คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9770/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หลังจากการจ้างแรงงานสิ้นสุดลงด้วยการลาออก จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ออกใบสำคัญแสดงการทำงานให้แก่โจทก์ตามที่ขอ โจทก์ชอบที่จะได้รับใบสำคัญแสดงว่าได้ทำงานมานานเท่าไรและงานที่ทำนั้นเป็นงานอย่างไรจากจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 585
ที่ศาลแรงงานภาค 2 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 คืนเงินประกัน 2,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันลาออกจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ไม่ตรงกับเนื้อหาส่วนคำวินิจฉัยที่ให้จ่ายดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามฟ้อง ทั้งเมื่อโจทก์ลาออกมีผลในวันที่ 7 ธันวาคม 2552 จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่คืนเงินประกันการทำงานแก่โจทก์ภายใน 7 วัน นับแต่วันลาออกดังกล่าว คือต้องคืนเงินประกันการทำงานภายในวันที่ 14 ธันวาคม 2552 หากจำเลยที่ 1 ไม่คืนเงินประกันการทำงานแก่โจทก์ภายในวันดังกล่าวจะต้องเสียดอกเบี้ยระหว่างเวลาผิดนัดอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง และมาตรา 10 วรรคสอง กรณีดังกล่าวแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์แต่เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 เห็นสมควรให้จำเลยที่ 1 จ่ายคืนเงินประกันการทำงานพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2552 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามจ่ายค่าชดเชย 136,000 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 17,000 บาท ค่าจ้างค้างจ่าย 7,933.33 บาท เงินประกันการทำงานและดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง 4,100 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 408,000 บาท ค่าขาดโอกาสใช้สิทธิตามกฎหมายประกันสังคม 300,000 บาท เงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมย้อนหลังตามสิทธิที่โจทก์จะได้รับให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 หมวด 1 และหมวด 2 และออกหนังสือรับรองการทำงานแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมย้อนหลังเพื่อคุ้มครองสิทธิของลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ทุกคนซึ่งถือว่าเป็นบุคคลที่มีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดีตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 (ที่ถูก เป็นมาตรา 53) และลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ลักษณะ 6 มาตรา 96 และมาตรา 96 (ที่ถูก เป็นมาตรา 97)
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์แถลงไม่ติดใจในฟ้องที่กล่าวหาจำเลยที่ 2 และที่ 3
ศาลแรงงานภาค 2 พิพากษายกฟ้อง แต่ให้จำเลยที่ 1 คืนเงินประกัน 2,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 7 ธันวาคม 2552 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ (ที่ถูก พิพากษาให้จำเลยที่ 1 คืนเงินประกัน 2,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 7 ธันวาคม 2552 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก และยกฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3)
