คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 ได้กำหนดขั้นตอนการอุทธรณ์คำวินิจฉัยหรือคำสั่งของคณะกรรมการต่อศาลไว้ การจะนำคดีมาสู่ศาลจึงต้องปฏิบัติตามขั้นตอนดังกล่าว เมื่อโจทก์มิได้ดำเนินการตามขั้นตอน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนคำขอรับสิทธิบัตร
ซองสำหรับบรรจุหลอดตามสิทธิบัตรเกาหลีซึ่งเป็นแบบผลิตภัณฑ์เดียวกับสิทธิบัตรพิพาทได้มีการเปิดเผยภาพ สาระสำคัญหรือรายละเอียดในเอกสารหรือสิ่งพิมพ์ที่ได้เผยแพร่อยู่แล้วนอกราชอาณาจักรก่อนวันที่จำเลยยื่นคำขอรับสิทธิบัตรพิพาทจึงไม่ถือว่าเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 57 (2) ซึ่งต้องเพิกถอนตามมาตรา 64 ประกอบด้วยมาตรา 56
จำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าของสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ซองสำหรับบรรจุหลอดพิพาทย่อมมีสิทธิแสดงตนว่าเป็นเจ้าของสิทธิบัตรซึ่งเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย ส่วนคำขอรับสิทธิบัตรหลอดดูดพลาสติกพิพาทอีก 6 คำขอ แม้ยังอยู่ระหว่างประกาศโฆษณา แต่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ขอรับสิทธิบัตรก็มีสิทธิบอกกล่าวแก่บุคคลทั่วไปให้รู้ว่าการออกแบบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้มีการยื่นขอรับสิทธิบัตรไว้แล้ว อันเป็นการบอกกล่าวตามข้อเท็จจริง เมื่อลูกค้าที่สั่งซื้อสินค้าจากโจทก์ยังซื้อสินค้าของโจทก์อยู่ โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องจักรใช้ในการผลิตสินค้าหลอดดูดพลาสติกต่าง ๆ เช่น เครื่องเกลียวฉีดสีหลอดดูดพลาสติก เครื่องทำหลอดดูดพลาสติก เครื่องทำโค้งงอหลอดดูดพลาสติก และเครื่องห่อเป็นซ่องบรรจุหลอดดูดพลาสติก เดิมประเทศเยอรมนีเป็นผู้ผลิตเครื่องจักรและสินค้าดังกล่าวนับถึงปัจจุบันเป็นเวลานานกว่า 30 ปีแล้ว ต่อมาได้มีการผลิตเครื่องจักรและขายสินค้าดังกล่าวในประเทศเกาหลีโดยนำต้นแบบมาจากเยอรมนี บริษัทในประเทศเกาหลีได้ผลิตเครื่องจักรและขายสินค้าดังกล่าวนับถึงปัจจุบันมากว่า 20 ปีแล้ว จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการ ในปี 2542 และปี 2545 จำเลยทั้งสองได้นำแบบผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากเครื่องจักรดังกล่าวไปขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์จากกระทรวงพาณิชย์ โดยอ้างว่าเป็นผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์ กล่าวคือ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2542 นำแบบหลอดดูดพลาสติกโค้งงอไปขอรับสิทธิบัตรตามคำขอเลขที่ 050563 และ 050565 ต่อมาเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2545 นำแบบซองสำหรับบรรจุหลอดดูดพลาสติกไปขอรับสิทธิบัตรตามคำขอเลขที่ 072707 และเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2545 นำแบบหลอดดูดฉีดสีและลวดลายพลาสติกไปขอรับสิทธิบัตรตามคำขอเลขที่ 072740, 072741, 072742 และ 072743 ซึ่งต่อมาเจ้าหน้าที่สิทธิบัตรกระทรวงพาณิชย์ให้สิทธิบัตรแก่จำเลยทั้งสองโดยผิดหลง การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการนำสิ่งประดิษฐ์ที่มีอยู่แล้ว และเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากเครื่องจักรในต่างประเทศ มีเอกสารเผยแพร่เครื่องจักรและผลิตภัณฑ์นอกราชอาณาจักรมาแล้วไม่ต่ำกว่า 20 ปี ไปขอรับสิทธิบัตรโดยไม่สุจริต แอบอ้างว่าเป็นการออกแบบของตนเอง จำเลยทั้งสองได้นำสิทธิบัตรดังกล่าวไปแสดงต่อลูกค้าของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายและเสื่อมเสียชื่อเสีย อีกทั้งลูกค้าของโจทก์เกรงกลัวไม่กล้าซื้อสินค้าจากโจทก์ โจทก์ขอคิดค่าเสียหายจากการเสียโอกาสในการขายสินค้าและค่าเสื่อมเสียชื่อเสียงเดือนละ 300,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 300,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะเพิกถอนสิทธิบัตรตามฟ้อง ให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิบัตรตามคำขอเลขที่ 050563, 050565, 072707, 072740 ถึง 072743
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองได้ขอรับสิทธิบัตรตามฟ้องจริง แต่ก่อนวันที่จำเลยทั้งสองขอรับสิทธิบัตรดังกล่าว ไม่มีเอกสารเผยแพร่ผลิตภัณฑ์ใดตรงกับข้อถือสิทธิในแบบผลิตภัณฑ์ที่จำเลยทั้งสองขอ เอกสารเผยแพร่ที่โจทก์กล่าวอ้างเป็นเอกสารเผยแพร่การคิดค้นเครื่องจักรซึ่งเป็นสิ่งประดิษฐ์หลอดดูด ไม่ตรงกับการขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ของจำเลยทั้งสอง ไม่ขอรับรองว่าเอกสารดังกล่าวมีการเผยแพร่มาก่อนวันที่จำเลยขอรับสิทธิบัตรออกแบบผลิตภัณฑ์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากโจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่า การที่จำเลยทั้งสองได้รับสิทธิบัตรมาโดยไม่สุจริตทำให้ลูกค้าโจทก์เกรงกลัวไม่กล้าซื้อสินค้าจากโจทก์ เป็นเรื่องการกล่าวอ้างในภายหน้าและยังไม่แน่นอน โจทก์จึงไม่ใช่บุคคลผู้มีส่วนได้เสีย โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าลูกค้าเกรงกลัวไม่กล้าซื้อสินค้าจากโจทก์เป็นจำนวนโดยประมาณเท่าใด จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุม โจทก์ไม่ได้ขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ตามฟ้อง การที่จำเลยได้นำการขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์แสดงต่อลูกค้าหรือบุคคลทั่วไปเป็นการบอกกล่าวที่จะใช้สิทธิตามกฎหมายไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่า โจทก์ฟ้องขอเพิกถอนคำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์รวม 7 คำขอ คือ คำขอเลขที่ 050563, 050565, 072707 และ 072740 ถึง 072743 โดยอ้างเหตุว่ามิใช่การออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสอง ข้อเท็จจริงปรากฏว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ออกสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ซองสำหรับบรรจุหลอดตามคำขอเลขที่ 072707 เลขที่สิทธิบัตร 17676 ให้แก่จำเลยที่ 1 ส่วนคำขอรับสิทธิบัตรอีก 6 คำขอที่เหลืออยู่ระหว่างประกาศโฆษณาตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 65 ประกอบด้วยมาตรา 28
มีปัญหาที่เห็นควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยในประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องเพิกถอนคำขอรับสิทธิบัตร 6 คำขอ คือ คำขอเลขที่ 050563, 050565 และ 072740 ถึง 072743 ที่อยู่ระหว่างประกาศโฆษณาหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 65 ประกอบด้วยมาตรา 31, 34, 72, 74 ได้กำหนดขั้นตอนให้บุคคลที่เห็นว่าตนมีสิทธิดีกว่าผู้ขอรับสิทธิบัตร หรือเห็นว่าคำขอรับสิทธิไม่ชอบด้วยกฎหมายคัดค้านคำขอรับสิทธิบัตรและให้ผู้ขอรับสิทธิบัตรยื่นคำโต้แย้งคำคัดค้านแล้วให้อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาเป็นผู้วินิจฉัยและมีคำสั่ง หากผู้มีส่วนได้เสียไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของอธิบดีก็มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการสิทธิบัตร เมื่อคณะกรรมการวินิจฉัยและมีคำสั่งแล้ว คู่กรณีที่ไม่เห็นด้วยจึงมีสิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยหรือคำสั่งของคณะกรรมการต่อศาล ดังนั้น การที่โจทก์จะนำคดีมาสู่ศาลจึงต้องปฏิบัติตามขั้นตอนแห่งบทบัญญัติ เมื่อไม่ปรากฏตามคำฟ้องหรือทางนำสืบของโจทก์ว่าโจทก์ได้ดำเนินการอย่างไรตามขั้นตอนดังที่กล่าวข้างต้น และนายทะเบียนหรือคณะกรรมการมีคำสั่งโต้แย้งสิทธิโจทก์อย่างไร จึงยังถือไม่ได้ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องขอเพิกถอนคำขอรับสิทธิบัตรทั้ง 6 คำขอดังกล่าว ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้อง เป็นปัญหาที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศยอ่มมีอำนาจหยิบยกขึ้นมาวินิจฉัยได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบมาตรา 26 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) กรณีจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยประเด็นตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า แบบผลิตภัณฑ์ตามคำขอรับสิทธิบัตรทั้ง 6 คำขอเป็นแบบผลิตภัณฑ์ใหม่หรือไม่
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า แบบผลิตภัณฑ์ซองสำหรับบรรจุหลอดตามคำขอเลขที่ 072707 เลขที่สิทธิบัตร 17676 ไม่เป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 57 อันถือเป็นสิทธิบัตรที่ไม่สมบูรณ์ที่ต้องเพิกถอนตามมาตรา 64 ประกอบด้วยมาตรา 56 ตามอุทธรณ์ของโจทก์หรือไม่ ประเด็นนี้แม้โจทก์จะมีพยานบุคคลมานำสืบเพียงว่าจำเลยทั้งสองนำแบบซองสำหรับบรรจุหลอดดูดพลาสติกไปขอรับสิทธิบัตรตามคำขอเลขที่ 072707 เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2545 เอกสารหมาย จ.5 ซึ่งต่อมาได้รับสิทธิบัตรเลขที่ 17676 ในนามของจำเลยที่ 1 โดยมิได้แสดงภาพผลิตภัณฑ์ หากแสดงแต่ภาพที่ตั้งของโรงงานและเครื่องจักรระบุว่าประกอบธุรกิจเครื่องจักรผลิตหลอดดูด (STRAW MACHINERY) และหลอดดูดเครื่องดื่ม (DRINKING STRAWS) ซึ่งก่อตั้งขึ้นในประเทศสาธารณรัฐเกาหลีเมื่อปี 2522 และในประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซียเมื่อปี 2532 รายละเอียดตามเอกสารหมาย จ.7 และ จ.8 ทำให้ไม่ชัดเจนว่า มีการเปิดเผยภาพแบบผลิตภัณฑ์ซองสำหรับบรรจุหลอดดูดก่อนหรือหลังที่จำเลยทั้งสองจะไปยื่นคำขอรับสิทธิบัตร แต่เมื่อพิจารณาถึงคำฟ้อง คำให้การและข้อนำสืบที่ตรงกันว่าหมายถึงแบบซองสำหรับบรรจุหลอดดูดพลาสติกตามสิทธิบัตรเลขที่ 17676 ประกอบข้อนำสืบของจำเลยทั้งสองตามที่จำเลยที่ 2 นำสืบว่าแบบผลิตภัณฑ์ซองบรรจุหลอดดูดตามสิทธิบัตรเลขที่ 17676 