คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3889/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยรับนาฬิกาข้อมือจำนวน 7 เรือน ของผู้เสียหายไปเพื่อให้สามีตรวจดูโดยมีเจตนาจะซื้อขายกันและมีข้อตกลงจะใช้เวลาในการตรวจดูประมาณ 14 วัน หากจำเลยไม่ตกลงซื้อจะต้องแจ้งให้ผู้เสียหายทราบว่าไม่ซื้อหรือส่งนาฬิกาคืน ถ้าครบกำหนด 14 วัน แล้วจำเลยไม่แจ้งต่อผู้เสียหายและไม่ส่งมอบนาฬิกาคืน ย่อมถือว่าจำเลยตกลงซื้อนาฬิกาทั้ง 7 เรือน อันเป็นผลให้การซื้อขายเผื่อชอบมีผลบริบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 508 จำเลยมีหน้าที่ต้องชำระราคาให้แก่ผู้เสียหาย หากไม่ชำระผู้เสียหายต้องไปว่ากล่าวแก่จำเลยในทางแพ่งตามสัญญาซื้อขายเผื่อชอบ จำเลยไม่มีความผิดฐานยักยอก
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 33 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในคดีอาญา ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด” และ ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง ก็บัญญัติว่า “เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย” ดังนั้น เมื่อมีข้อสงสัยว่าผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้ขายให้จำเลยผู้ซื้อยืมสินค้าไปตรวจดูเพื่อตัดสินใจว่าจะซื้อหรือไม่หรือไม่เป็นกรณีที่มีการตกลงซื้อขายเผื่อชอบกันแล้ว กรณีก็ต้องยกประโยชน์ให้แก่จำเลย โดยฟังว่าข้อตกลงระหว่างผู้เสียหายกับจำเลยเป็นเรื่องสัญญาซื้อขายเผื่อชอบ จะนำ ป.พ.พ. มาตรา 11 มาใช้ตีความเพื่อลงโทษจำเลยไม่ได้ จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานยักยอก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2540 เวลากลางวัน จำเลยยืมนาฬิกาข้อมือยี่ห้อโรเล็กซ์ จำนวน 5 เรือน นาฬิกาข้อมือยี่ห้อปาเต็กฟิลลิปป์ จำนวน 1 เรือน และนาฬิกาข้อมือยี่ห้อโซปาร์ดจำนวน 1 เรือน รวม 7 เรือน ราคา 1,443,500 บาท ของบริษัทเดอะ อาวร์ กลาส (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้เสียหายไว้ในความครอบครองของจำเลย โดยจำเลยอ้างว่าจะนำไปให้สามีคัดเลือกเพื่อจะซื้อ ต่อมาวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2541 เวลากลางวัน ผู้เสียหายมีหนังสือทวงถามให้จำเลยส่งมอบนาฬิกาดังกล่าวคืน ทั้งนี้เมื่อระหว่างวันที่ 30 ธันวาคม 2540 ถึงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2541 เวลากลางวัน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยครอบครองนาฬิกาจำนวนและราคาดังกล่าวของผู้เสียหายไว้แล้ว เบียดบังเอานาฬิกาดังกล่าวไปเป็นประโยชน์ส่วนตนและบุคคลที่สามโดยทุจริต ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน 1,443,500 บาท แก่ผู้เสียหาย และให้นับโทษจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ข.3015/2540 ของศาลแขวงพระนครเหนือ และคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2364/2541 ของศาลชั้นต้นด้วย