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค 2 ฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2545 (ที่ถูกเป็น เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2545) จำเลยที่ 1 จ้างโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายบุคคล โดยมีหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับกฎหมายแรงงาน และคำนวณเงินนำส่งกองทุนประกันสังคมให้แก่ลูกจ้างทุกคนรวมทั้งโจทก์ด้วยแล้วแจ้งรายการนำส่งเงินสะสมและเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมต่อสำนักงานประกันสังคม โจทก์แจ้งรายการนำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมของตนเองว่า นับแต่เดือนตุลาคม 2545 โจทก์ได้รับค่าจ้างเดือนละ 6,000 บาท และต่อมานับแต่เดือนพฤษภาคม 2551 โจทก์ได้รับค่าจ้างเดือนละ 7,000 บาท เมื่อโจทก์ไม่เคยโต้แย้งว่ารายการนำส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคมไม่ถูกต้องโจทก์จึงไม่อาจอ้างได้ว่าโจทก์ทำการคำนวณไปภายใต้คำสั่งของจำเลยที่ 1 และไม่อาจอ้างได้ว่าจำเลยที่ 1 ใช้ฐานค่าจ้างคำนวณเงินสมทบนำส่งกองทุนประกันสังคมขัดต่อกฎหมาย สำนักงานประกันสังคมโดยนักวิชาการแรงงานชำนาญการตรวจสอบไม่พบว่าปี 2551 และปี 2552 จำเลยที่ 1 มีรายการส่งเงินสมทบไม่ถูกต้อง จำเลยที่ 1 ยื่นแบบรายการอัตราค่าจ้างเพื่อคำนวณส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมถูกต้องและเป็นการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 96 แล้ว วันที่ 7 ธันวาคม 2552 โจทก์เขียนหนังสือลาออกโดยระบุว่าโจทก์ได้รับเงินอนุเคราะห์จากจำเลยที่ 1 จำนวน 46,000 บาท และลงชื่อไว้ในหนังสือลาออก ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้โจทก์มีหนังสือถึงนายชาญศักดิ์ เรื่องขออนุเคราะห์เกษียณอายุการทำงานก่อนกำหนดโดยขอให้ จำเลยที่ 1 จ่ายค่าจ้าง 136,000 บาท แก่โจทก์ นายชาญศักดิ์เป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 และขณะเดียวกันก็มีตำแหน่งเป็นผู้จัดการทั่วไปด้วย นายชาญศักดิ์กับโจทก์ต่อรองกันจนในที่สุดยอมจ่ายเงินอนุเคราะห์แก่โจทก์ตามที่ระบุในหนังสือลาออก จึงเป็นไปไม่ได้ว่านายชาญศักดิ์หรือจำเลยที่ 1 จะบีบบังคับให้โจทก์เขียนหนังสือลาออก แต่เป็นการที่โจทก์ลาออกจากงานเอง แล้วศาลแรงงานภาค 2 วินิจฉัยว่า เมื่อโจทก์ลาออกเองจำเลยที่ 1 ต้องคืนเงินประกันการทำงานพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันลาออกเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้าง ค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ทั้งไม่สามารถใช้สิทธิเพื่อขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานอันเนื่องจากการเลิกจ้างจากสำนักงานประกันสังคมได้ การจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมของจำเลยที่ 1 ชอบแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1 จ่ายเงินสมทบย้อนหลังไม่ว่าจะเป็นกรณีของโจทก์เองหรือลูกจ้างอื่น ส่วนประเด็นเกี่ยวกับค่าขาดประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพนั้นไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 กรรมการจำเลยที่ 1 โจทก์ก็ไม่ติดใจฟ้องกล่าวหาว่าเป็นนายจ้าง
ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 รับร้อยตรีหญิง พัชรินทร์ มาเป็นผู้จัดการฝ่ายบุคคลแล้วบีบบังคับให้โจทก์ส่งมอบงานให้แก่ร้อยตรีหญิง พัชรินทร์ ต่อมาให้โจทก์ไปเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย ท้ายที่สุดบีบบังคับให้โจทก์เขียนหนังสือลาออกโดยให้โจทก์ลอกตามหนังสือลาออกที่กรรมการซึ่งเป็นทนายความร่างขึ้น โจทก์ในฐานะลูกจ้างซึ่งมีความด้อยกว่าในทางสังคมและอำนาจต่อรองน้อยกว่าทั้งถูกกดดันทางเศรษฐกิจ ทำให้ยอมตกลงกับนายจ้าง การเขียนหนังสือลาออกไม่ได้เกิดจากความสมัครใจ ภายหลังจำเลยที่ 1 ให้โจทก์ทำงานต่อไปถือว่าไม่ติดใจการลาออกของโจทก์ และต่อมาไม่ยอมให้ทำงานเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมก็ดี และการที่ตรวจไม่พบรายการที่จำเลยที่ 1 ส่งเงินสมทบไม่ถูกต้องไม่ได้หมายความว่าจำเลยที่ 1 จะปฏิบัติถูกต้องตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 เนื่องจากจำเลยที่ 1 ใช้ฐานอัตราค่าจ้างเท่ากันสำหรับพนักงานฝ่ายบริหารและพนักงานทั่วไปไม่ว่าจะทำงานมานานเท่าใด