แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ให้ อ. และ ป. ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นและเคยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 กู้ยืมเพียงครั้งเดียว มิได้ให้บุคคลอื่นกู้ยืมอีก กรณียังถือไม่ได้ว่าเป็นการประกอบกิจการเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 91/2 (5) จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
นิติกรรมยกหนี้เงินกู้ระหว่างจำเลยที่ 1 กับ อ. และ ป. เป็นนิติกรรมสองฝ่ายหาใช่นิติกรรมฝ่ายเดียว การเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวย่อมมีผลกระทบถึงสิทธิของ อ.และ ป. ซึ่งโจทก์มิได้ฟ้องเป็นจำเลยในคดีด้วยจึงไม่อาจเพิกถอนในคดีนี้ได้
อนึ่ง ที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำแก้อุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง และจำเลยที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่า หากจำเลยที่ 2 ประสงค์จะให้ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาดังกล่าว จำเลยที่ 2 ต้องกระทำโดยยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง มิใช่เพียงยื่นคำแก้อุทธรณ์เช่นนี้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้ค่าภาษีอากร เบี้ยปรับและเงินเพิ่มจำนวน 487,118.57 บาท แก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนคิดเป็นเดือนในค่าภาษีจำนวน 197,066.65 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ไม่เกินจำนวนค่าภาษี และให้เพิกถอนหนังสือยกหนี้เงินกู้ให้แก่นางสาวอมรและนางประภา คนละ 2,300,000 บาท รวมเป็นเงิน 4,600,000 บาท ให้กลับมาเป็นของจำเลยที่ 1 ดังเดิม หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินภาษี จำนวน 356,666 บาท กับให้ชำระเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีจำนวน 106,353 บาท นับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2541 และเงินภาษีจำนวน 71,980 บาท นับแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่เงินเพิ่มที่คำนวณได้ต้องไม่เกินกว่าค่าภาษีที่ค้างชำระแต่ละจำนวน กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 1,500 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 2 ถึงแก่กรรม โจทก์ยื่นคำร้องขอให้หมายเรียกนายทนงศักดิ์ทายาทของจำเลยที่ 2 เข้าเป็นคู่ความแทน ศาลฎีกามีคำสั่งตั้งนายทนงศักดิ์เป็นคู่ความแทน
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ให้เช่าทรัพย์สินที่มิใช่อสังหาริมทรัพย์และอื่นๆ ต่อมาวันที่ 18 มิถุนายน 2541 ได้จดทะเบียนเลิกบริษัท วันที่ 3 กรกฎาคม 2541 จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระบัญชี ในรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2540 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2540 และวันที่ 1 มกราคม 2541 ถึงวันที่ 18 มิถุนายน 2541 จำเลยที่ 1 ค้างชำระภาษีเงินได้นิตบุคคลแก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง เงินได้ที่เจ้าพนักงานประเมินนำมาคำนวณภาษีมาจากการที่จำเลยที่ 1 ให้นางสาวอมรกับนางประภาซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นและเคยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินคนละ 2,300,000 บาท โดยไม่คิดดอกเบี้ย เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินดอกเบี้ยตามราคาตลาดในวันที่ให้กู้ยืมตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิ (4) และถือเอาดอกเบี้ยที่คำนวณได้เป็นเงินได้
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกมีว่า จำเลยที่ 1 ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับเดือนมกราคม 2540 ถึงธันวาคม 2540 และเดือนมกราคม 2541 ถึงมิถุนายน 2541 หรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ปัญหาข้อนี้ว่า การที่จำเลยที่ 1 ให้นางสาวอมรหรือนางประภากู้ยืมเงินเป็นการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 ให้นางสาวอมรกับนางประภาซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นและเคยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 กู้ยืมเพียงครั้งเดียว มิได้ให้ผู้อื่นกู้ยืมอีก กรณียังถือ ไม่ได้ว่าเป็นการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ตามความหมายของประมวลรัษฎากร มาตรา 91/2 (5) จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อต่อไปมีว่า ศาลจะเพิกถอนนิติกรรมยกหนี้เงินกู้ระหว่างจำเลยที่ 1 กับนางสาวอมรและนางประภาได้หรือไม่ เห็นว่า นิติกรรมดังกล่าวเป็นนิติกรรมสองฝ่ายหาใช่นิติกรรมฝ่ายเดียวดังที่โจทก์อุทธรณ์ไม่ การเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวย่อมมีผลกระทบถึงสิทธิของนางสาวอมรและนางประภาซึ่งโจทก์มิได้ฟ้องเป็นจำเลยในคดีนี้ด้วย จึงไม่อาจเพิกถอนในคดีนี้ได้ อุทธรณ์ของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง จำเลยที่ 2 ยื่นคำแก้อุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง และจำเลยที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต ไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่า หากจำเลยที่ 2 ประสงค์จะให้ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาดังกล่าว จำเลยที่ 2 ต้องกระทำโดยยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง มิใช่เพียงแต่ยื่นคำแก้อุทธรณ์เช่นนี้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