คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9436/2539

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ความผิดที่เกิดขึ้นในหลายท้องที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 19(2) พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ความผิดส่วนหนึ่งได้กระทำขึ้นในเขตอำนาจจึงมีอำนาจสอบสวนได้ และการค้นได้กระทำในเวลากลางวันต่อหน้าจำเลย โดยพันตำรวจ ส. ซึ่งเป็นนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่จึงมีอำนาจตรวจค้นได้โดยไม่ต้องมีหมายค้นของเจ้าพนักงานตำรวจเจ้าของท้องที่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2537 เวลากลางวันคืนก่อนเที่ยงถึงเวลากลางวันต่อเนื่องกัน จำเลยได้กระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน คือ จำเลยมีเฮโรอีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 305 หลอด น้ำหนัก 313.811 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์หนัก 206.08 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำเลยได้จำหน่ายเฮโรอีนดังกล่าวจำนวน 5 หลอด น้ำหนักไม่ปรากฏชัด ให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อในราคา 2,000 บาท เหตุเกิดที่แขวงคลองตัน และแขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพมหานครเกี่ยวพันกัน เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมด้วยธนบัตรฉบับละ1,000 บาท และ 500 บาท อย่างละ 1 ฉบับ ฉบับละ 100 บาท 5 ฉบับรวม 2,000 บาท ซึ่งจำเลยได้มาจากการจำหน่ายเฮโรอีนและค้นได้เฮโรอีน 300 หลอด ที่เหลือจากการจำหน่าย และได้เฮโรอีน 5 หลอดที่จำเลยได้จำหน่ายให้แก่สายลับกับยึดได้หลอดพลาสติกใสเปล่าเบอร์ 5 จำนวน 220 หลอด ที่จำเลยมีไว้เพื่อบรรจุเฮโรอีนจำหน่ายให้แก่ลูกค้าเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33, 91 ริบเฮโรอีนและหลอดพลาสติกของกลาง คืนธนบัตร2,000 บาท ที่ใช้ล่อซื้อแก่เจ้าของ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง 66 วรรคหนึ่งลงโทษจำคุก 10 ปี คำให้การในชั้นจับกุมและสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 ปี 8 เดือน เฮโรอีนและหลอดพลาสติกของกลางให้ริบ คืนธนบัตรของกลางแก่เจ้าของข้อหาอื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสอง และ66 วรรคสอง อีกกระทงหนึ่งด้วย ให้ลงโทษจำเลยทุกกรรมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 วรรคหนึ่ง ฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจำคุกตลอดชีวิต คำให้การของจำเลยในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 โดยให้เปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษจำคุกห้าสิบปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 53 โทษจำคุกหนึ่งในสามจึงมีกำหนด33 ปี 4 เดือน บวกกับโทษจำคุกฐานจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 (เฮโรอีน) 6 ปี 8 เดือนรวมเป็นลงโทษจำคุก 40 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(3) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่า อาคารเอ็ม.เอ็ม.คอร์ทที่ค้นพบเฮโรอีนของกลางจำนวน 300 หลอด อยู่ในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลคลองตัน การค้นไม่มีหมายค้นของพนักงานสอบสวนเจ้าของท้องที่ จึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า ความผิดคดีนี้เกิดขึ้นในหลายท้องที่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 19(2)ดังนั้นพนักงานสอบสวนประจำกองตำรวจน้ำ (ตำรวจท่าเรือ) ซึ่งเป็นท้องที่ที่ความผิดส่วนหนึ่งได้กระทำจึงมีอำนาจสอบสวนได้ และการค้นได้กระทำในเวลากลางวันต่อหน้าจำเลยโดยพันตำรวจโทสันติชัยซึ่งเป็นนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ จึงมีอำนาจตรวจค้นได้โดยไม่ต้องมีหมายค้นของเจ้าพนักงานตำรวจเจ้าของท้องที่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยจึงชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share