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกันกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 จำคุก 8 เดือน และให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีหมายเลขแดงที่ ข.3015/2540 ของศาลแขวงพระนครเหนือและให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 1,443,500 บาท แก่ผู้เสียหาย ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีหมายเลขดำที่ 2364/2541 ของศาลชั้นต้น คดีดังกล่าวศาลยังไม่มีคำพิพากษาจึงไม่อาจนับโทษต่อให้ได้ คำขอส่วนนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2540 เวลาประมาณ 14 นาฬิกา จำเลยรับมอบนาฬิกาข้อมือไปจากผู้เสียหาย จำนวน 7 เรือน ราคา 1,443,500 บาท ตามรายการรับมอบสินค้าพร้อมคำแปลเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 ต่อมาผู้เสียหายทวงถามให้จำเลยคืนนาฬิกาดังกล่าว แต่จำเลยเพิกเฉย ผู้เสียหายจึงร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจให้ดำเนินคดีแก่จำเลยเป็นคดีนี้ มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานยักยอกตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความตามทางนำสืบของโจทก์ว่า การค้าขายระหว่างผู้เสียหายกับจำเลยซึ่งมีการซื้อขายนาฬิกากันมาแล้วหลายครั้ง นั้นผู้เสียหายและจำเลยต่างมีเจตนามุ่งประสงค์จะซื้อขายนาฬิกากันทุกครั้ง โดยมีเงื่อนไขว่าผู้เสียหายให้จำเลยมีโอกาสตรวจดูนาฬิกาเป็นเวลาประมาณ 14 วัน ก่อนตกลงซื้อหรือนำนาฬิกามาคืนอันเป็นลักษณะการซื้อขายเผื่อชอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 505 พฤติการณ์ในกรณีนี้ก็เป็นเช่นเดียวกัน กล่าวคือจำเลยรับนาฬิกาข้อมือจำนวน 7 เรือน ของผู้เสียหายไปเพื่อให้สามีตรวจดูโดยมีเจตนาจะซื้อขายกันและมีข้อตกลงจะใช้เวลาในการตรวจดูประมาณ 14 วัน หากจำเลยไม่ตกลงซื้อก็จะต้องแจ้งให้ผู้เสียหายทราบว่าไม่ซื้อหรือส่งนาฬิกาคืน ซึ่งเมื่อครบกำหนด 14 วัน ดังกล่าวแล้วจำเลยไม่แจ้งต่อผู้เสียหายและไม่ส่งมอบนาฬิกาคืนจึงย่อมถือว่าจำเลยตกลงซื้อนาฬิกาทั้ง 7 เรือน นั้น อันเป็นผลให้การซื้อขายเผื่อชอบระหว่างผู้เสียหายกับจำเลยมีผลบริบูรณ์ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 508 จำเลยมีหน้าที่ต้องชำระราคาให้แก่ผู้เสียหาย หากจำเลยไม่ชำระผู้เสียหายย่อมต้องไปว่ากล่าวแก่จำเลยในทางแพ่งตามสัญญาซื้อขายเผื่อชอบ หาใช่เป็นเรื่องจำเลยยืมนาฬิกาดังกล่าวไปให้สามีดูเพื่อจะเลือกซื้อไม่ ข้อที่โจทก์ฎีกาว่า กรณีนี้มีข้อสงสัยว่าผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้ขายให้จำเลยซึ่งเป็นผู้ซื้อยืมสินค้าไปตรวจดูเพื่อตัดสินใจว่าจะซื้อหรือไม่ หรือเป็นกรณีที่มีการตกลงไปตรวจดูเผื่อชอบกันแล้ว จึงต้องตีความให้เป็นคุณแก่ฝ่ายผู้เสียหายที่จะต้องเป็นผู้เสียหายในมูลหนี้คือไม่ได้รับชำระราคาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 11 โดยต้องฟังว่า ผู้เสียหายให้จำเลยยืมนาฬิกาไปเพื่อตรวจดูก่อนซื้อแล้วจำเลยอุทธรณ์ทุจริตยักยอกเอาไว้เป็นประโยชน์ส่วนตัวนั้น เห็นว่า ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 33 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในคดีอาญา ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด” และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ก็บัญญัติว่า “เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย” ดังนั้น ถึงแม้จะมีข้อสงสัยตามข้อฎีกาของโจทก์ดังกล่าว กรณีก็ต้องยกประโยชน์ให้แก่จำเลย โดยฟังว่าข้อตกลงระหว่างผู้เสียหายกับจำเลยเป็นเรื่องสัญญาซื้อขายเผื่อชอบจำเลยจึงไม่ได้กระทำความผิดฐานยักยอกตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share