คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5590/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (6) ที่ศาลจะพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราที่สูงขึ้นกว่าที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามกฎหมายแต่ไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี ได้จะต้องเป็นกรณีที่ศาลเห็นสมควรโดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดีด้วย การที่ผู้ตายมีส่วนประมาทในการทำละเมิด ย่อมเป็นเหตุให้ฝ่ายจำเลยต่อสู้คดีเป็นธรรมดา และฝ่ายจำเลยก็ได้ดำเนินคดีไปตามข้อต่อสู้และสิทธิของตน โดยไม่ปรากฏว่าได้ดำเนินคดีไปโดยไม่สุจริต ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ให้ฝ่ายจำเลยรับผิดชำระดอกเบี้ยของค่าเสียหายในอัตราร้อยละ 7.5 ตามที่โจทก์มีสิทธิได้รับตาม ป.พ.พ. มาตรา 7 จึงสมควรแล้ว
ตามกรมธรรม์ประกันภัย ข้อ 2.12 การยกเว้นทั่วไประบุว่าการประกันภัยตามข้อ 2.1 หรือข้อ 2.2 และข้อ 2.3 ไม่คุ้มครองความรับผิดอันเกิดจาก 2.12.6 การขับขี่โดยบุคคลที่ไม่เคยได้รับใบอนุญาตขับขี่ใดๆ ฯลฯ แต่ก็มีข้อสัญญาพิเศษในกรมธรรม์ประกันภัยข้อ 2.13 ระบุว่า “ภายใต้จำนวนเงินจำกัดความรับผิดที่ระบุไว้ในตาราง บริษัท (จำเลยร่วม) จะไม่ยกเอาความไม่สมบูรณ์แห่งกรมธรรม์ประกันภัยหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัย (จำเลยที่ 2) หรือข้อ 2.12 หรือเงื่อนไขทั่วไป เว้นแต่ข้อ 1.2 เป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกเพื่อปฏิเสธความรับผิดตามข้อ 2.1 หรือ 2.2 เมื่อบริษัทได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปแล้ว แต่บริษัทไม่ต้องรับผิดตามกฎหมายหรือตามกรมธรรม์นี้ต่อผู้เอาประกันภัย เพราะกรณีดังกล่าวข้างต้นนั้นซึ่งผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอก ผู้เอาประกันภัยต้องใช้เงินจำนวนที่บริษัทได้จ่ายไปนั้นคืนให้บริษัทภายใน 7 วัน” ซึ่งมีความหมายว่า กรณีที่ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันเกิดจากการขับขี่ของบุคคลที่ไม่เคยได้รับใบอนุญาตขับขี่ใดๆ จำเลยร่วมไม่ต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 2 แต่ต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกในจำนวนเงินที่จำกัดความรับผิดไว้ในตารางกรมธรรม์ประกันภัย แล้วไปไล่เบี้ยเอากับจำเลยที่ 2 ต่อไป ดังนั้น จำเลยร่วมจึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่เกินวงเงินประกันที่จำกัดความรับผิด
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 คู่ความที่ยื่นอุทธรณ์จะต้องวางเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แทนโจทก์พร้อมกับอุทธรณ์ด้วย เมื่อจำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมแยกยื่นอุทธรณ์คนละฉบับกัน แม้ว่าจำเลยที่ 2 จะได้ขอให้ศาลชั้นต้นเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีและทำให้จำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมมีฐานะเป็นจำเลยร่วม แต่มาตรา 59 ห้ามมิให้โจทก์ร่วมหรือจำเลยร่วมแทนซึ่งกันและกัน เว้นแต่มูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ เมื่อจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดในฐานะนายจ้างของจำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิด ส่วนจำเลยร่วมต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์คันเกิดเหตุ ความรับผิดจึงแตกต่างกัน เพราะจำเลยที่ 2 รับผิดในมูลละเมิด ส่วนจำเลยร่วมรับผิดในมูลสัญญา ซึ่งอาจจะไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 2 หรือต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ไม่เท่ากัน โดยเงื่อนไขและข้อจำกัดความรับผิดตามสัญญาประกันภัยก็ได้ มูลความแห่งคดีมิได้เป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ จำเลยที่ 2 จึงต้องนำเงินค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความเต็มจำนวนที่ตนจะต้องรับผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ด้วย
การวางเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แทนคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาหรือคำสั่งพร้อมกับอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 มิใช่เป็นการชำระหนี้ตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล โจทก์ย่อมบังคับชำระหนี้ได้เพียงจำนวนตามคำพิพากษาเท่านั้น จะบังคับชำระเอาเงินค่าธรรมเนียมทั้งหมดตามที่จำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมวางหาได้ไม่ เงินค่าธรรมเนียมส่วนที่วางเกินหรือเหลือจากการบังคับคดี จำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมย่อมขอคืนตามส่วนที่ตนวางไว้ได้ นอกจากนี้หากจำเลยที่ 2 หรือจำเลยร่วมไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ก็ย่อมขอเงินค่าธรรมเนียมที่วางไว้คืนได้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 นำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แทนโจทก์มาวางให้ครบถ้วนโดยไม่ยอมให้หักเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แทนโจทก์ที่จำเลยร่วมวางไว้แล้วนั้น จึงไม่เป็นการให้วางเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แทนโจทก์เกินกว่าที่จำเลยที่ 2 จะต้องใช้ให้แก่โจทก์หรือเป็นการวางเงินซ้ำซ้อน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายจิโอร์ ตาโน่ หรือยอร์ตาโน บรินี ผู้ตาย จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 30 – 1291 ภูเก็ต 86 ของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2539 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันดังกล่าวไปตามถนนราษฎร์อุทิศจากสี่แยกโรงเรียนใสน้ำเย็นมุ่งหน้าไปทางแยกถนนราษฎร์อุทิศตัดกับซอยบางลา ด้วยความเร็วสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 เมื่อถึงบริเวณปากซอยซันเซ็ทได้เฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ของผู้ตาย ซึ่งขับออกจากซอยซันเซ็ทเข้าสู่ถนนราษฎร์อุทิศเลี้ยวขวาไปทางสี่แยกโรงเรียนใสน้ำเย็น เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย การกระทำของจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เป็นค่าปลงศพจำนวน 55,000 บาท ค่าขาดไร้อุปการะเลี้ยงดูโจทก์และบุตรเดือนละ 20,000 บาท เป็นเวลา 10 ปี จำนวน 2,400,000 บาท ค่าเสียหายอันมิใช่ตัวเงินที่ต้องสูญเสียสามีจำนวน 2,000,000 บาท ค่าเสียหายที่ผู้ตายทำงานมีเงินได้ปีละไม่น้อยกว่า 18,892,111 ลีริ์อิตาลี เป็นเงินไทย ไม่น้อยกว่า 314,867 บาท เป็นเวลา 10 ปี คิดเป็นเงิน 3,148,670 บาท โจทก์ขอคิดค่าเสียหายทั้งหมดเพียง 2,000,000 บาท จำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างของจำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 2,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์มิใช่ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย จำเลยที่ 2 รับว่าเป็นเจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียน 30-1291 ภูเก็ต 86 และเป็นนายจ้างจำเลยที่ 1 จริง จำเลยที่ 1 นำรถยนต์คันเกิดเหตุของจำเลยที่ 2 ไปใช้ส่วนตัวในวันหยุดของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ด้วยความระมัดระวังมิได้ประมาทเลินเล่อแต่อย่างใด แต่ผู้ตายขับรถจักรยานยนต์ด้วยความประมาทอย่างร้ายแรงเนื่องจากผู้ตายขับรถจักรยานยนต์ในขณะมีอาการมึนเมา และขับด้วยความเร็วตัดหน้ารถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับในระยะกระชั้นชิด เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ขับรถชนผู้ตายจนถึงแก่ความตาย ผู้ตายและโจทก์ไม่ได้ทำงานมีรายได้ โจทก์เรียกค่าขาดไร้อุปการะเป็นเวลา 10 ปี นานเกินไป โจทก์เรียกค่าขาดไร้อุปการะได้ไม่เกิน 50,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้เรียกบริษัทประกันคุ้มภัย จำกัด (มหาชน) เข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมให้การว่า โจทก์ไม่ได้เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย จำเลยที่ 1 ไม่เคยได้รับใบอนุญาตขับรถ ผิดเงื่อนไขสัญญาประกันภัย จำเลยร่วมจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นจำนวน 10,000 บาท แก่โจทก์ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2534 แล้ว โจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องอีก จำเลยที่ 1 มิได้เป็นฝ่ายประมาทและขับรถยนต์ไปนอกทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยร่วมจึงไม่ต้องรับผิด ค่าปลงศพไม่เกิน 20,000 บาท ค่าขาดไร้อุปการะไม่เกินเดือนละ 10,000 บาท ค่าขาดรายได้ในอนาคตปีละไม่เกิน 100,000 บาท เป็นเวลา 3 ปี โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายอันมิใช่ตัวเงิน จำเลยร่วมรับผิดตามสัญญาประกันภัยไม่เกินวงเงิน 500,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 745,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยร่วมรับผิดร่วมกับจำเลยทั้งสองในต้นเงินจำนวน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี
จำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 372,500 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันที่ 31 มกราคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ยกฟ้องจำเลยร่วมให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยร่วมในศาลชั้นต้นและค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าโจทก์มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยของเงินค่าเสียหายในอัตราร้อยละ 7.5 หรืออัตราร้อยละ 12 ต่อปี แม้ว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (6) ศาลจะพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราที่สูงขึ้นกว่าที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามกฎหมายแต่ไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี ได้ก็ตาม แต่จะต้องเป็นกรณีที่ศาลเห็นสมควรโดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดีด้วย คดีนี้ผู้ตายมีส่วนประมาทในการทำละเมิด ย่อมเป็นเหตุให้ฝ่ายจำเลยต่อสู้คดีเป็นธรรมดา และฝ่ายจำเลยก็ได้ดำเนินคดีไปตามข้อต่อสู้และสิทธิของตน โดยไม่ปรากฏว่าได้ดำเนินคดีไปโดยไม่สุจริตแต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ให้ฝ่ายจำเลยรับผิดชำระดอกเบี้ยของค่าเสียหายในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีตามที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 จึงสมควรแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ต่อไปว่า จำเลยร่วมต้องรับผิดต่อโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 2 ตามสัญญาประกันภัยแม้การขับขี่โดยบุคคลที่ไม่เคยได้รับใบอนุญาตขับรถใดๆ หรือไม่ เห็นว่า ตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จล.2 ข้อ 2.1 จำเลยร่วมจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยซึ่งจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดชอบตามกฎหมายเพื่อความเสียหายต่อชีวิต ฯลฯ แม้ว่าตามกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวจะมีข้อ 2.12 การยกเว้นทั่วไประบุว่า การประกันภัยตามข้อ 2.1 หรือข้อ 2.2 และข้อ 2.3 ไม่คุ้มครองความรับผิดอันเกิดจาก 2.12.6 การขับขี่โดยบุคคลที่ไม่เคยได้รับใบอนุญาตขับขี่ใดๆ ฯลฯ แต่ก็มีข้อสัญญาพิเศษในกรมธรรม์ประกันภัยข้อ 2.13 ระบุว่า “ภายใต้จำนวนเงินจำกัดความรับผิดที่ระบุไว้ในตาราง บริษัท (จำเลยร่วม) จะไม่ยกเอาความไม่สมบูรณ์แห่งกรมธรรม์ประกันภัยหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัย (จำเลยที่ 2) หรือข้อ 2.12 หรือเงื่อนไขทั่วไป เว้นแต่ข้อ 1.2 เป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกเพื่อปฏิเสธความรับผิดตามข้อ 2.1 หรือ 2.2 เมื่อบริษัทได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปแล้ว แต่บริษัทไม่ต้องรับผิดตามกฎหมาย หรือตามกรมธรรม์นี้ต่อผู้เอาประกันภัย เพราะกรณีดังกล่าวข้างต้นนั้นซึ่งผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอก ผู้เอาประกันภัยต้องใช้เงินจำนวนที่บริษัทได้จ่ายไปนั้นคืนในบริษัทภายใน 7 วัน” ซึ่งมีความหมายว่ากรณีที่ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันเกิดจากการขับขี่ของบุคคลที่ไม่เคยได้รับใบอนุญาตขับขี่ใดๆ จำเลยร่วมไม่ต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 2 แต่ต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกในจำนวนเงินที่จำกัดความรับผิดไว้ในตารางกรมธรรม์ประกันภัย แล้วไปไล่เบี้ยเอากับจำเลยที่ 2 ต่อไป ดังนั้น จำเลยร่วมจึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกในค่าเสียหายจำนวน 372,500 บาท พร้อมดอกเบี้ย ซึ่งไม่เกินวงเงินประกันที่จำกัดความรับผิดไว้ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อสุดท้ายว่า เมื่อจำเลยร่วมยื่นอุทธรณ์โดยวางเงินค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความซึ่งจะต้องใช้แทนโจทก์แล้ว จำเลยที่ 2 ยื่นอุทธรณ์โดยจะต้องวางเงินค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความซึ่งจะต้องใช้แทนโจทก์เต็มจำนวน หรือวางบางส่วนโดยหักค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความซึ่งจะต้องใช้แทนโจทก์ที่จำเลยร่วมวางไว้แล้วได้ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 บัญญัติว่า “การอุทธรณ์นั้นให้ทำเป็นหนังสือยื่นต่อศาลชั้นต้นซึ่งมีคำพิพากษาหรือคำสั่งภายในกำหนดหนึ่งเดือน นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น และผู้อุทธรณ์ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาหรือคำสั่งมาวางศาล พร้อมกับอุทธรณ์นั้นด้วย…” ดังนั้น การวางเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แทนคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาหรือคำสั่งจึงเป็นการปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 กล่าวคือคู่ความที่ยื่นอุทธรณ์จะต้องวางเงินค่าธรรมเนียมดังกล่าวพร้อมกับอุทธรณ์ด้วย เมื่อจำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมมิได้ยื่นอุทธรณ์ฉบับเดียวกันและร่วมกันวางเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แทนโจทก์ โดยแยกยื่นอุทธรณ์คนละฉบับกันเช่นนี้ จึงต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 คือ ต้องวางเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แทนโจทก์มาพร้อมกับอุทธรณ์ด้วย แม้ว่าจำเลยที่ 2 จะได้ขอให้ศาลชั้นต้นเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีและทำให้จำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมมีฐานะเป็นจำเลยร่วมในคดีเดียวกัน