และเป็นที่สังเกตว่าก่อนปี 2551 ฐานอัตราค่าจ้างใช้คำนวณเงินสมทบสำหรับพนักงานทั่วไปต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ แม้อัตราค่าจ้างของโจทก์เดือนละ 17,000 บาท แต่โจทก์ต้องใช้ฐานอัตราค่าจ้างเดือนละ 7,000 บาท คำนวณเงินสมทบนำส่งกองทุนประกันสังคม ก็เนื่องจากเป็นคำสั่งของนายจ้างที่โจทก์ปฏิเสธไม่ได้ ไม่ได้กระทำไปโดยสมัครใจ เมื่อจำเลยที่ 1 หลีกเลี่ยงนำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเป็นการไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 และโจทก์ถูกบีบบังคับให้ลาออก โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากสาเหตุเลิกจ้างและกรณีชราภาพ กับจำเลยที่ 1 ต้องหักเงินสมทบจากค่าจ้างนำส่งกองทุนประกันสังคมโดยใช้ฐานค่าจ้าง 15,000 บาท รวมทั้งจำเลยที่ 1 ต้องจ่ายเงินสมทบย้อนหลังเข้ากองทุนประกันสังคมให้แก่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่า เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานภาค 2 ที่รับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ทำหนังสือลาออกโดยสมัครใจ โจทก์คำนวณเงินสมทบนำส่งกองทุนประกันสังคมไปเองโดยไม่ได้อยู่ภายใต้คำสั่งของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ยื่นแบบรายการอัตราค่าจ้างเพื่อคำนวณเงินสมทบนำส่งกองทุนประกันสังคมถูกต้องแล้ว ดังนั้น อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวล้วนแต่เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิได้รับใบสำคัญแสดงการทำงานจากจำเลยที่ 1 หรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องให้ฝ่ายจำเลยออกหนังสือรับรองการทำงาน ซึ่งตามคำให้การของจำเลยทั้งสามก็ระบุว่าจำเลยที่ 1 ยินดีที่จะออกหนังสือรับรองการทำงานให้แก่โจทก์ทุกเวลา แต่ศาลแรงงานภาค 2 ไม่ได้วินิจฉัยประเด็นนี้ให้ เห็นว่า หลังจากการจ้างแรงงานสิ้นสุดลงด้วยการลาออก จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ออกใบสำคัญแสดงการทำงานให้แก่โจทก์ตามที่ขอ โจทก์ชอบที่จะได้รับใบสำคัญแสดงว่าได้ทำงานมานานเท่าไรและงานที่ทำนั้นเป็นงานอย่างไรจากจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 585 อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลแรงงานภาค 2 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 คืนเงินประกัน 2,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันลาออกจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ไม่ตรงกับเนื้อหาส่วนคำวินิจฉัยที่ให้จ่ายดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีตามฟ้องทั้งเมื่อโจทก์ลาออกมีผลในวันที่ 7 ธันวาคม 2552 จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่คืนเงินประกันการทำงานแก่โจทก์ภายใน 7 วัน นับแต่วันลาออกดังกล่าว คือต้องคืนเงินประกันภายในวันที่ 14 ธันวาคม 2552 หากจำเลยที่ 1 ไม่คืนเงินประกันการทำงานแก่โจทก์ภายในวันดังกล่าว จะต้องเสียดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง และมาตรา 10 วรรคสอง กรณีดังกล่าวแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์แต่เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5), 246 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 เห็นสมควรให้จำเลยที่ 1 จ่ายคืนเงินประกันการทำงานพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2552 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 จ่ายคืนเงินประกันการทำงานพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2552 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และออกใบสำคัญแสดงว่าโจทก์ได้ทำงานมานานเท่าไรและงานที่ทำนั้นเป็นงานอย่างไรแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานภาค 2

Share