แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้โจทก์มิได้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัด แต่โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของ ก. ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด หากมีการกระทำไปในทางที่จะทำให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดซึ่งเป็นนิติบุคคลเสียหาย ย่อมถือว่าโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ก. ซึ่งเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าว เป็นผู้มีส่วนได้เสียและมีอำนาจฟ้องขอให้ถอดถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้ชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วนจำกัดและตั้งบุคคลอื่นเป็นผู้ชำระบัญชีแทนได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ถอนจำเลยเสียจากตำแหน่งผู้ชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วนจำกัด อุดรพาณิชยการ – ช่างกล และตั้งโจทก์เป็นผู้ชำระบัญชีแทน กับให้จำเลยส่งมอบทรัพย์สิน หลักฐานการเงิน การบัญชี การบริหารงานทั้งหมดของห้างหุ้นส่วนจำกัดแก่โจทก์ ห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับการชำระบัญชีดังกล่าวอีกต่อไป
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ถอนจำเลยเสียจากตำแหน่งผู้ชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนจำกัด อุดรพาณิชยการ – ช่างกล และตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีจังหวัดอุดรธานี ที่สมัครใจจะเป็นผู้ชำระบัญชีให้เป็นผู้ชำระบัญชีแทนที่จำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์และจำเลยเป็นบุตรร่วมบิดาเดียวกันคือนายเกรียงไกร ระหว่างนายเกรียงไกรมีชีวิตอยู่ได้ร่วมกับจำเลยจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด อุดรพาณิชยการ – ช่างกล และมีนายเกรียงไกรและจำเลยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของนิติบุคคลดังกล่าวปรากฏตามหนังสือรับรอง ต่อมาวันที่ 16 สิงหาคม 2550 นายเกรียงไกรถึงแก่ความตาย ศาลมีคำสั่งตั้งโจทก์ จำเลยและทายาทอื่นเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 321/2551 ครั้นวันที่ 13 กรกฎาคม 2555 จำเลยดำเนินการจดทะเบียนเลิกห้างหุ้นส่วนดังกล่าวโดยมีจำเลยเป็นผู้ชำระบัญชีโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยดำเนินการชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วนดังกล่าวไม่ถูกต้องเรียบร้อยตามหน้าที่ ไม่ทำรายงานยื่นต่อสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทตามกำหนดระยะเวลา ไม่เรียกประชุมใหญ่เกี่ยวกับการชำระบัญชีเพื่อรายงานต่อที่ประชุมใหญ่ว่าได้จัดการชำระบัญชีไปอย่างไร ต่อมาโจทก์ได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งและคดีอาญาเกี่ยวกับการจัดการชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนดังกล่าว และมีการทำข้อตกลงในคดีแพ่งเพื่อให้จำเลยเบิกเงินจากกองมรดกของนายเกรียงไกรเพื่อนำไปชำระหนี้แก่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เจ้าหนี้จำนองของห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าวปรากฏตามบันทึกข้อตกลง แต่จำเลยมิได้นำเงินของกองมรดกของนายเกรียงไกรไปชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าวตามข้อตกลง
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ จำเลยฎีกาว่าโจทก์มิได้เป็นหุ้นส่วนของห้างหุ้นส่วนดังกล่าว และมิได้มีหน้าที่ในการบริหารหรือจัดการห้างหุ้นส่วน คงเป็นแต่ผู้จัดการมรดกของนายเกรียงไกร ผู้ตาย ดังนั้นโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เปลี่ยนตัวผู้ชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วนจากจำเลยมาเป็นโจทก์นั้น เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ว่าโจทก์มิได้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนดังกล่าว แต่โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายเกรียงไกรซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนดังกล่าว หากมีการกระทำไปในทางที่จะทำให้ห้างหุ้นส่วนซึ่งเป็นนิติบุคคลเสียหาย ย่อมถือว่าโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายเกรียงไกรซึ่งเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนดังกล่าวเป็นผู้มีส่วนได้เสียแทนนายเกรียงไกรผู้ตาย เมื่อโจทก์พบว่าจำเลยในฐานะผู้ชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนดังกล่าวมีการดำเนินการไปในทางที่จะทำให้ประโยชน์ของห้างหุ้นส่วนเสียหาย