แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ป.อ.มาตรา 340 ตรี บัญญัติว่า “ผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรา 339 มาตรา 339 ทวิ มาตรา 340 หรือมาตรา 340 ทวิ โดยแต่งเครื่องแบบทหารหรือตำรวจหรือแต่งกายให้เข้าใจว่าเป็นทหารหรือตำรวจ หรือโดยมีหรือใช้อาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด หรือโดยใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำผิด หรือพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุมต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ กึ่งหนึ่ง” ซึ่งจะเห็นได้ว่า นอกจากการกระทำอันเป็นความผิดตามมาตรา 339 มาตรา 339 ทวิ มาตรา 340 หรือมาตรา 340 ทวิ แล้ว ยังจะต้องประกอบด้วยการกระทำอื่นตามที่บัญญัติในมาตรานี้ด้วย ผู้กระทำความผิดตามมาตราดังกล่าวจึงจะมีความผิดและถูกลงโทษตามมาตรานี้ได้ ดังนั้นมาตรานี้ย่อมเป็นบทบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด ซึ่งโจทก์ต้องระบุมาในฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (6) ด้วย และตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ห้ามมิให้พิพากษา หรือสั่งเกินคำขอ หรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง” อันเป็นการกำหนดกรอบอำนาจการพิพากษาคดี หรือการมีคำสั่งชี้ขาดคดีของศาลไว้ 2 ประการ คือ ห้ามมิให้ศาลพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอประการหนึ่ง กับห้ามมิให้ศาลพิพากษาหรือสั่งในข้อที่โจทก์มิได้กล่าวในฟ้องอีกประการหนึ่ง ซึ่งศาลอยู่ในบังคับที่จะพิพากษาหรือสั่งเกินประการหนึ่งประการใดมิได้ และทั้งสองประการดังกล่าวเป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องระบุในฟ้อง แม้โจทก์จะบรรยายข้อเท็จจริงครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 340 ตรี และจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ แต่เมื่อคำขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองโจทก์ไม่ระบุมาตรา 340 ตรี มาด้วย จึงต้องถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามมาตรา 340 ตรี และเป็นการเกินคำขอ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง และวรรคสี่ ศาลจึงพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอมิได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 339 วรรคสี่ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนบุหรี่มาร์ลโบโร่ จำนวน 2 ซอง หรือใช้ราคาจำนวน 130 บาท แก่ผู้เสียหายทั้งสอง
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสี่ ประกอบมาตรา 340 ตรี, 83 จำคุกคนละ 10 ปี จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คนละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 5 ปี กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนบุหรี่มาร์ลโบโร่ จำนวน 2 ซอง หรือใช้ราคาจำนวน 130 บาท แก่ผู้เสียหายทั้งสอง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสี่ ประกอบมาตรา 83 จำคุก 15 ปี ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คนละกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 7 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การที่โจทก์ไม่มีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ตรี ศาลจะลงโทษจำเลยทั้งสองตามบทบัญญัติดังกล่าวได้หรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ตรี มิใช่บทบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด กรณีจึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (6) ที่โจทก์ต้องอ้างในท้ายฟ้อง และไม่ถือว่าเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ขอให้ลงโทษนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ตรี บัญญัติว่า “ผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรา 339 มาตรา 339 ทวิ มาตรา 340 หรือมาตรา 340 ทวิ โดยแต่งเครื่องแบบทหารหรือตำรวจหรือแต่งกายให้เข้าใจว่าเป็นทหารหรือตำรวจ หรือโดยมีหรือใช้อาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด หรือโดยใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำผิด หรือพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุมต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ กึ่งหนึ่ง” ซึ่งจะเห็นได้ว่า นอกจากการกระทำอันเป็นความผิดตามมาตรา 339 มาตรา 339 ทวิ มาตรา 340 หรือ มาตรา 340 ทวิ แล้ว ยังจะต้องประกอบด้วยการกระทำอื่นตามที่บัญญัติในมาตรานี้ด้วย ผู้กระทำความผิดตามมาตราดังกล่าวจึงจะมีความผิดและถูกลงโทษตามมาตรานี้ได้ ดังนั้น มาตรานี้ย่อมเป็นบทบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด ซึ่งโจทก์ต้องระบุมาในฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (6) ด้วย และตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ห้ามมิให้พิพากษา หรือสั่ง เกินคำขอ หรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง” อันเป็นการกำหนดกรอบอำนาจการพิพากษาคดี หรือการมีคำสั่งชี้ขาดคดีของศาลไว้ 2 ประการ คือ ห้ามมิให้ศาลพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอประการหนึ่ง กับห้ามมิให้ศาลพิพากษาหรือสั่งในข้อที่โจทก์มิได้กล่าวในฟ้องอีกประการหนึ่ง ซึ่งศาลอยู่ในบังคับที่จะพิพากษาหรือสั่งเกินประการหนึ่งประการใดมิได้ และทั้งสองประการดังกล่าวเป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องระบุในฟ้อง แม้โจทก์จะบรรยายข้อเท็จจริงครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 340 ตรี และจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ แต่เมื่อคำขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองโจทก์ไม่ระบุมาตรา 340 ตรี มาด้วย จึงต้องถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามมาตรา 340 ตรี และเป็นการเกินคำขอ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง และวรรคสี่ ศาลจึงพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอมิได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน
??
??
??
??
2/2