แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันชดใช้ค่าขาดไร้อุปการะ 240,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จ ซึ่งเท่ากับให้ร่วมชดใช้ค่าอุปการะแก่โจทก์คนละ 120,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ส่วนค่าปลงศพซึ่งโจทก์ทั้งสองได้ร่วมกันปลงศพที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยทั้งสองรับผิด 66,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดนั้น แม้จะเป็นหนี้ที่โจทก์ทั้งสองมีสิทธิร่วมกันไม่อาจแบ่งแยกเป็นหนี้ของโจทก์แต่ละคนได้ แต่เมื่อนำไปรวมกับค่าขาดไร้อุปการะตามสิทธิของโจทก์แต่ละคนแล้ว ไม่เกิน 200,000 บาท ทุนทรัพย์ที่พิพาทสำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 กับโจทก์แต่ละคนในชั้นฎีกาจึงไม่เกิน 200,000 บาท ต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง
จำเลยที่ 1 ที่ 2 มิได้ให้การต่อสู้ในเรื่องที่โจทก์ทั้งสองได้รับชดใช้จากบริษัทประกันภัยแล้วเป็นประเด็นไว้ตั้งแต่ในศาลชั้นต้น แม้จำเลยที่ 1 ที่ 2 จะได้นำสืบในชั้นพิจารณาก็เป็นการนำสืบนอกคำให้การต้องห้ามมิให้รับฟังตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 ถือว่าเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ทั้งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามมาตรา 249 วรรคหนึ่ง
เงินที่จำเลยที่ 2 ช่วยค่าทำศพจำนวน 10,000 บาท เป็นการช่วยเหลือค่าปลงศพให้แก่โจทก์ทั้งสองบางส่วนตามหลักมนุษยธรรม มิใช่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ช่วยค่าทำศพโดยยอมรับผิดและมิได้มอบให้ในฐานะเป็นค่าเสียหายส่วนหนึ่ง แต่เป็นการให้ในลักษณะร่วมทำบุญอันเป็นการสำนึกในศีลธรรม จึงนำมาหักกับจำนวนเงินค่าปลงศพที่โจทก์ทั้งสองฟ้องเรียกร้องไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นบิดา โจทก์ที่ 2 เป็นมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของเด็กหญิงจุลดา อ่วมกระโทก เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2544 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างได้ขับรถยนต์โดยสารหมายเลขทะเบียน 20 – 0353 นครราชสีมา ของจำเลยที่ 2 ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และในการประกอบกิจการเดินรถร่วมกับจำเลยที่ 3 เจ้าของสัมปทานเดินรถสายครบุรี – มาบกราด มาจอดรับส่งผู้โดยสารบริเวณหมู่บ้านมาบกราด ตำบลโคกกระชาย อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา ที่เป็นย่านชุมชน ขณะนั้นเด็กหญิงจุลดาขับขี่รถจักรยานอยู่ด้านหน้ารถยนต์โดยสารที่จำเลยที่ 1 ขับห่างประมาณ 10 เมตร ด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวัง จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยสารออกมาอย่างรวดเร็ว ไม่มองทางด้านหน้า ทำให้รถยนต์พุ่งเข้าชนบริเวณท้ายรถจักรยานที่เด็กหญิงจุลดาขับขี่และทับศีรษะเด็กหญิงจุลดาจนถึงแก่ความตายทันที โจทก์ทั้งสองเสียค่าปลงศพเป็นเวลา 3 วัน 3 คืน เป็นเงิน 66,800 บาท เนื่องจากผู้ตายอายุ 6 ปี ทำให้โจทก์ทั้งสองขาดไร้อุปการะ ตามกฎหมาย โจทก์ทั้งสองขอคิดค่าเสียหายส่วนนี้รวมกันเดือนละ 2,000 บาท เป็นเวลา 10 ปี เป็นเงิน 240,000 บาท จำเลยที่ 1 ผู้กระทำละเมิด จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะนายจ้างและตัวการของจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมกันรับผิดชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิด คิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 12,797.34 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 319,599.34 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 306,800 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์ทั้งสองมิได้เป็นบิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของเด็กหญิงจุลดาจึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 2 มิได้เป็นนายจ้างหรือตัวการของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 ไม่ได้เป็นเจ้าของสัมปทานเส้นทางเดินรถสายครบุรี – มาบกราด และมิใช่นายจ้างของจำเลยที่ 1 หรือใช้ให้จำเลยที่ 1 กระทำการแทน เหตุละเมิดไม่ได้เกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1 แต่เกิดจากความประมาทปราศจากความระมัดระวังของเด็กหญิงจุลดาที่ขับขี่รถจักรยานด้วยความเร็วสูงพยายามแซงขึ้นหน้าทางด้านซ้ายของรถโดยสาร เนื่องจากถนนบริเวณดังกล่าวมีผิวถนนขรุขระทำให้รถจักรยานของเด็กหญิงจุลดาเสียหลักล้มเข้าหารถโดยสารคันที่จำเลยที่ 1 ขับ บริเวณข้างรถด้านซ้ายระหว่างกลางรถโดยสารแล้วเด็กหญิงจุลดาถูกล้อหลังซ้ายของรถโดยสารทับถึงแก่ความตาย ค่าปลงศพไม่เกิน 10,000 บาท จำเลยที่ 1 ได้ช่วยเหลือค่าปลงศพแก่โจทก์ทั้งสองแล้วบางส่วนตามหลักมนุษยธรรม โจทก์ทั้งสองมีอำนาจเรียกอีกและค่าขาดไร้อุปการะที่โจทก์ทั้งสองเรียกมาสูงเกินความจริง ความเสียหายดังกล่าวไม่เกิน 40,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 309,599.34 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 306,800 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 1,000 บาท
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 2,000 บาท แทนโจทก์ ยกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2544 จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยสารหมายเลขทะเบียน 20 – 0353 นครราชสีมา ของจำเลยที่ 2 ชนกับรถจักรยานที่เด็กหญิงจุลดาบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ทั้งสองเป็นเหตุให้เด็กหญิงจุลดาถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 ช่วยงานศพเด็กหญิงจุลดาเป็นเงิน 10,000 บาท ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยจากคำเบิกความของพยานโจทก์แล้วฟังพฤติการณ์ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 และได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น จำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่อาจเห็นพ้องด้วยกับค่าปลงศพและค่าขาดไร้อุปการะสูงเกินไปนั้น เห็นว่า ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันชดใช้ค่าขาดไร้อุปการะเป็นเงิน 240,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จ ซึ่งเท่ากับให้ร่วมชดใช้ค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์คนละ 120,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ส่วนค่าปลงศพที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยทั้งสองรับผิดจำนวน 66,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดนั้น แม้จะเป็นหนี้ที่โจทก์ทั้งสองมีสิทธิร่วมกันไม่อาจแบ่งแยกเป็นหนี้ของโจทก์แต่ละคนได้ แต่เมื่อนำไปรวมกับค่าขาดไร้อุปการะตามสิทธิของโจทก์แต่ละคนดังกล่าวแล้ว เป็นจำนวนไม่เกิน 200,000 บาท ทุนทรัพย์ที่พิพาทสำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 กับโจทก์แต่ละคนในชั้นฎีกาจึงไม่เกิน 200,000 บาท ซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกาว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ประกอบอาชีพขับรถร่วมกัน ไม่มีพฤติการณ์ของการเป็นนายจ้างและลูกจ้าง หรือเป็นการกระทำการแทนกัน จำเลยที่ 2 ไม่ต้องร่วมรับผิดจากการกระทำของจำเลยที่ 1 กับที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 กำหนดค่าปลงศพและขาดไร้อุปการะสูงเกินไปด้งกล่าวนั้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานและกำหนดค่าสินไหมทดแทนของศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ทั้งสองได้รับการชดใช้ค่าเสียหายจากบริษัทประกันภัยรถยนต์ที่จำเลยที่ 2 ทำประกันภัยบุคคลที่ 3 ไว้เป็นเงิน 80,000 บาท ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่ได้หยิบยกขึ้นมาวินิจฉัยให้เป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 นั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 มิได้ให้การต่อสู้ในเรื่องที่โจทก์ทั้งสองได้รับชดใช้จากบริษัทประกันภัยแล้วเป็นประเด็นไว้ตั้งแต่ในศาลชั้นต้น แม้จำเลยที่ 1 ที่ 2 จะได้นำสืบในชั้นพิจารณาก็เป็นการนำสืบนอกคำให้การต้องห้ามมิให้รับฟังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 47 ถือว่าเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ทั้งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้ คดีคงมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ว่า เงินค่าทำศพที่โจทก์ทั้งสองได้รับจากจำเลยที่ 2 จำนวน 10,000 บาท นั้น ต้องนำมาหักจากค่าปลงศพหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้ให้การต่อสู้เป็นประเด็นไว้แต่ในศาลชั้นต้นแล้วว่า จำเลยที่ 1 ได้ช่วยเหลือค่าปลงศพให้แก่โจทก์ทั้งสองบางส่วนแล้วตามหลักมนุษยธรรม โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจเรียกจากจำเลยทั้งสามอีก การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 มิได้หยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยจึงเป็นการไม่ชอบ และเนื่องจากข้อเท็จจริงที่ยุติเพียงพอแก่การวินิจฉัยคดี ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหานี้ในข้อกฎหมายไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างทั้งสองพิจารณาพิพากษาใหม่ เห็นว่า เงินที่จำเลยที่ 2 ช่วยค่าทำศพจำนวน 10,000 บาท นั้น จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การว่าเป็นการช่วยเหลือค่าปลงศพให้แก่โจทก์ทั้งสองบางส่วนแล้วตามหลักมนุษยธรรม จึงมิใช่กรณีที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ช่วยค่าทำศพโดยยอมรับผิดและมิได้มอบให้ในฐานะเป็นค่าเสียหายส่วนหนึ่ง แต่เป็นการให้ในลักษณะร่วมทำบุญอันเป็นการสำนึกในศีลธรรม จะนำมาหักกับจำนวนเงินค่าปลงศพที่โจทก์ทั้งสองฟ้องเรียกร้องไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง เมื่อศาลฎีการับวินิจฉัยเฉพาะประเด็นเงินค่าทำศพจำนวน 10,000 บาท เท่านั้น โดยไม่รับวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาในส่วนที่ไม่รับวินิจฉัยให้แก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 คงเรียกเก็บค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาจากทุนทรัพย์ 10,000 บาท ซึ่งเท่ากับ 250 บาท จำเลยที่ 1 ที่ 2 เสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกามาจำนวน 7,990 บาท ต้องคืนค่าขึ้นศาลให้แก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 จำนวน 7,740 บาท”
พิพากษายืน ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาจำนวน 7,740 บาท แก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกานอกจากนี้ให้เป็นพับ.