เช่น การที่จำเลยมิได้นำเงินจากกองมรดกของนายเกรียงไกรไปชำระหนี้จำนองให้แก่เจ้าหนี้ผู้รับจำนองทรัพย์ของห้างหุ้นส่วน ย่อมทำให้ห้างหุ้นส่วนดังกล่าวซึ่งอยู่ระหว่างการชำระบัญชีเกิดความเสียหายอันเนื่องจากการเกิดดอกเบี้ยค้างชำระเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากห้างหุ้นส่วนไม่มีการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ดังกล่าว โจทก์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียและมีอำนาจฟ้องขอให้ถอดถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้ชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วนและตั้งบุคคลอื่นเป็นผู้ชำระบัญชีแทนจำเลยได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่า มีเหตุสมควรถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้ชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วนจำกัด อุดรพาณิชยการ – ช่างกล แล้วตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้ชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนจำกัด แทน ชอบแล้วหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยมิได้ดำเนินการถอนเงินจากกองมรดกของนายเกรียงไกร มาชำระหนี้จำนองของห้างหุ้นส่วนดังกล่าว เห็นได้ชัดว่าก่อให้เกิดความเสียหายแก่ห้างหุ้นส่วนและหุ้นส่วนรวมทั้งทำให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ของกองมรดกของนายเกรียงไกรอันเกิดจากห้างหุ้นส่วนดังกล่าวที่มีการเลิกและชำระบัญชีนั้น จะต้องรับผิดชำระหนี้ในดอกเบี้ยของห้างหุ้นส่วนในที่ดินจำนองที่ห้างหุ้นส่วนตกเป็นลูกหนี้ของเจ้าหนี้ดังกล่าว การที่จำเลยให้การต่อสู้ว่าโจทก์ไม่ร่วมมือในการดำเนินงานเกี่ยวกับการชำระบัญชีและการถอนเงินของกองมรดกนายเกรียงไกรเพื่อนำไปชำระหนี้แก่นิติบุคคลนั้น ก็ไม่อาจรับฟังได้อันเนื่องจากว่ามีการฟ้องคดีแพ่งและคดีอาญาระหว่างโจทก์กับจำเลยเกี่ยวกับกิจการ การเลิกห้างหุ้นส่วนดังกล่าวและมีการตกลงยอมความกันในคดีแพ่งโดยจำเลยก็ทราบดีว่าข้อตกลงดังกล่าวโจทก์และจำเลยตกลงให้จำเลยซึ่งเป็นผู้ชำระบัญชีถอนเงินของกองมรดกของนายเกรียงไกรเพื่อไปชำระหนี้จำนองของห้างหุ้นส่วนดังกล่าว แต่จำเลยก็มิได้ดำเนินการถอนเงินจากกองมรดกของนายเกรียงไกรเพื่อไปชำระหนี้จำนองของนิติบุคคลดังกล่าวนั้น ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่ห้างหุ้นส่วนและหุ้นส่วนทุกคนรวมทั้งประโยชน์ของกองมรดกของนายเกรียงไกร ดังนั้นการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ใช้ดุลพินิจถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้ชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วนจำกัด อุดรพาณิชยการ – ช่างกล จึงมีเหตุอันสมควรแล้ว ส่วนการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ใช้ดุลพินิจตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้ชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้น ก็เป็นการถูกต้องอันเนื่องจากจำเลยน่าจะเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนและเคยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าวดำเนินการชำระบัญชีไปในทางที่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดและหุ้นส่วน และโจทก์กับจำเลยก็มีเรื่องขัดแย้งเกี่ยวกับกิจการของห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าว การที่จะแต่งตั้งโจทก์เป็นผู้ชำระบัญชีหรือแต่งตั้งโจทก์และจำเลยเป็นผู้ชำระบัญชีร่วมกัน ก็ยังจะก่อให้เกิดความขัดแย้งต่อเนื่องและเป็นอุปสรรคแก่การชำระบัญชีด้วย การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ใช้ดุลพินิจตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการชำระบัญชีนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือนิติบุคคลอื่น ๆ นั้นก็เป็นการแต่งตั้งผู้ชำระบัญชีซึ่งเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติและเจ้าพนักงานบังคับคดียังเป็นบุคคลซึ่งเป็นกลางมิได้มีส่วนได้เสียกับห้างหุ้นส่วนจำกัดในคดีนี้ ย่อมมีความเหมาะสมและน่าเชื่อถือในการทำหน้าที่ชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าวมากกว่า ส่วนข้อกังวลถ้าตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้ชำระบัญชีตามฎีกาของจำเลยนั้นก็เป็นเรื่องที่จำเลยคิดไปเอง และหากจะมีปัญหาดังกล่าวขึ้นก็มิใช่ข้อขัดข้องที่ไม่อาจแก้ไขได้ ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