คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5220/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นตามข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยในสัญญากู้เงินฉบับพิพาท แม้ข้อตกลงดังกล่าวจะกำหนดให้โจทก์เพิ่มอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าที่กำหนดไว้ในสัญญาได้ตามที่เห็นสมควร โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งให้จำเลยทราบล่วงหน้า แต่ก็มี ข้อจำกัดไว้ว่า อัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้นดังกล่าวจะต้องไม่เกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ข้อตกลงตามสัญญากู้เงินดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนและใช้บังคับได้ การที่โจทก์ได้มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้และบอกกล่าวบังคับจำนองเป็นเพียงการทวงถามให้จำเลยชำระหนี้เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระแล้วเท่านั้นมิได้เป็นการบอกเลิกสัญญา และตามสัญญากู้เงินฉบับพิพาทโจทก์มีสิทธิเพิ่มอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าร้อยละ17.5 ต่อปี ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาได้ตามที่เห็นสมควร และได้มีประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้บริษัทเงินทุนเรียกดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมได้ไม่เกิน อัตราที่บริษัทเงินทุนประกาศกำหนด ใช้บังคับตั้งแต่ วันที่ 1 มิถุนายน 2535 เป็นต้นไป ซึ่งโจทก์ได้ประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยสำหรับเงินให้กู้ยืมสำหรับลูกค้า ทั่วไปเป็นร้อยละ 19 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2535โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยตามสัญญากู้เงินดังกล่าวได้ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยเป็นต้นไป เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระตามสัญญากู้เงิน แล้วจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ต่อไปได้เพราะถือว่าจำเลยตกลงให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวมาแต่ต้น โจทก์จึงมีเหตุที่อ้างได้โดยชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 224 วรรคแรก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2534 จำเลยทำสัญญากู้เงินไปจากโจทก์จำนวน 1,500,000 บาท ตกลงชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี และยอมให้โจทก์เพิ่มอัตราดอกเบี้ยได้กำหนดชำระต้นเงินและดอกเบี้ยให้แล้วเสร็จในวันที่22 กุมภาพันธ์ 2536 โดยจำเลยได้จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 9413เป็นประกันต่อโจทก์ ต่อมาเมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระจำเลยผิดชำระหนี้ต่อโจทก์ โจทก์ทวงถามแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 1,500,000 บาท และดอกเบี้ย จำนวน 903,739.70 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 2,403,739.70 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ของต้นเงิน 1,500,000 บาทนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์หากไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ 21 ต่อปีหรือร้อยละ 19 ต่อปีคงมีสิทธิคิดได้เพียงร้อยละ 17.5 ต่อปี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน1,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปีนับแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2534 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2535 ร้อยละ 19 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2535 จนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยร้อยละ 17.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2534 ถึงวันที่14 มิถุนายน 2535 และร้อยละ 19 ต่อปี นับแต่วันที่15 มิถุนายน 2535 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเงินเสร็จแก่โจทก์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกาโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2534 จำเลยทำสัญญากู้เงินโจทก์จำนวน 1,500,000 บาท โดยได้รับเงินไปครบถ้วนแล้วในวันทำสัญญาและตามสัญญาดังกล่าวจำเลยต้องชำระดอกเบี้ยร้อยละ 17.5 ต่อปี ทุกเดือน และต้องชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2536 ต่อมาจำเลยชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2534 เมื่อครบกำหนดชำระหนี้ตามสัญญาแล้ว จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยเพิกเฉย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่าสัญญากู้เงินกำหนดให้โจทก์คิดอัตราดอกเบี้ยได้อัตราร้อยละ 17.5ต่อปี การที่โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยฝ่ายเดียวโดยปรับให้สูงขึ้นโดยปราศจากเหตุผลขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือไม่เห็นว่า โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นตามข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยในสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 3 วรรคสองแม้ข้อตกลงดังกล่าวจะกำหนดให้โจทก์เพิ่มอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าที่กำหนดไว้ในสัญญาได้ตามที่เห็นสมควรโดยไม่จำเป็นต้องแจ้งให้จำเลยทราบล่วงหน้า แต่ก็มีข้อจำกัดไว้ว่า อัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้นดังกล่าวจะต้องไม่เกินอัตราที่กฎหมายกำหนดข้อตกลงตามสัญญากู้เงินดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนและใช้บังคับได้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อสุดท้ายว่าเมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญากับจำเลย แล้วโจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยเกินกว่าอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ได้หรือไม่ เห็นว่า การที่นายสมบัติ ทิพยาณานุกูลผู้รับมอบอำนาจโจทก์ได้มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้และบอกกล่าวบังคับจำนองนั้น เป็นเพียงการทวงถามให้จำเลยชำระหนี้เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระแล้วเท่านั้น มิได้เป็นการบอกเลิกสัญญาดังที่จำเลยอ้าง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 3 วรรคสอง โจทก์มีสิทธิเพิ่มอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าร้อยละ 17.5 ต่อปี ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาได้ตามที่เห็นสมควร และได้มีประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้บริษัทเงินทุนเรียกดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมได้ไม่เกินอัตราที่บริษัทเงินทุนประกาศกำหนด ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2535 เป็นต้นไป ซึ่งโจทก์ได้ประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยสำหรับเงินให้กู้ยืมสำหรับลูกค้าทั่วไปเป็นร้อยละ 19 ต่อปีตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2535 โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยตามสัญญากู้เงินดังกล่าวได้ในอัตราร้อยละ19 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยเป็นต้นไปเมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระตามสัญญากู้เงิน ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2536จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ต่อไปได้เพราะถือว่าจำเลยตกลงให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวมาแต่ต้น
พิพากษายืน

Share