เดิมจดทะเบียนไว้ที่ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี ตามเอกสารหมาย ล.4 และต่อมาได้โอนให้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อขอรับสิทธิบัตรในประเทศไทย เป็นสิทธิบัตรเลขที่ 17676 เมื่อพิเคราะห์สัญญาโอนสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาเอกสารหมาย ล.4 แล้ว สัญญาระบุว่า นายชาง ซุง ยุน เจ้าของสิทธิบัตรการประดิษฐ์ประเภทวิธีผลิตซองบรรจุหลอด ตามสิทธิบัตรเกาหลีเลขที่ 0218879 ซึ่งยื่นคำขอรับสิทธิบัตรที่ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2543 และได้รับสิทธิบัตร วันที่ 19 มกราคม 2544 ขอโอนสิทธิตามสิทธิบัตรให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือสิทธิในประเทศไทย และปรากฏตามคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ว่า ซองสำหรับบรรจุหลอดตามสิทธิบัตรเกาหลีเลขที่ 0218879 เป็นแบบผลิตภัณฑ์ซองสำหรับบรรจุหลอดเดียวกับสิทธิบัตรเลขที่ 17676 ในคดีนี้ แสดงว่าสิทธิบัตรเกาหลีเลขที่ 0218879 ได้มีการเปิดเผยภาพ สาระสำคัญหรือรายละเอียดในเอกสารหรือสิ่งพิมพ์ที่ได้เผยแพร่อยู่แล้วนอกราชอาณาจักรก่อนวันที่ 29 มีนาคม 2545 ซึ่งเป็นวันยื่นคำขอรับสิทธิบัตรเลขที่ 17676 จึงไม่ถือว่าเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 57 (2) ซึ่งต้องเพิกถอนตามมาตรา 64 ประกอบด้วยมาตรา 56 อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาประการสุดท้ายที่ต้องวินิจฉัยมีว่า จำเลยทั้งสองต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์หรือไม่เพียงใด ข้อนี้โจทก์นำสืบว่า การที่จำเลยทั้งสองนำเอกสารการขอรับสิทธิบัตรไปแสดงต่อลูกค้าทำให้ลูกค้าโจทก์เกรงกลัวไม่กล้าซื้อหลอดดูดพลาสติกจากโจทก์ ทำให้โจทก์ขาดรายได้ตามเอกสารหมาย จ.9 โจทก์จึงขอเรียกค่าเสียหายเดือนละ 300,000 บาท นั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าของสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ซองสำหรับบรรจุหลอดเลขที่ 17676 ย่อมมีสิทธิแสดงตนว่าเป็นเจ้าของสิทธิบัตรซึ่งเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายที่มีอยู่ขณะนั้น ส่วนคำขอรับสิทธิบัตรหลอดดูดพลาสติกอีก 6 คำขอ แม้ว่าคำขอดังกล่าวยังอยู่ระหว่างประกาศโฆษณา แต่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ขอรับสิทธิบัตรก็มีสิทธิบอกกล่าวแก่บุคคลทั่วไปให้รู้ว่าการออกแบบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้มีการยื่นขอรับสิทธิบัตรไว้แล้ว อันเป็นการบอกกล่าวตามข้อเท็จจริง เมื่อไม่ปรกาฏจากข้อนำสืบของโจทก์ว่าการบอกกล่าวข้อเท็จจริงของจำเลยทั้งสองมีเจตนากลั่นแกล้งให้โจทก์เสียหาย กอปรกับนายสุชาติ เพชรดาษดา กรรมการโจทก์เบิกความเป็นพยานโจทก์ตอบคำถามค้านทนายจำเลยทั้งสองโดยรับว่า ลูกค้าที่สั่งซื้อสินค้าจากโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.9 ปัจจุบันก็ยังซื้อสินค้าของบริษัทโจทก์อยู่ แสดงว่าโจทก์ไม่ได้รับความเสียหายจริง ดังนี้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสอง อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ตามคำขอเลขที่ 072707 เลขที่สิทธิบัตร 17676 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ.

Share