แต่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 59 ห้ามมิให้โจทก์ร่วมหรือจำเลยร่วมแทนซึ่งกันและกัน เว้นแต่มูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ คดีนี้จำเลยที่ 2 ถูกโจทก์ฟ้องให้รับผิดในฐานะนายจ้างของจำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิด ส่วนจำเลยร่วมถูกจำเลยที่ 2 ขอให้ศาลชั้นต้นเรียกเข้ามาให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์คันเกิดเหตุ ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างของจำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิด และความรับผิดของจำเลยร่วมในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์คันเกิดเหตุจึงแตกต่างกัน เพราะจำเลยที่ 2 รับผิดในมูลละเมิดโดยผลของกฎหมาย ส่วนจำเลยร่วมรับผิดในมูลสัญญา ซึ่งอาจจะไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 2 หรือต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ไม่เท่ากันโดยเงื่อนไขและข้อจำกัดความรับผิดตามสัญญาประกันภัยก็ได้ มูลความแห่งคดีมิได้เป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ จำเลยที่ 2 จึงต้องนำเงินค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความเต็มจำนวนที่ตนจะต้องรับผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ด้วย ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 วางเงินค่าฤชาธรรมเนียมเท่ากับจำนวนในคำพิพากษาโดยไม่ยอมให้หักค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนที่จำเลยร่วมชำระไว้แล้วออก จึงเป็นการวางเงินค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความเกินกว่าที่จำเลยร่วมจะต้องใช้ให้แก่โจทก์ ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 มาตรา 59 และ มาตรา 162 ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 695/2500 และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1502/2520 นั้น เห็นว่า การวางเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แทนคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาหรือคำสั่งพร้อมกับอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 นั้น เป็นการวางเงินค่าฤชาธรรมเนียมในการใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์ และเพื่อเป็นประกันการชำระค่าธรรมเนียมดังกล่าวให้แก่โจทก์ มิใช่เป็นการชำระหนี้ตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล โจทก์ย่อมบังคับชำระหนี้ได้เพียงจำนวนตามคำพิพากษาเท่านั้นจะบังคับชำระเอาทั้งหมดตามที่จำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมวางหาได้ไม่ เงินค่าธรรมเนียมส่วนที่วางเกินหรือเหลือจากการบังคับคดีจำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมย่อมขอคืนตามส่วนที่ตนวางไว้ได้ นอกจากนี้หากจำเลยที่ 2 หรือจำเลยร่วมไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ก็ย่อมขอเงินค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความที่วางไว้คืนได้ ซึ่งก็ปรากฏว่าจำเลยร่วมได้ใช้สิทธิขอเงินที่วางไว้ดังกล่าวคืนไปแล้วด้วย คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยที่ 2 นำเงินค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความซึ่งจะต้องใช้แทนโจทก์มาวางให้ครบถ้วนโดยไม่ยอมให้หักเงินค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความซึ่งจะต้องใช้แทนโจทก์ที่จำเลยร่วมวางไว้แล้วนั้น จึงไม่เป็นการให้วางเงินค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความซึ่งจะต้องใช้แทนโจทก์เกินกว่าที่จำเลยที่ 2 จะต้องใช้ให้แก่โจทก์หรือเป็นการวางเงินซ้ำซ้อนและไม่ขัดกับบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่จำเลยที่ 2 อ้างมา ส่วนคำพิพากษาศาลฎีกาที่อ้างมานั้นข้อเท็จจริงไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในคดีนี้ คำสั่งศาลชั้นต้นจึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 372,500 บาท แก่โจทก์ โจทก์ฎีกาขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นจำนวน 745,000 บาท จึงมีทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาจำนวน 372,500 บาท ซึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาจำนวน 9,312.50 บาท แต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกามาจำนวน 18,625 บาท จึงให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาที่โจทก์เสียเกินมาจำนวน 9,312.50 บาท แก่โจทก์”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยร่วมรับผิดต่อโจทก์ร่วมกับจำเลยทั้งสองด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาจำนวน 9,312.50 บาท แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share