยาว์ทำละเมิดในระหว่างที่ไปเรียนหนังสือ ย่อมมิใช่ข้อที่บิดามารดาจะยกขึ้นปฏิเสธความรับผิดได้
จำเลยที่ 1 ไม่มีใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์และที่บ้านของจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีรถจักรยานยนต์ ปกติจำเลยที่ 1 จะขับออกไปหาซื้อของนอกบ้านแสดงว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทราบดีว่าจำเลยที่ 1 สามารถขับรถจักรยานยนต์ได้และเคยขับรถจักรยานยนต์ออกนอกบ้าน แต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลบุตรผู้เยาว์ โดยปล่อยปละละเลยให้บุตรผู้เยาว์ของตนขับรถจักรยานยนต์ออกนอกบ้านทั้งที่ไม่มีใบอนุญาตขับขี่ ซึ่งจำเลยที่ 2 และที่ 3 ควรรู้ว่าการขับรถจักรยานยนต์โดยผู้เยาว์ที่ยังไม่ผ่านการสอบใบอนุญาตขับขี่นั้น ย่อมเสี่ยงต่ออุบัติเหตุหรือเกิดอันตรายต่อบุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นได้โดยง่าย การที่จำเลยที่ 1 สามารถไปขับรถจักรยานยนต์ของผู้อื่นในวันเกิดเหตุจึงมีส่วนมาจากการปล่อยปละละเลยไม่ดูแลหรือห้ามปรามจำเลยที่ 1 ตามหน้าที่ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 มาแต่ต้นเมื่อจำเลยที่ 1 ไปขับรถจักรยานยนต์ชนรถของผู้อื่นเสียหายเป็นเหตุให้บุตรโจทก์ถึงแก่ความตายอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงต้องรับผิดร่วมในผลแห่งละเมิดนั้นด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 97,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2541 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยที่ 1 บุตรผู้เยาว์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ขับรถจักรยานยนต์โดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายสุรเชษฐ์ บุญวัน บุตรโจทก์ถึงแก่ความตาย ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 อายุ18 ปีเศษ และอยู่ในอำนาจปกครองของจำเลยที่ 2 และที่ 3 คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องรับผิดร่วมในผลที่จำเลยที่ 1 ทำละเมิดนั้นหรือไม่ เห็นว่า ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 429 บิดามารดาของผู้เยาว์ต้องรับผิดร่วมกับผู้เยาว์ในผลที่ผู้เยาว์ทำละเมิดเว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น จึงเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องนำสืบข้อเท็จจริงให้ศาลเห็นว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้นแล้ว แต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 นำสืบข้อเท็จจริงได้ความเพียงว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่เคยอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ที่บ้านไปโรงเรียน รถจักรยานยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับเป็นของเพื่อนจำเลยที่ 1 และขณะเกิดเหตุอยู่ในช่วงเวลาไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนของจำเลยที่ 1เท่านั้น มิได้พิสูจน์ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้นเพราะการใช้อำนาจปกครองของบิดามารดารวมถึงการที่จะต้องคอยอบรมสั่งสอนดูแลตลอดจนควบคุมบุตรผู้เยาว์มิให้ออกไปประพฤติตนเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นด้วย การที่บุตรผู้เยาว์ทำละเมิดในระหว่างที่ไปเรียนหนังสือ ย่อมมิใช่ข้อที่บิดามารดาจะยกขึ้นปฏิเสธความรับผิดได้ นอกจากนี้ ทางนำสืบของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ยังได้ความว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์ และที่บ้านของจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีรถจักรยานยนต์อยู่ 1 คัน ปกติจำเลยที่ 1 จะขับรถจักรยานยนต์ออกไปหาซื้อของนอกบ้านแสดงว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทราบดีว่า จำเลยที่ 1 สามารถขับรถจักรยานยนต์ได้และเคยขับรถจักรยานยนต์ออกนอกบ้าน แต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลบุตรผู้เยาว์ โดยปล่อยปละละเลยให้บุตรผู้เยาว์ของตนขับรถจักรยานยนต์ออกนอกบ้านทั้งที่ไม่มีใบอนุญาตขับขี่ ซึ่งจำเลยที่ 2 และที่ 3 ควรรู้ว่าการขับรถจักรยานยนต์โดยผู้เยาว์ที่ยังไม่ผ่านการสอบใบอนุญาตขับขี่นั้น ย่อมเสี่ยงต่ออุบัติเหตุหรือเกิดอันตรายต่อบุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นได้โดยง่าย ที่จำเลยที่ 2เบิกความว่า เคยเตือนจำเลยที่ 1 ให้ขับรถโดยระมัดระวังอย่าขับรถเร็วนั้น นอกจากไม่เป็นการเพียงพอแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้นแล้ว ยังเป็นการแสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 2สนับสนุนให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรผู้เยาว์และไม่มีใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์อีกด้วยการที่จำเลยที่ 1 สามารถไปขับรถจักรยานยนต์ของผู้อื่นในวันเกิดเหตุจึงมีส่วนมาจากการปล่อยปละละเลยไม่ดูแลหรือห้ามปรามจำเลยที่ 1 ตามหน้าที่ของจำเลยที่ 2 และที่ 3มาแต่ต้น เมื่อจำเลยที่ 1 ไปขับรถจักรยานยนต์ชนรถของผู้อื่นเสียหายเป็นเหตุให้บุตรโจทก์ถึงแก่ความตายอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงต้องรับผิดร่วมในผลแห่งละเมิดนั้นด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2และที่ 3 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน