คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 820/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จำเลยฐานผิดสัญญาสัมปทานที่ป่าไม้เขตซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ระงับการทำป่าไม้ชายเลนเป็นการชั่วคราวตั้งแต่ปี 2539 เป็นการผิดสัญญาและทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้จำเลยจ่ายเงินค่าชดเชยความเสียหายแก่โจทก์และคืนเงินประกันแก่โจทก์ จึงมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยผิดสัญญาหรือไม่และโจทก์มีสิทธิได้รับเงินชดเชยและเรียกเงินประกันคืนหรือไม่ การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าคณะรัฐมนตรีมีมติใหม่ให้ผู้ได้รับสัมปทานทำไม้ป่าชายเลนต่อไปได้ โจทก์สามารถทำไม้ป่าชายเลนต่อไปจนสิ้นอายุสัมปทาน ขณะฟ้องคดีนี้อายุสัมปทานของโจทก์ยังคงมีอยู่ โจทก์จึงไม่อาจเรียกร้องเงินชดเชยความเสียหายและเงินประกันความเสียหายตามสัญญาสัมปทานทำไม้ป่าชายเลนได้แล้วพิพากษายกฟ้อง เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นสั่งรวมพิจารณาเข้าด้วยกันโดยเรียกโจทก์สำนวนแรกว่าโจทก์ที่ 1 เรียกโจทก์สำนวนที่สองว่าโจทก์ที่ 2 เรียกจำเลยทั้งสองสำนวนว่าจำเลย
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องทำนองเดียวกันว่า จำเลยเป็นกระทรวงมีฐานเป็นนิติบุคคลมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับกิจการป่าไม้ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2529 และวันที่ 31 กรกฎาคม 2529 จำเลยให้สัมปทานทำไม้ป่าชายเลนแก่โจทก์ที่ 1 ในป่าโครงการเกาะลูดู (กบ.45) ตำบลห้วยน้ำขาว อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ เนื้อที่ 3,767 ไร่ มีกำหนด 15 ปี ตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2529 ถึงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2544 และแก่โจทก์ที่ 2 ในป่าโครงการคลองลัดบ่อแหน (กบ.31) ตำบลเกาะลันตาใหญ่ อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ เนื้อที่ 3,016 ไร่ มีกำหนด 15 ปี ตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2529 ถึงวันที่ 30 กรกฎาคม 2544 ต่อมาปลายปี 2539 โจทก์ทั้งสองได้รับแจ้งด้วยวาจาจากป่าไม้เขตนครศรีธรรมราชและป่าไม้จังหวัดกระบี่ ซึ่งมีหน้าที่ดูแลการทำไม้ป่าชายเลนของโจทก์และเป็นตัวแทนของจำเลยอ้างว่าจำเลยมีคำสั่งให้ระงับการทำไม้ป่าชายเลนของโจทก์ทั้งสองเป็นการชั่วคราวพร้อมทั้งประสานงานไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ให้ดำเนินคดีแก่โจทก์ทั้งสองตามพระราชบัญญัติป่าไม้ หากโจทก์ทั้งสองฝ่าฝืนคำสั่งห้าม การกระทำของตัวแทนจำเลยที่ได้กระทำตามอำนาจหน้าที่ที่จำเลยมอบหมายทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายไม่สามารถทำไม้ป่าชายเลนได้ อายุสัมปทานของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 มีอายุถึงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2544 และวันที่ 30 กรกฎาคม 2544 จึงเป็นการผิดสัญญาที่จำเลยทำไว้กับโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองประสงค์จะขอรับเงินชดเชยความเสียหายจากอธิบดีกรมป่าไม้ ตามมาตรา 68 อัฏฐ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ จึงได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นผู้แทนจำเลยให้ดำเนินการแจ้งคำสั่งระงับการทำไม้ป่าชายเลนเป็นการชั่วคราวให้โจทก์ทราบเป็นหนังสือแต่จำเลยไม่ยอมดำเนินการใด ๆ โดยมีเจตนาที่จะไม่ให้โจทก์ทั้งสองได้รับเงินชดเชยความเสียหาย ผลของการผิดสัญญาของจำเลยที่สั่งระงับการทำไม้ก่อนจะสิ้นอายุสัมปทาน ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายของโจทก์ที่ 1 เป็นเงินจำนวน 1,257,000 บาท และของโจทก์ที่ 2 จำนวน 1,660,520 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินค่าชดเชยความเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 จำนวน 1,257,000 บาท กับจำนวน 1,660,520 บาท และคืนเงินประกันแก่โจทก์ทั้งสองคนละ 10,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การทำนองเดียวกันว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไม่เคยมีคำสั่งให้โจทก์ทั้งสองหยุดทำกิจการที่ได้รับสัมปทานตามฟ้องเป็นการชั่วคราว ทั้งไม่เคยมอบอำนาจหรือมอบหมายให้บุคคลอื่นใดมีคำสั่งเช่นว่านั้น โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินชดเชยจากจำเลยและไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ทั้งสองเข้าทำไม้สัมปทานก่อนฟ้องเป็นเวลา 10 ปี ผลประโยชน์และรายได้เกินคุ้มเงินลงทุนทั้งหมดที่โจทก์ทั้งสองใช้จ่ายไปแล้ว จึงไม่มีค่าเสียหายใด ๆ ที่จะเรียกร้องจากจำเลยได้อีก ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 68 สัตต ส่วนค่าชดเชยความเสียหายที่เป็นโรงเรือน บ้านพัก เตาเผาถ่าน เรือ แจวเรือไม้ ของโจทก์ที่ 1 ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5 อันดับที่ 1 ถึง 8 เป็นเงินจำนวน 1,257,000 บาท และของโจทก์ที่ 2 เป็นเงินจำนวน 1,660,520 บาท ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5 อันดับที่ 1 ถึง 7 ไม่ได้เป็นสิ่งที่โจทก์ทั้งสองทำขึ้นใหม่ แต่ได้รับมอบมาจากผู้ประกอบการคนก่อนที่ได้รับสัมปทานทำไม้มาก่อน โจทก์ที่ 1 ไม่มีความเสียหายจะเรียกร้องได้ หากมีความเสียหายก็ไม่เกิน 10,000 บาท สำหรับโจทก์ที่ 2 ไม่มีความเสียหายตามอันดับที่ 1 ถึง 7 และที่เรียกค่าเสียหายส่วนอันดับที่ 8 คือตาชั่งน้ำหนักไม้ไม่ใช่ทรัพย์สิ่งของที่จำเป็นต้องใช้ในการทำสัมปทานไม้ แต่โจทก์ที่ 2 มีไว้เพื่อชั่งน้ำหนักไม้คำนวณจ่ายค่าจ้างคนงานจึงเรียกร้องค่าเสียหายดังกล่าวไม่ได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวน ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงยุติฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2529 และวันที่ 31 กรกฎาคม 2529 จำเลยให้สัมปทานทำไม้ป่าชายเลนแก่โจทก์ที่ 1 ในป่าโครงการเกาะลูดู (กบ.45) ตำบลห้วยน้ำขาว อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ เนื้อที่ 3,767 ไร่ มีกำหนด 15 ปี ตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2529 ถึงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2544 และแก่โจทก์ที่ 2 ในป่าโครงการคลองลัดบ่อแหน (กบ.31) ตำบลเกาะลันตาใหญ่ อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ เนื้อที่ 3,016 ไร่ มีกำหนด 15 ปี ตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2529 ถึงวันที่ 30 กรกฎาคม 2544 ต่อมาปลายปี 2539 โจทก์ทั้งสองได้รับแจ้งด้วยวาจาจากป่าไม้เขตนครศรีธรรมราชและป่าไม้เขตจังหวัดกระบี่ ซึ่งมีหน้าที่ดูแลการทำไม้ป่าชายเลนของโจทก์และเป็นตัวแทนของจำเลย อ้างว่าจำเลยมีคำสั่งให้ระงับการทำไม้ป่าชายเลนของโจทก์ทั้งสองเป็นการชั่วคราวพร้อมทั้งประสานงานไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ให้ดำเนินคดีแก่โจทก์ทั้งสองตามพระราชบัญญัติป่าไม้ หากโจทก์ทั้งสองฝ่าฝืนคำสั่งห้าม ต่อมาวันที่ 6 ธันวาคม 2543 สำนักงานป่าไม้เขตนครศรีธรรมราชแจ้งโจทก์ทั้งสองว่าอธิบดีกรมป่าไม้มีวิทยุสั่งการให้โจทก์ทั้งสองสามารถทำสัมปทานไม้ป่าชายเลนต่อไปได้จนกว่าจะหมดอายุสัมปทาน คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า มีเหตุย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายฐานผิดสัญญาสัมปทานที่ป่าไม้เขตจังหวัดนครศรีธรรมราชและป่าไม้เขตจังหวัดกระบี่ซึ่งมีหน้าที่ดูแลการทำไม้ป่าชายเลนของโจทก์ทั้งสองและเป็นตัวแทนของจำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ทั้งสองระงับการทำไม้ป่าชายเลนทั้งสองเป็นการชั่วคราวตั้งแต่ปี 2539 เป็นการผิดสัญญาและทำให้โจทก์ทั้งสองเสียหาย ขอให้จำเลยจ่ายเงินค่าชดเชยความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง และคืนเงินประกันแก่โจทก์ทั้งสองคนละ 10,000 บาท แต่ศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวว่าการกระทำนั้นเป็นการผิดสัญญาหรือไม่ และโจทก์ทั้งสองมีสิทธิที่จะได้รับค่าชดเชยความเสียหายและเรียกเงินประกันคืนจากจำเลยได้หรือไม่ กลับไปวินิจฉัยว่าคณะรัฐมนตรีมีมติใหม่เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2543 ให้ผู้ได้รับสัมปทานทำไม้ป่าชายเลนต่อไปได้ จำเลยซึ่งมีหน้าที่ที่จะต้องดำเนินการยกเลิกการให้สัมปทานไม้ป่าชายเลนหรือมีคำสั่งให้ระงับการทำไม้เป็นการชั่วคราวตามมาตรา 68 ทวิ ย่อมเป็นอันหมดไป โจทก์ทั้งสองสามารถทำสัมปทานไม้ป่าชายเลนต่อไปจนสิ้นอายุสัมปทานของแต่ละคน ขณะฟ้องคดีนี้วันที่ 28 สิงหาคม 2543 และวันที่ 29 สิงหาคม 2543 อายุสัมปทานของโจทก์ทั้งสองยังคงมีอยู่ โจทก์ทั้งสองจึงไม่อาจเรียกร้องเงินชดเชยความเสียหายและเงินประกันความเสียหายตามสัญญาสัมปทานทำไม้ป่าชายเลนได้แล้วพิพากษายกฟ้อง อันเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นที่โจทก์ทั้งสองฟ้องว่าการมีคำสั่งด้วยวาจาของป่าไม้เขตจังหวัดนครศรีธรรมราชและป่าไม้เขตจังหวัดกระบี่ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ให้โจทก์ทั้งสองระงับการทำไม้ป่าชายเลนชั่วคราวเป็นการผิดสัญญาและจำเลยต้องชำระเงินชดเชยความเสียหายกับคืนเงินประกันแก่โจทก์ทั้งสอง คำวินิจฉัยและพิพากษาของศาลชั้นต้นไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่ง เมื่อได้วินิจฉัยดังกล่าวแล้วก็ไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของโจทก์ทั้งสองอีก”
พิพากษายกคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่.

Share