แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
แม้โจทก์จะมีชื่อและนามสกุลอย่างเดียวกันกับลูกหนี้ของจำเลย แต่ก็มีภูมิลำเนาต่างกัน ทั้งลูกหนี้ของจำเลยไม่เคยย้ายภูมิลำเนา อีกทั้งเมื่อโจทก์ติดต่อทนายความจำเลยแจ้งว่ามิได้เป็นหนี้ ทนายความจำเลยหรือจำเลยกลับยืนยันว่าเป็นหนี้ ถ้าไม่ชำระหนี้จะฟ้องร้องต่อศาล ทำให้โจทก์เกิดความกลัว จึงได้ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเป็นเหตุให้โจทก์ถูกหนังสือพิมพ์รายวันลงข่าวเผยแพร่ไปทั่วราชอาณาจักร ทำให้โจทก์ถูกผู้บังคับบัญชาเรียกไปสอบสวนหามูลเหตุของข่าวการเป็นหนี้จำเลย และลงความเห็นว่าถ้าข่าวดังกล่าวเป็นจริงโจทก์จะถูกลงโทษ โจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการโทรศัพท์ทางไกลติดต่อญาติพี่น้องเพื่อแจ้งความจริงให้ทราบ และได้ว่าจ้างทนายความให้ตรวจสอบรายละเอียดเกี่ยวกับหนี้ดังกล่าว ดังนี้ กรณีถือได้ว่าจำเลยประมาทเลินเล่อหรือไม่ใยดีต่อผลแห่งความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่โจทก์ในภายหลังโดยไม่ใช้ความระมัดระวังตามสมควรทำการตรวจสอบเกี่ยวกับตัวลูกหนี้ของจำเลยเสียใหม่ตามที่โจทก์แจ้งให้ทนายความของจำเลยหรือจำเลยทราบแล้วว่าโจทก์มิใช่ลูกหนี้ของจำเลย รวมทั้งจำเลยยังได้ยืนยันที่จะฟ้องร้องโจทก์ต่อศาล จนเป็นเหตุให้โจทก์เกิดความกลัวและนำเรื่องไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนจนถูกหนังสือพิมพ์รายวันบางฉบับนำข่าวไปเผยแพร่ทั่วราชอาณาจักร อันเป็นการกระทำต่อโจทก์โดยมิชอบด้วยกฎหมายทำให้โจทก์เสียหาย พฤติการณ์จึงถือได้ว่าจำเลยได้กระทำละเมิดต่อโจทก์อันจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เพื่อการนั้นแล้วครบถ้วนด้วยองค์ประกอบแห่งความผิดเพื่อละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 420
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองได้มีหนังสือบอกกล่าวให้โจทก์ชำระหนี้และบังคับจำนอง โจทก์ได้ติดต่อกับจำเลยทั้งสองว่าโจทก์ไม่เคยทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและนำทรัพย์สินไปจำนอง แต่จำเลยทั้งสองก็ไม่ยินยอมและจะดำเนินคดีแก่โจทก์ต่อมาหนังสือพิมพ์ไทยรัฐและหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ได้ลงข่าวทั่วราชอาณาจักรไทยเกี่ยวกับจำเลยทั้งสองทวงหนี้โจทก์ใจความว่าโจทก์เป็นหนี้จำเลยทั้งสอง การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ชั้นตรวจคำฟ้อง ศาลชั้นต้นเห็นว่า การกระทำของจำเลยยังไม่ถือว่าสิทธิและหน้าที่ของโจทก์ถูกโต้แย้งจึงไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี จำเลยที่ 1 ฎีกา ศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นรับคำฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาต่อไป แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 25,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง คำขออื่นให้ยก ส่วนจำเลยที่ 2ให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้รับฎีกาจำเลยที่ 1 เฉพาะข้อ 3.1 ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมาย จึงมีปัญหาในชั้นฎีกาอันควรวินิจฉัยก็เฉพาะกรณีดังกล่าวเท่านั้น โดยเรื่องนี้จำเลยที่ 1 ยกขึ้นเป็นข้อฎีกาความว่า ข้อเท็จจริงได้ความแต่เพียงว่าจำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามไปยังลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีชื่อและนามสกุลซ้ำกับโจทก์ ณ ภูมิลำเนาของโจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงยังไม่เข้าองค์ประกอบแห่งความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 โดยมีนัยเป็นอย่างเดียวกันกับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ฉบับลงวันที่ 10 มกราคม 2539 ข้อ 3.1 ซึ่งในการวินิจฉัยปัญหาดังกล่าว ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ก็ได้ฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานในสำนวนมาด้วยว่า แม้โจทก์จะมีชื่อและนามสกุลอย่างเดียวกันกับลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 แต่ก็มีภูมิลำเนาต่างกันทั้งลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 ไม่เคยย้ายภูมิลำเนาด้วย อีกทั้งเมื่อโจทก์ติดต่อทนายความจำเลยที่ 1 แจ้งว่ามิได้เป็นหนี้ แต่ทนายความจำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 1 กลับยืนยันว่าเป็นหนี้ ถ้าไม่ดำเนินการชำระหนี้จะฟ้องร้องต่อศาล ทำให้โจทก์เกิดความกลัวจึงได้ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเป็นเหตุให้โจทก์ถูกหนังสือพิมพ์รายวันคือ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐและหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ฉบับลงวันที่ 1 มีนาคม 2535 ลงข่าวเผยแพร่ไปทั่วราชอาณาจักร ทำให้โจทก์ถูกผู้บังคับบัญชาเรียกไปสอบสวนหามูลเหตุของข่าวการเป็นหนี้จำเลยที่ 1 และลงความเห็นว่า ถ้าข่าวดังกล่าวเป็นจริงโจทก์จะถูกลงโทษ ทั้งโจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการโทรศัพท์ทางไกลติดต่อญาติพี่น้องเพื่อแจ้งความจริงให้ทราบ และได้ว่าจ้างทนายความให้ตรวจสอบรายละเอียดเกี่ยวกับหนี้ดังกล่าว ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ฎีกาได้เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมาย โดยไม่สามารถฎีกาโต้เถียงข้อเท็จจริงดังกล่าว เนื่องจากทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาของจำเลยที่ 1 มีเพียง 25,000 บาท อันไม่เกิน 200,000 บาท ซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาก็ต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นและที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้ฟังมาจากพยานหลักฐานในสำนวนดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 238 ประกอบมาตรา 247 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้เช่นนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า กรณีถือได้ว่า จำเลยที่ 1 ประมาทเลินเล่อหรือไม่ใยดีต่อผลแห่งความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่โจทก์ในภายหลังโดยไม่ใช้ความระมัดระวังตามสมควรทำการตรวจสอบเกี่ยวกับตัวลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 เสียใหม่ตามที่โจทก์แจ้งให้ทนายความจำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 1 ทราบแล้วว่าโจทก์มิใช่ลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 รวมทั้งจำเลยที่ 1 ยังได้ยืนยันที่จะฟ้องร้องโจทก์ต่อศาลจนเป็นเหตุให้โจทก์เกิดความกลัวและนำเรื่องไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน มิหนำซ้ำยังถูกหนังสือพิมพ์รายวันบางฉบับนำข่าวไปเผยแพร่ทั่วราชอาณาจักรอีก อันเป็นการกระทำต่อโจทก์โดยมิชอบด้วยกฎหมายทำให้โจทก์เสียหาย พฤติการณ์จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์อันจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เพื่อการนั้นแล้วครบถ้วนด้วยองค์ประกอบแห่งความรับผิดเพื่อละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 420 ทุกประการ คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน