คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 269/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ลูกจ้างขอลาออกจากงานก่อนครบเกษียณอายุ 2 เดือนมิใช่การเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน นายจ้างไม่จำต้องจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้าง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2522จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุเกษียณอายุ แต่ไม่จ่ายค่าชดเชยให้ขอให้บังคับจำเลยให้จ่ายค่าชดเชย 145,740 บาท

จำเลยให้การว่า จำเลยมิได้เลิกจ้างโจทก์แต่โจทก์ลาออกเมื่อวันที่ 30พฤศจิกายน 2522 ก่อนครบเกษียณอายุ โจทก์ไม่มีสิทธิได้ค่าชดเชย อย่างไรก็ตามจำเลยได้จ่ายค่าชดเชยให้โจทก์แล้ว โดยจ่ายรวมกับเงินสำรองเลี้ยงชีพเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 398,570.76 บาท ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยมิได้เลิกจ้างโจทก์ แต่โจทก์ลาออกจึงไม่มีสิทธิได้ค่าชดเชย พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า กรณีโจทก์ขอออกจากงานก่อนครบเกษียณอายุและจำเลยอนุญาตนั้น ถือได้ว่าเป็นการลาออก การจ่ายค่าจ้างและเงินโครงการเกษียณอายุให้โจทก์นั้น แม้รายแรกจะเรียกว่าค่าจ้าง แต่ความจริงมิใช่ค่าจ้าง เพราะมิใช่เงินที่จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานและรายหลังนั้น แม้จะเป็นเงินโครงการเกษียณอายุซึ่งตามข้อบังคับจ่ายให้แก่ผู้ที่ออกจากงานเพราะเหตุเกษียณอายุก็ตาม เห็นได้ชัดว่าการจ่ายเงินดังกล่าวให้โจทก์มิได้เป็นไปตามข้อบังคับนั้น การที่จำเลยจ่ายเงิน 2 รายนี้ให้โจทก์มิได้หมายความว่า โจทก์ยังเป็นลูกจ้างของจำเลยตลอดมาจนครบเกษียณอายุ กรณีดังกล่าวถือได้ว่าโจทก์ลาออกจากงานมิใช่จำเลยเลิกจ้าง

พิพากษายืน

Share